วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์มณฑป เพื่อประดิษฐานพระเถราจารย์ วัดคีรีกันทร์


พระ เจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์มณฑป เพื่อประดิษฐานพระเถราจารย์ วัดคีรีกันทร์ อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช

วันนี้ (1 ก.พ. 57) เวลา 17.19 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปยังวัดคีรีกันทร์ ตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์มณฑป เพื่อประดิษฐานพระเถราจารย์ ซึ่งคณะสงฆ์อำเภอลานสกา และวัดคีรีกันทร์ จัดสร้างขึ้น และทรงปลูกต้นสาละ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช คณะกรรมการจัดงาน หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนเฝ้ารับเสด็จ โอกาสนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กราบทูลเบิกผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินบำรุงวัดเข้ารับประทานเข็มที่ระลึก จำนวน 150 ราย จากนั้นทรงเยี่ยมราษฎรที่เฝ้ารับเสด็จ และทรงรับคนไข้ที่ครอบครัวยากจนไว้เป็นคนไข้ในพระอุปถัมภ์ เพื่อส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลที่เหมาะสม พร้อมทั้งประทานสิ่งของเครื่องใช้แก่คนชรา และผู้ด้อยโอกาสด้วย
วัดคีรีกันทร์ ตั้งอยู่ ณ ตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย จัดตั้งขึ้นเป็นวัดเมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตรงกับปี พ.ศ. 2452 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2460 มีเนื้อที่ทั้งหมด 17 ไร่ 1 งาน 47 ตารางวา ปัจจุบันมีพระครูสุธรรมคณารักษ์ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส


ส.ปชส.นศ. เมื่อ : 01 ก.พ. 2557

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์มณฑป วัดคีรีกันทร์ อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์มณฑป วัดคีรีกันทร์ อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช

วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2557) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์มณฑปวัดคีรีกันทร์ หมู่ที่ 3 ตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เสด็จถึงท่าอากาศยานจังหวัดนครศรีธรรมราช เวลา 16.00 น. โดยมีนายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช และข้าราชการ และประชาชน เข้ารับเสด็จ นางเลขา ซื่อธานุวงศ์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครศรีธรรมราช แม่บ้านผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41 แม่บ้านตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช และนางสิรินุช สวาสดิ์ธรรม รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครศรีธรรมราช ถวายพวงมาลัย จากนั้น เวลา 16.30 น. ประทับรถยนต์ที่นั่งไปยังวัดคีรีกันทร์ หมู่ที่ 3 ตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสกา ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์มณฑปวัดคีรีกันทร์ ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้ารับเสด็จ



พรรณี กลสามัญ/ ภาพ/ข่าว
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช
1 กุมภาพันธ์ 2557

จังหวัดพัทลุงร่วมกับคณะสงฆ์ จัดพิธีทำบุญถวายพระกุศลสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในโอกาสวันสิ้นพระชนม์ ๑๐๐ วัน

วันที่ ๑ ก.พ. ๕๗  นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ คณะสงฆ์ และพี่น้องพุทธศาสนิกชนชาวพัทลุง ได้ร่วมกันทำบุญถวายพระกุศล เนื่องในวันสิ้นพระชนม์ครบ ๑๐๐ วัน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่วัดภูผาภิมุข ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง โดยพระราชวิสุทธิกวี เจ้าคณะจังหวัดพัทลุง(ธ) เจ้าอาวาสวัดภูผาภิมุข เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ซึ่งพิธีที่สำคัญ ประกอบด้วยพิธีจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อมถวายสักการะพระรูปสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก การแสดงพระธรรมเทศนา การเจริญพระพุทธมนต์ สวดพระอภิธรรม และถวายภัตตาหารเพลแก่พระสงฆ์

สำหรับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก(เจริญ สุวฑฺฒโน )เกิดเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชันษามากกว่าสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ในอดีตและเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของไทยที่มีพระชันษา ๑๐๐ ปี สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๖ เนื่องจากติดเชื้อในกระแสโลหิต ซึ่งมีกำหนดครบ ๑๐๐ วันการสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๗ โดยจังหวัดพัทลุงได้เลื่อนการจัดพิธีถวายพระกุศลมาเป็นวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

กกต.ยะลา อบรมโปรแกรมรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง แก่เจ้าหน้าที่ทั้ง 8 อำภอของจังหวัดยะลา เตรียมพร้อมเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ นี้

วันที่ 31 ม.ค. 57 ที่ห้องประชุมศูนย์คอมพิวเตอร์ ชั้น 4 มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา อ.เมือง จ.ยะลา  นางสาวมารีเย๊อะ ยีปาโล๊ะ หัวหน้างานการมีส่วนร่วม สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดยะลา ได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่บันทึกผลคะแนนเลือกตั้ง สมาชิสภาผู้แทนราษฎร จำนวน39 คน ทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดยะลา เข้าร่วมอบรมการใช้โปรแกรมรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง สมาชิสภาผู้แทนราษฎร ในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ นี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง โดยมีการอธิบายและสาธิตการใช้โปรแกรมรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง สมาชิสภาผู้แทนราษฎร ผ่านเว็บไซต์ http://www.vote2557.com ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้โปรแกรมได้อย่างถูกต้องและคล่องตัว ในวันเลือกจริง วันอาทิตย์ที่ 2 ก.พ. นี้ และทำให้การสรุปผลการลงคะแนนของแต่ละหน่วยเลือกตั้งมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ขณะที่การเตรียมความพร้อมในส่วนต่างๆ ทาง กกต.ยะลาได้จัดเตรียมไว้ทุกอย่างแล้ว ทั้งเอกสาร วัสดุอุปกรณ์ในการจัดการเลือกตั้ง มีเพียงบัตรเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่ยังตกค้างอยู่ที่ไปรษณีย์ทุ่งสง ไปรษณีย์ชุมพร และไปรษณีย์หาดใหญ่ ส่วนบัตรเลือกตั้ง สส.แบบแบ่งเขตได้จัดส่งมายัง กกต.จังหวัดยะลา เรียบร้อยแล้ว คาดว่าเมื่อจัดส่งมาเรียบร้อยก็สามารถดำเนินการจัดการเลือกตั้งได้

ส่วนมาตราการการดูแลรักษาความปลอดภัย ได้มีการประสานเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ทั้ง เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ดูแลหน่วยเลือกตั้ง ดูแลเส้นทาง อย่างเข้มข้น เตรียมพร้อมจัดการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ นี้



ยุทธนา จันทร์วิมาน ส.ปชส.ยะลา

ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังสหกรณ์ เขต 3 ยะลา ร้องสื่อขอความเป็นธรรม พรรคไม่เหลียวแลไม่สนับสนุนเงินในการหาเสียง ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายกว่า 9 แสนบาท

วันนี้ 1 ก.พ. 57 เวลา 08.30 น. นายสมนึก หวันสมัน อายุ 56 ปี ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังสหกรณ์ เขตเลือกตั้งที่ 3 จ.ยะลา พร้อมทีมงาน เดินทางเข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อ ผู้สื่อข่าวในพื้นที่ ประจำจังหวัดยะลา ว่าตนเองได้รับความเดือดร้อน และ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของพรรคพลังสหกรณ์

