วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ที่นครศรีธรรมราช เปิดหีบได้ ๘๗ หน่วยช่วงบ่ายนี้ได้เพียง ๒๗ หน่วย


นครศรีธรรมราช ๒๐๑๐ หน่วยเลือกตั้ง เปิดหีบได้ ๘๗ หน่วย และสามารถดำเนินการถึงช่วงบ่ายนี้ได้เพียง ๒๗ หน่วย คาดว่าจะปิดหีบและนับคะแนนได้ไม่น้อยกว่า ๑๐ หน่วยเลือกตั้ง

เหลือเวลาเพียงไม่มากนักจะหมดเวลาใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งท่ามกลางปัญหารุมล้อมทุกด้านไม่แตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ โดยหน่วยเลือกตั้ง ๒๐๑๐ หน่วยใน ๙ เขตเลือกตั้ง เปิดให้ประชาชนได้มาใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ๔ เขตเลือกตั้งในช่วงเช้ารวม ๘๗ หน่วยเลือกตั้ง แต่เมื่อมีการเปิดหน่วยเลือกตั้งกลุ่ม กปปส.ได้มีการเคลื่อนกำลังปิดล้อม กดดันการเลือกตั้ง ทำให้แต่ละหน่วยมีผู้มาใช้สิทธิเพียงไม่กี่ราย และหลายหน่วยต้องประกาศยุติการเลือกตั้ง

นายสมบัติ จันทรา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวในช่วงบ่ายของวันนี้ยังคงมีหน่วยเลือกตั้งที่ดำเนินการอยู่ประกอบด้วย เขต ๑ จำนวน ๔ หน่วย ซึ่งจัดการเลือกตั้งท่ามกลางวงล้อมของ มวลชน กปปส. เขต ๕ -๑หน่วย เขต ๖ – ๖ หน่วย และ เขต ๙ เหลือเพียง ๙ หน่วย รวม ๒๗ หน่วย และมั่นใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ คาดว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้เสร็จสิ้นจนกระทั่งปิดหีบเลือกตั้งและนับคะแนนเรียบร้อยได้ไม่น้อยกว่า ๑๐ หน่วยเลือกตั้ง

เขตเลือกตั้งที่ไม่สามารถเลือกตั้งได้ที่นครศรีฯ ได้แก่เขต ๒,๓,๘,๔และ๗

มีการชุมนุมของ กปปส. ณ สถานที่เก็บอุปกรณ์จัดการเลือกตั้งต่อเนื่อง จนกระทั่งหลังเวลา ๐๘๐๐ น. เล็กน้อย มวลชนได้สลายเคลื่อนย้ายไปกดดันหน่วยเลือกตั้งที่เปิดหน่วยในวันนี้

นครศรีธรรมราช มี ๙ เขตเลือกตั้ง รวม ๒๐๑๐ หน่วย สามารถจัดการเลือกตั้งได้เฉพาะเขตเลือกตั้งที่ ๑-๗ หน่วย เขต ๕ – ๕ หน่วย เขต ๖ -๖ หน่วย เขต ๙ ๖๙ หน่วย รวม ๘๗ หน่วย และระหว่างการดำเนินการได้มีมวลชนมาปิดล้อมทำให้ต้องทะยอยปิด จนกระทั่งบ่ายวันนี้ มีหน่วยเลือกตั้งที่ยังที่ยังเปิดลงคะแนนจำนวน ๒๗ หน่วย และคาดว่าจะดำเนินการจนกระทั่งปิดหีบนับคะแนนได้ไม่น้อยกว่า ๑๐ หน่วย

เขตเลือกตั้งที่ไม่สามารถเลือกตั้งได้ ได้แก่ เขต ๒ กกต.เขต ลาออกเหลือ ๒ คน จัดการเลือกตั้งไม่ได้ เขต ๓,๘ ไม่มีผู้สมัคร สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (บัตรบัญชีรายชื่อติดค้างอยู่ที่ไปรษณีย์) เขต ๔ ,๗ มวลชนปิดล้อมไม่สามารถนำอุปกรณ์ไปยังหน่วยเลิอกตั้งได้ กกต.นครศรีธรรมราช คาดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิไม่เกินร้อยละ ๒๐

