วันนี้ (28 เม.ย. 57) ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา นายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า พร้อมด้วย นายทวีวุฒิ สังข์ศิริ นายอำเภอจะนะ เป็นประธานเปิดการสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 โครงการศึกษาทบทวนและสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา แห่ง 2 เพื่อให้ประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามามีส่วนร่วมการเสนอข้อคิดเห็น เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยมีประชาชนในพื้นที่ กว่า 200 คน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและคัดค้านการก่อสร้าง
นายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 1 (สิงหนคร)ได้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2531 และมีปริมาณตู้สินค้าที่ท่าเทียบเรือขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นต้องมีแผนรองรับการขยายตัวของท่าเรือน้ำลึกสงขลา และเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือน้ำลึกบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าไทยตอนล่าง ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค โดยมีแนวทางการพัฒนาท่าเรือให้ได้มาตรฐานเรือขนส่งสินค้า สามารถเข้าจอดเทียบท่าเพื่อขนส่งสินค้าได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ประหยัดเวลา และสามารถเชื่อมโยงการขนส่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย และชายฝั่งทะเลอันดามัน รวมถึงการเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ
ก่อนหน้านี้ กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างที่ปรึกษา ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อก่อสร้างท่าเรือชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง ในช่วงปี พ.ศ.2549 – 2552 และได้ข้อสรุปว่า พื้นที่บริเวณตำบลนาทับ อ.จะนะ มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นท่าเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 2 โดยที่ปรึกษาได้ดำเนินการออกแบบเบื้องต้น ท่าเทียบเรือ เขื่อนกันคลื่น ร่องน้ำทางเดินเรือ ถนนทางเข้าอาคารประกอบ และระบบสาธารณูปโภค ต่าง ๆ แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ มูลค่าการก่อสร้างรวมทั้งสิ้นประมาณ 11,000 ล้านบาท
การดำเนินการในวันนี้ เป็นขั้นตอนของการศึกษาทบทวนความเหมาะสม สำรวจ และออกแบบรายละเอียดโรงการ รวมทั้งศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ พร้อมทั้งจัดให้มีกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้พิจารณาให้ความเห็นประกอบก่อนที่จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กฎหมายกำหนด
สำหรับบรรยากาศการแสดงความคิดเห็นในวันนี้ มีกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ไม่เห็นด้วย และคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือน้ำสงขลา แห่งที่ 2 เนื่องจากในพื้นที่ อ.จะนะ ได้มีการตั้งโรงไฟฟ้าจะนะ และโรงแยกก๊าชฯ อยู่ในพื้นอยู่แล้ว ซึ่งชาวบ้านได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพทางการประมง และสวนยางพารา และนอกจากนี้ยังมีกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นและภาคีเครือข่าย ได้แจกใบปลิวเพื่อสร้างความรู้ให้แก่ชาวบ้านที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ด้วยว่า “ท่าเรือมาแล้วมันกระทบบ้านเรายังไง” ความว่า เรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่มิใช้เรือประมงแบบบ้านเรา ขนาดของเรือที่มีแรงสั่นสะเทือนทางน้ำ ไม่มีสัตว์น้ำที่ไหนอาศัยอยู่ได้ตามปกติ จะมีคราบน้ำมันและน้ำเสียที่ถ่ายลงมาจากเรือลงสู่ทะเล ชาวประมงไม่สามารถออกเรือหาปลาได้อย่างปกติ และเมื่อมีท่าเรือน้ำลึกเกิดขึ้น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ก็จะเกิดขึ้นตามมาแน่นอน เพราะ อ.จะนะมีทั้งโรงแยกก๊าชฯ และโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นวัตถุดิบ และพลังงาน พร้อมสำหรับการสร้างนิคมอุตสาหกรรม และท้ายสุด บทเรียนจากชลบุรี พบว่าหากมีการสร้างโครงการท่าเรือน้ำลึกระยะที่ 1 ได้ ระยะ 2 3 4 ก็จะตามมาเต็มพื้นที่ชายฝั่งทะเลจะนะอย่างแน่นอในอนาคตต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น