นายสมนึก หวันสมัน ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังสหกรณ์ กล่าวว่า ตนเองอดทนอดกลั้นมานานแล้ว ในวันนี้ถึงขัดสุด จึงเดินทางมาร้องเรียนต่อสื่อมวลชนในพื้นที่เพื่อขอความเป็นธรรม โดยประการแรกเกี่ยวกับพรรคพลังสหกรณ์ ที่ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่สนใจ ไม่สนับสนุนผู้สมัคร ส.ส.ในเขต ประเด็นหลักๆอยู่ที่เรื่องของค่าใช้จ่ายในการหาเสียง ยกเว้นค่าสมัครที่ทางพรรคออกให้ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการหาเสียงในขณะนี้ ตนเองต้องหามาเองทั้งหมด โดยก่อนหน้านี้ทางพรรคบอกว่ามีกำหนดที่จ่ายเงินเพื่อใช้ขับเคลื่อนในการหาเสียงงวดแรก จำนวน 200,000 บาท ในการจัดการเรื่องของป้ายโปสเตอร์ และ ป้ายไวนิล ทางพรรคจะเป็นผู้รับผิดชอบในจุดนี้ แต่จนถึงทุกวันนี้ตนเองยังไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากพรรคเลย ซึ่งตนเองก็เชื่อว่า น่าจะไม่ใช่พรรคของตนเพียงพรรคเดียวที่ยังไม่มีป้ายโปสเตอร์ และ ป้ายไวนิล ประชาสัมพันธ์ในเขตพื้นที่ของผู้สมัครนั้นๆ

นายสมนึก ยังกล่าวอีกว่า ในขณะนี้ตนเองต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในการจัดทำป้ายโปสเตอร์ และ ป้ายไวนิล ไปแล้วกว่า 900,000 บาท ซึ่งในขณะนี้ยังมีป้ายไวนิลอีกกว่า 100 ป้าย ที่เตรียมจะนำไปติดตามถนนหนทาง และ ตามจุดต่างๆ ที่ กกต.ได้กำหนด ยังอยู่ที่ร้านทำป้ายไว้นิล ที่ อ.หาดใหญ่ เพราะยังไม่สามารถไปเอาได้ เพราะยังไม่มีงบ สำหรับการสมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งในครั้งนี้ ตนเองอยากจะถามสังคมว่า มันมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ มันมีความเที่ยงตรงหรือไม่ ตนเองมองว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ พรรคเลือกตั้งเล็กๆ เป็นเพียงแค่ไม้ประดับเพื่อให้พรรคหนึ่งพรรคใดขึ้นมาครอบครองยึดอำนาจ ในจุดนี้แหละที่เป็นความไม่ชอบธรรม และเป็นความเหลียมล้ำในสังคม



นายนิแอ  สามะอาลี / ข่าว

เจ้าหน้าที่คุมเข้มรับหีบบัตรเลือกตั้งที่ จ.ยะลา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไร้กลุ่ม กปปส.

วันที่ 1 ก.พ. 57 เมื่อเวลา 08.00 น. ที่บริเวณที่ว่าการอำเภอเมืองยะลา จ.ยะลา เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง ทยอยมารับหีบบัตรเลือกตั้ง และอุปกรณ์การเลือกตั้ง โดยเจ้าหน้าที่ได้เปิดให้ลงทะเบียนรับหีบบัตร ซึ่งการรับหีบบัตรทำตามขั้นตอน สำหรับการรับหีบบัตร เป็นไปด้วยความเรียบร้อยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองยะลา และฝ่ายปกครอง คอยอำนวยความสะดวกและรักษาความสงบเรียบร้อย เช่นเดียวกับอีก 7 อำเภอ บรรยากาศการรับหีบบัตรเลือกตั้ง และอุปกรณ์การเลือกตั้ง เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีกลุ่ม กปปส.มาคัดค้าน หรือ มาปิดกั้นสถานที่แต่อย่างใด