กกต.ระนองประกาศงดเลือกตั้ง เหตุขาด กปน. และบัตรส่งไม่ถึงหน่วย

 กกต.ระนองประกาศงดการเลือกตั้งทั้งจังหวัด 213 หน่วย ในพื้นที่ 5 อำเภอ เหตุขาดคณะกรรมการประจำหน่วย และบัตรเลือกตั้งพร้อมอุปกรณ์จัดการเลือกตั้งไม่สามารถแจกจ่ายตามหน่วยเลือกตั้งได้

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไป คณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดระนอง ได้รับรายงานจากคณะอนุกรรมการประจำเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดระนอง ทั้ง 5 อำเภอด้วย ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ถึง 08.00 น. นั้นขาดกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง และไม่สามารถนำหีบบัตรเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ แบบพิมพ์ พร้อมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการเลือกตั้ง ถูกผู้ชุมนุมปิดล้อม ไม่สามารถนำออกจากที่เก็บรักษาไปยังหน่วยเลือกตั้งได้ อันเป็นเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2554แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2556 ข้อ 204 ทำให้การลงคะแนน ณ หน่วยเลือกตั้งไม่สามารถกระทำได้ ดังนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดระนอง จึงประกาศให้งดการลงคะแนนเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อทั้งเขตเลือกตั้ง จำนวน 213 หน่วย โดยหลังจากได้แจ้งให้ทาง กกต.ส่วนกลางทราบ ก็ได้ดำเนินการนำไปติดประกาศ ที่หน้าหน่วยเลือกตั้งทั้ง 213 หน่วย ขณะที่กลุ่มมวลชนแนวร่วม กปปส. ยังคงปักหลักอยู่ ณ สถานที่เก็บบัตรและอุปกรณ์การเลือกตั้ง ในแต่ละพื้นที่ของทุกอำเภออย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการขนย้ายบัตรและอุปกรณ์การเลือกตั้ง

สำหรับจังหวัดระนองมี 1 เขตเลือกตั้ง มีหน่วยเลือกตั้ง 213 หน่วย ในพื้นที่ 5 อำเภอ และมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 125,407คน ขณะที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตจำนวน 4 คน นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า มีประชาชนที่ประสงค์จะเลือกตั้งเดินทางมายังหน่วยเลือกตั้งบริเวณเขานิเวศน์ ในเขตอำเภอเมืองระนอง ตั้งแต่ในช่วงเช้าจำนวน 3 ราย แต่ต้องผิดหวังและเดินทางกลับทันที เมื่อพบว่าไม่มีการเปิดให้ลงคะแนนเลือกตั้งได้

นอกจากนี้ยังมีประชาชนบางส่วน เดินทางมาแจ้งความกับทาง สถานีตำรวจภูธรเมืองระนอง กรณีไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ทางการเมือง ขณะที่เวลา 14.oo น. นายกิตติศักดิ์ กล่อมเกล้า พร้อมพวกจำนวนหนึ่ง ได้ใช้รถกระบะติดเครื่องขยายเสียง ปราศรัยโจมตี
 กกต. ที่หน้าสำนักงาน กกต.จังหวัดระนอง กรณีไม่จัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งต่อมา พล.ต.ต.ปริญญา ขวัญยืน ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดระนอง ได้ออกมาชี้แจงถึงเหตุผลที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ พร้อมทั้งได้กล่าวว่าจะมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปและจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง ทางกลุ่มของนายกิตติศักดิ์จึงได้เดินทางกลับไป

นครศรีธรรมราช สามารถจัดการเลือกตั้งและนับคะแนนได้ไม่ถึง ๒%ของหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด

 นครศรีธรรมราช สามารถจัดการเลือกตั้งและนับคะแนนได้ไม่ถึง ๒%ของหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งแต่ละหน่วยได้นับคะแนนและรายงานไปยังเขตเลือกตั้งเพื่อเก็บรวบรวมคะแนนโดยไม่ประกาศภาพรวมของแต่ละเขตให้ประชาชนได้รับทราบ

การใช้สิทธิเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดนครศรีธรรมราช เสร็จสิ้นลงแล้วเมื่อเวลา ๑๕.๐๐ น ที่ผ่านมา โดยเป็นการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่านั้น เนื่องจากบัตรแบบบัญชีรายชื่อติดค้างอยู่ที่ ปณ.ไม่สามารถนำออกมาได้ ซึ่งเขตที่สามารถเปิดหีบเลือกตั้งได้ ประกอบด้วยเขตเลือกตั้งที่ ๑ ,๕,๖,๙ รวม ๘๗ หน่วย จาก ๙ เขตเลือกตั้ง ๒๐๑๐ หน่วย ส่วนเขต ๓,๘ ไม่มี สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขต ๒ ไม่มี คกก.เขตพอจัดเลือกตั้งได้ เขต ๔,๗ ไม่สามารถนำอุปกรณ์การเลือกตั้งออกมายังหน่วยเลือกตั้ง

นายสมบัติ จันทรา ผอ.กกต.นครศรีธรรมราช กล่าวจากการเลือกตั้งครั้งนี้มีหน่วยเลือกตั้งที่สามารถเปิดหีบเลือกตั้งได้ ๘๗ หน่วย คิดเป็นร้อยละ ๔.๓๕ ของหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด และในระหว่างการเลือกตั้งได้มีมวลชนทะยอยเดินทางมากดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทำให้ต้องปิดหนวยเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหน่วยเลือกตั้งที่สามารถดำเนินการจนกระทั่งปิดหีบเลือกตั้งและรวมคะแนนได้มีเพียง ๓ เขตเลือกตั้งประกอบด้วย เขตเลือกตั้งที่ ๑ จำนวน ๓ หน่วยเลือกตั้ง เขต ๖ ๑ หน่วย เขต ๙ ๑๙ หน่วย รวม ๒๓ หน่วย คิดเป็นร้อยละ ๑.๑๔ ของหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งทุกหน่วยเลือกตั้งได้มีการนับคะแนนเพื่อส่งไปยังเขตเลือกตั้งเพื่อรวมคะแนน โดยแต่ละเขตเลือกตั้งจะไม่ประกาศคะแนนรวมในการเลือกตั้งให้ประชาชนทราบ

ดังนั้นประชาชนที่สนใจจึงได้เดินทางไปดูคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งแต่ละหน่วยเท่านั้น พร้อมกล่าวจากจำนวนหน่วยเลือกตั้งที่มีน้อยทำให้มวลชนกลุ่ม กปปส.สามารถกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยได้ง่ายกว่าการมีหน่วยเลือกตั้งจำนวนมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยได้ใช้ความอดทนและพยายามดำเนินการเลือกตั้งจนเสร็จเรียบร้อย

กกต.จังหวัดพังงางดลงคะแนนเลือกตั้งของทุกหน่วยเลือกตั้ง ๓๖๙ หน่วย

 เวลา ๐๙.๓๐ น.วันนี้ ( ๒ ก.พ. ๕๗) นายพีระ เพชรพาณิชย์ ประธานกกต.จังหวัดพังงา แถลงข่าว ประกาศงดลงคะแนนเลือกตั้งของทุกหน่วยเลือกตั้ง ๓๖๙ หน่วย เนื่องจากบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อไม่สามารถจัดส่งมายังจังหวัดได้ และคณะอนุกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งระดับอำเภอได้รับบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและวัสดุอุปกรณ์ จากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ ๑ จังหวัดพังงาเพียงบางส่วน

ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตที่ ๑ จังหวัดพังงา ไม่สามารถดำเนินการจัดการเลือกตั้งได้