ทั้งนี้พื้นที่ จ.ยะลา มีแบ่งเขตการเลือกออกเป็น 3 เขตเลือกตั้ง มีพรรคการเมือง 8 พรรคการเมือง ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งลงสมัคร จำนวน 12 คน ประกอบด้วย เขตเลือกตั้งที่ 1.นางกูไซหม๊ะวันซาฟีหน๊ะ มนูญทวี พรรคชาติพัฒนา (หมายเลข 1) , นายนิรันดร์ วายา พรรคภูมิใจไทย (หมายเลข 6) , นายธีรวัธน์ วุนาพันธ์ พรรคเพื่อไทย (หมายเลข 15) , นายมะสือดี สะแลแม พรรคประชาธิปไตยใหม่ (หมายเลข 24) เขตเลือกตั้งที่ 2. ประกอบด้วย นายซูการ์โน มะทา พรรคเพื่อไทย (หมายเลข 15) , วราภาณ์ ภู่เกลี๊ยะ พรรคดำรงไทย (หมายเลข 22 ) , นายอดิศร อาลีลาเต๊ะ พรรคเสียงประชาชน (หมายเลข 31 ) , นายยัฟรีย์ สือลามะ พรรคเงินเดือนประชาชน (หมายเลข 50) เขตเลือกตั้งที่ 3. นายสมนึก หวันสมัน พรรคพลังสหกรณ์ (หมายเลข 5) , นายหะยีอับดุลเราะห์มาน ติงอุเซ็ง พรรคเพื่อไทย (หมายเลข 15) , นายมะหาเล็ง ยูเปาะนา พรรคประชาธิปไตยใหม่ (หมายเลข 24) , นายดือราเซะ ดือราเซะ พรรคเงินเดือนประชาชน (หมายเลข 50)

โดยเขตเลือกตั้งที่ 1 มีจำนวนประชากร จำนวน 139,630 คน มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 97,172 คน 155 หน่วยเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 มีจำนวนประชากร จำนวน 180,264 คน มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 116,055 คน 201 หน่วยเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 3 มีจำนวนประชากร จำนวน 180,346 คน มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 117,127 คน 221 หน่วยเลือกตั้ง

สำหรับมาตรการในการดูแลรักษาความปลอดภัยในการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นี้ พล.ต.ต.ทรงเกียรติ วาทะกุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ได้สั่งการให้หัวหน้าสถานีตำรวจภูธรในสังกัด ภูธรจังหวัดยะลา ทั้ง 17 สภ.ให้มีการเตรียมความพร้อมกำลังในการดูแลรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยให้ทุกหน่วยเตรียมความพร้อม จัดกำลังชุดเคลื่อนที่เร็ว วางกำลังตามเส้นทาง หน่วยเลือกตั้งต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังป้องกันการก่อเหตุ รวมทั้ง เฝ้าระวังดูแลสถานการณ์การชุมนุม เพื่อให้การไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งของประชาชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย



ยุทธนา จันทร์วิมาน ส.ปชส.ยะลา

การเลือกตั้ง ส.ส. วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีพบปัญหาหลายด้าน

การเลือกตั้ง ส.ส.วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีพบปัญหาหลายด้าน ทั้งบัตรเลือกถูกปิดล้อมที่ไบรษณีย์ชุมพร แถมขาดกรรมการประจำหน่วยจำนวนมาก

ที่ จ.สุราษฎร์ธานี บรรยากาศการชุมนุมของเวที กปปส. ที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงเช้าของทุกวันจะมีการเปิดรับสัญญาณการถ่ายทอดจากสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมบูลสบาย สลับกับ โฆษกของ กปปส.ในพื้นที่ขึ้นมาทักทายมวลชน พร้อมขอความร่วมมือให้ส่วนหน่วยงานราชการต่างๆ ในศูนย์ราชการจังหวัด ได้ปิดทำการทั้งหมด โดยให้มีเพียงเจ้าหน้าที่ อ.ส. เฝ้าดูแลความปลอดภัยบริเวณตัวอาคาร ยกเว้นที่ทำการศาลจังหวัด ที่ยังเปิดให้บริการตามปกติ

ส่วนที่ทำการ สำนักงาน กกต.สุราษฎร์ธานี บริเวณชั้น 1 อาคารศาลากลางจังหวัดหลังเก่า ก็ถูกปิดสำนักงานเช่นกัน ส่งผลให้การประสานงานเตรียมจัดเลือกตั้งเกิดความวุ่นวายและสับสนกับผู้ที่เดินทางมาติดต่อเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังพบว่าสรรหาคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งก็ยังหาได้ไม่ครบจำนวน และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะบัตรเลือกตั้งยังส่งมาไม่ถึง เนื่องจากถูกล็อคไว้ที่ จ.ชุมพร ซึ่งถึงขณะนี้ก็ยังคงมีการเฝ้าปิดล้อมศูนย์ไปรษณีย์ จ.ชุมพร อย่างต่อเนื่อง ทำให้ยังไม่สามารถนำบัตรเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นเพียงบัตรเลือกตั้งประเภทเดียวที่จะใช้ในการดำเนินการเลือกตั้งครั้งนี้ จัดส่งให้หน่วยเลือกตั้งต่างๆในพื้นที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขณะที่ บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต จะไม่มีการนำมาใช้ เนื่องจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่มีผู้สมัครพรรคการเมืองใดสมัครได้เลย

อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเลือกตั้ง ก็จำเป็นต้องเดินหน้าดำเนินการ โดยทางคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ทำหนังสือร้องขอเจ้าหน้าที่รักษาความสงบไปยังตำรวจภูธรจังหวัด

โดย พล.ต.ต.เกียรติพงศ์ ขาวสำอางค์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ได้จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ไว้ตามแผนแล้ว โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกฝ่าย และพร้อมทุกเมื่อในการรักษาความปลอดภัย ซึ่งในส่วนของตำรวจไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

บรรยากาศ 1 วันก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเงียบเหงา

บรรยากาศ 1 วันก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเงียบเหงาปราศจากป้ายโฆษณาหาเสียงของพรรคการเมือง

ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2557 กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นั้น เนื่องจากสถาการณ์ทางการเมืองไม่ปกติ มีการชุมนุมของมวลชนในนามกลุ่ม กปปส. เรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง โดยในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีประชาชนส่วนใหญ่มีความคิดเห็นทางการเมืองเป็นไปในทิศทางเดียวกับกลุ่ม กปปส. ทำให้ศูนย์ราชการถูกปิดทำการ รวมทั้งสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานีก็ถูกปิดทำการด้วย แต่ในการเตีรยมการเลือกตั้งยังคงดำเนินต่อไป ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2554 ซึ่งจากข้อมูลการเตรียมการเลือกตั้ง ทราบว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วย 19 อำเภอ มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 710,569 คน จำนวนหน่วยเลือกตั้ง 1,396 หน่วย

ในขณะที่บรรยากาศ 1 วัน ก่อนการเลือกตั้ง พบว่า ภายในตัวเมืองสุราษฎร์ธานีเป็นไปอย่างเงียบเหงา ไม่มีแม้กระทั้งป้ายโฆษณาหาเสียงของพรรคการเมือง ไม่ว่าจะตามเสาไฟฟ้า ริมทางเท้า หรือแยกต่างๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ อย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ยังพบว่าสรรหาคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งก็ยังหาได้ไม่ครบตามจำนวน และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ก็ยังตกค้างอยู่ที่ไปษณีย์จังหวัดชุมพร ขณะที่ บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต จะไม่มีการนำมาใช้ เนื่องจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่มีผู้สมัครจากพรรคการเมืองใด ทำการสมัครได้แม้แต่รายเดียว

ในขณะที่การรักษาความสงบเรียบร้อย ได้รับการยืนยันจาก พล.ต.ต.เกียรติพงศ์ ขาวสำอางค์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่า ได้จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ไว้ตามแผนแล้ว โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกฝ่าย และพร้อมทุกเมื่อในการรักษาความปลอดภัย ซึ่งในส่วนของตำรวจไม่มีปัญหาแต่อย่างใด