เปิดหน่วยเลือกตั้งได้เพียง 60 หน่วยที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

 บรรยากาศก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ในวันนี้(2กพ.57)หน่วยเลือกตั้งใน 9 เขตเลือกตั้งของ จ.นครศรีธรรมราช มีทั้งหมด 2,010 หน่วย ส่วนใหญ่หน่วยเลือกตั้งว่างเปล่า ไม่มีเจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้ง เปิดหน่วยเลือกตั้งได้เพียง 60 หน่วย เนื่องจาก กปน.ลาออก และ มี กปปส.มากดดัน จนท. ทำให้ต้องปิดหน่วยเลือกตั้ง มีบางหน่วยเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เดินทางมาใช้สิทธิ์ แต่หน่วยเลือกตั้งปิด ผิดหวังต้องเดินทางกลับ ขณะที่ กลุ่ม กปปส. ที่เฝ่าศูนย์ไปรษณีย์ทุ่งสง ที่ ต.นาโพธิ์ อ.ทุ่งสง จ.นศ. ในช่วงสายมีประมาณ 300-400 คน ส่วนหนึ่งกระจายตระเวนไปเคลื่อนไหว ตรวจสอบตามหน่วยเลือกตั้งต่าง ๆ หากเปิดหน่วยเลือกตั้ง จะไปกดดัน จนท.ประจำหน่วยเลือกตั้ง และกดดันผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

ในเขตเลือกตั้งที่ 5 อ.ทุ่งสง ที่ สวท.ทุ่งสง ตั้งอยู่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรง หน่วยเลือกตั้งปิดเกือบหมด เปิดหน่วยได้ไม่เกิน 10 หน่วย แต่ต้องรีบปิด เพราะถูก กปปส.กดดัน และเมื่อคืนที่ผ่านมา กปปส.ที่เฝ่าศูนย์ไปรษณีย์ทุ่งสง ได้ข่าวว่ามีรถไปรษณีย์ไทยขนย้ายบัตรเลือกตั้งมาส่ง เดินทางมาที่ สภ.ทุ่งสง ที่รถไปรษณีย์มาจอด นอภ.ทุ่งสง และ ผกก.สภ.ทุ่งสง ชี้แจงว่าไม่มี แต่ผู้ชุมนุมไม่เชื่อ นอนเฝ้า สภ.ทุ่งสง และ ที่บ้านพัก นอภ.ทุ่งสง

มีหน่วยเลือกตั้งที่นับคะแนนได้ 24 หน่วย ใน 3 เขตเลือกตั้ง จากทั้งหมด 9 เขตเลือกตั้งนครศรีธรรมราช

กกต.นครศรีธรรมราช สรุปมีหน่วยเลือกตั้งที่นับคะแนนได้ 24 หน่วย ใน 3 เขตเลือกตั้ง จากทั้งหมด 9 เขตเลือกตั้ง

เมื่อเวลา 16.30 น.(วันนี้ 2 ก.พ.57) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้สรุปผลการเลือกตั้งหลังสิ้นสุดเวลาปิดหีบเลือกตั้งในเวลา 15.00 น. ปรากฏว่า มีหน่วยเลือกตั้งที่สามารถนับคะแนนได้ จำนวน 24 หน่วยเลือกตั้งใน 3 เขตเลือกตั้ง คือ เขตเลือกตั้งที่ 1 จำนวน 4 หน่วย เขตเลือกตั้งที่ 6 จำนวน 1 หน่วย และเขตเลือกตั้งที่ 9 จำนวน 19 หน่วย โดยมีเขตเลือกตั้งที่ไม่สามารถเปิดหีบบัตรให้ลงคะแนน หรือ เปิดแล้วแต่ถูกกลุ่มมวลชน กปปส.กดดันจนต้องยุติการเลือกตั้ง จำนวน 6 เขต

สำหรับหน่วยเลือกตั้งจำนวน 1 หน่วยของเขตเลือกตั้งที่ 6 จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่สามารถนับคะแนนได้นั้น มีผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวน 40 คน จากผู้มีสิทธิ จำนวน 909 คน บัตรดี 18 บัตร บัตรเสีย 8 บัตร และไม่ประสงค์ลงคะแนน 14 บัตร โดยผู้สมัครหมายเลข 15 พรรคเพื่อไทยได้ 18 คะแนน และ ผู้สมัครหมายเลข 14 พรรคชาติไทยพัฒนาได้ ศูนย์(0) คะแนน

ส่วนหน่วยเลือกตั้งของเขตเลือกตั้งที่ 9 ซึ่งสามารถนับคะแนนได้ 19 หน่วย นั้น กำลังมีการรวบรวมคะแนน

ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้งได้ 11 คะแนน ของหน่วยเลือกตั้งที่ 40 เขตเลือกตั้งที่ 1 จ.นครศรีธรรมราช

เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ (2 ก.พ.57) โรงเรียนเทศบาลวัดเสมาเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นสถานที่เลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งที่ 39 และ 40 เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายหลังปิดหีบบัตร หน่วยเลือกตั้งที่ 40 ได้มีการนับคะแนนเลือกตั้ง ปรากฏว่า มีผู้ออกไปใช้สิทธิลงคะแนนจำนวน 25 คน จากผู้มีสิทธิ 327 คน โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด คือผู้สมัครหมายเลข 15 พรรคเพื่อไทย ได้ 11 คะแนน รองลงมาผู้สมัครหมายเลข 1 พรรคชาติพัฒนา ได้ 5 คะแนน ส่วนผู้สมัครหมายเลข 6 พรรคภูมิใจไทย และหมายเลข 53 พรรคเพื่อแผ่นดิน ได้คนละ 1 คะแนน มีบัตรเสีย 1 คะแนน และงดออกเสียง 6 คะแนน ใช้เวลานับคะแนนไม่ถึง 10 นาที

ส่วนหน่วยเลือกตั้งที่ 39 คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ได้ยุติการลงคะแนนก่อนถึงเวลา 15.00 น. ประมาณ 20 นาที ซึ่งหน่วยนี้มีผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จำนวน 35 คน จากผู้มีสิทธิ 625 คน ส่วนเหตุผลที่ต้องยุติก่อนเนื่องจากถูกกดดันอย่างหนักจากกลุ่มมวลชน กปปส.จังหวัดนครศรีธรรมราช หากปล่อยให้เวลาสิ้นสุดการเลือกตั้งจนถึงเวลา 15.00 น. แล้วมีการนับคะแนน อาจจะมีการถูกขัดขวางได้เนื่องจากหน่วยเลือกตั้ง ตั้งอยู่ในศาลาที่เปิดโล่งและอยู่ติดกับถนนราชดำเนินที่กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านการเลือกตั้งกดดันอยู่จำนวนมาก มีเพียงรั้วเหล็กดัดของโรงเรียนกั้นกลางเท่านั้น ซึ่งหลังจากเวลา 15.00 น.แล้ว กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งได้นำหีบบัตรและอุปกรณ์ทั้งหมดไปส่งที่สำนักงาน
 กกต.ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเก็บรักษาต่อไป ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของผู้ชุมนุม แต่สถานการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีเหตุกระทบกระทั่งใด ๆ กับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งหลังมีการเคลื่อนย้ายหีบบัตรแล้วกลุ่มผู้ชุมนุมก็แยกย้ายกันกลับ

สำหรับเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดนครศรีธรรมราช มีหน่วยเลือกตั้งที่สามารถเปิดเลือกตั้งจนสิ้นสุดเวลา 15.00 น.และสามารถนับคะแนนได้มีประมาณ 4 หน่วย จาก 171 หน่วยเลือกตั้ง

23 หน่วยเลือกตั้งที่ชาวนครศรีฯ สามารถเลือกตั้งได้ที่ เขต 1 - 3 หน่วย เขต 6 - 1 หน่วย และเขต 9 - 19 หน่วย

 การเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีทั้งหมด 2,010 หน่วย จาก 9 เขตเลือกตั้ง สามารถเปิดดำเนินการให้ประชาชนผู้มีสิทธิใช้สิทธิเลือกตั้งได้ 4 เขต รวม 87 หน่วย แต่เมื่อเปิดใช้สิทธิได้ไม่นานกลุ่ม กปปส. ก็ได้เข้าขัดขวางการเลือกตั้ง จนบางหน่วยต้องยุติการเลือกตั้ง และเมื่อถึงเวลาปิดหีบเลือกตั้งพบว่ามีหน่วยเลือกตั้งที่สามารถทำการเลือกตั้งอย่างเรียบร้อย จำนวน 23 หน่วย ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ 1 จำนวน 3 เขต 6 จำนวน 1 หน่วย และเขต 9 จำนวน 19 หน่วย

กกต.ภูเก็ต ประกาศยุติการเลือกตั้งแล้วหลัง กปปส.ล้อม สภ.ถลาง สถานที่เก็บบัตรเลือกตั้ง

กกต.ภูเก็ตประกาศยุติการเลือกตั้งแล้วหลัง กปปส.ล้อม สภ.ถลางสถานที่เก็บบัตรเลือกตั้งไม่สามารถนำออกมา

วันที่  2 ก.พ.57  ที่หน้าสถานีตำรวจภูธรถลาง อ.ถลาง จ.ภูเก็ตซึ่งเป็นสถานที่เก็บบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตพื้นที่เขต 2 จังหวัดภูเก็ต มีมวลชน กปปส.ภูเก็ต นำโดย นาย สุรทิน เลี่ยนอุดม และมวลชนอีกกว่า 300 คนยังคงรวมตัวกันเพื่อปิดล้อมไม่ให้เจ้าหน้าที่นำบัตรเลือกตั้งออกไปยังหน่วยเลือกตั้งต่างๆได้โดยปิดล้อมตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมาจนถึงเวลา 9.00 น.วันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้จนแน่ใจว่า กกต.ไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งได้จึงแยกย้ายกันกลับ ทำให้ล่าสุดทางคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่เขต 2 จังหวัดภูเก็ตทั้ง 205 หน่วยได้ประกาศงดการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแล้วเนื่องจากไม่สามารถนำบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตออกมายังหน่วยเลือกตั้งได้

สำหรับพื้นที่เขต 2 จังหวัดภูเก็ตนั้นมีผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต 1 รายคือนายจิรายุส ทรงยส ผู้สมัครหมายเลข 15 จากพรรคเพื่อไทย ส่วนในพื้นที่เขต 1 จังหวัดภูเก็ตนั้นไม่มีผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต กกต.ก็ได้ประกาศงดลงคะแนนเลือกตั้งทั้ง 185 หน่วยเช่นกัน เนื่องจากบัตรลงคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อยังถูกมวลชน กปปส.ปิดล้อมอยู่ที่จังหวัดชุมพรซึ่งหลังจากนี้ ทาง กกต.จะได้ประกาศจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ผอ.กกต.ภูเก็ต แถลงประกาศงดลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ภูเก็ต ทั้งแบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ ทั้ง2เขต

 ผอ.กกต.ภูเก็ตแถลงประกาศงดลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ภูเก็ต ทั้งแบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ ทั้ง2เขตเลือกตั้งของภูเก็ต หลังไม่สามารถนำบัตรเลือกตั้งออกจากสภ.ถลางและศูนย์ไปรษณีย์ชุมพรได้ ขณะที่ผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพัฒนาคุณภาพชีวิตเข้าแจ้งความที่สภ.ถลาง เอาผิด กกต.และกลุ่ม กปปส. ภูเก็ต

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 2 ก.พ.57  ที่สำนักงานการเลือกตั้งจังหวัดภูเก็ต นาย กิตติพงษ์ เที่ยงคุณากฤต ผอ.กกต.ภูเก็ต แถลงข่าวกับสื่อมวลชนถึงการประกาศงดลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในพื้นที่ภูเก็ตด้วย เมื่อเวลา 08.30 น.วันนี้ ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ประจำเขต 1 และเขต 2 จังหวัดภูเก็ต ได้ประกาศงดลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้ง 2 เขต ของจังหวัดภูเก็ต หลังจากที่ไม่สามารถนำบัตรเลือกตั้งทั้งที่เป็นแบบส.ส.เขตและแบบบัญชีรายชื่อไปยังหน่วยเลือกตั้งได้ เนื่องจากในส่วนของบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อติดอยู่ทีศูนย์ไปรษณีย์ชุมพร และบัตรเลือกตั้งส.ส.แบ่งเขต ของเขตเลือกตั้งที่ 2 ถูกกลุ่มมวลชน กปปส.ภูเก็ต ปิดล้อมสถานที่เก็บบัตรเลือกตั้ง คือ สถานีตำรวจภูธรถลาง ตั้งแต่วันที่ 31ม.ค.เป็นต้นมา ทำให้ไม่สามารถนำบัตรเลือกตั้งออกมาได้ เจ้าหน้าที่จึงได้นำประกาศดังกล่าวไปติดตามหน่วยเลือกตั้งเขต 1 ซึ่งมีทั้งหมด 158 หน่วย และเขตเลือกตั้งที่ 2 อีก 205 หน่วย

อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันนี้ จะไม่เสียสิทธิเพราะจะมีการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเร็วๆนี้ แต่ในส่วนของกลุ่มการเมือง ที่เป็นนักการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นจะต้องไปแจ้งสาเหตุที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เพื่อรักษาสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งต่อไป โดยแจ้งตามแบบฟอร์ม ส.ส.28 ส่งทางไปรษณีย์ไปยังสำนักงานทะเบียนราษฎร์ที่มีรายชื่ออยู่ หรือจะไปแจ้งด้วยตนเองก็ได้ และการเลือกตั้งซ่อมในเขตและนอกเขตว่า แนวโน้มจะเป็นวันที่ 23 ก.พ.นี้
นายกิตติพงษ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่กลุ่มมวลชน กปปส.ไปปิดล้อม สภ.ถลาง จนไม่สามารถนำบัตรเลือกตั้งมาได้ ว่า ทางกกต.ภูเก็ต ได้แจ้งความลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานกับกลุ่มกปปส.ภูเก็ตไว้แล้ว จะต้องรอทางกกต.กลางว่าจะให้ดำเนินคดีตามกฎหมายหรือไม่ และส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ไปแจ้งกับทางกกต.กรณีที่ไม่ได้จัดให้มีการเลือกตั้งนั้น สามารถที่จะดำเนินการได้ตามสิทธิ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น.วันนี้ นาย ทรงศิริ ไกรเลิศ ผู้สมัครรับเลือกตั้งบัญชีรายชื่อ หมายเลข 40 พรรคพัฒนาคุณภาพชีวิต อายุ 41 ปี อยู่บ้านเลขที่ 223 ม.6 ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ได้เข้าแจ้งความที่ สภ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพื่อดำเนินคดีกับ กกต.ในข้อหาละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 และแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่ม กปปส.ภูเก็ต ในข้อหาขัดขวางการเลือกตั้ง ตามกฎหมายมาตรา 112 และไม่เคารพ ดูหมิ่น พรก.การเลือกตั้ง

จังหวัดสตูล สามารถจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้ในพื้นที่ ๒ อำเภอ

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศในวันนี้ ( ๒ ก.พ.๕๗) พื้นที่จังหวัดสตูล สามารถจัดการเลือกตั้งได้เฉพาะแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในพื้นที่ ๒ อำเภอคืออำเภอควนโดนและอำเภอท่าแพ จากจำนวนทั้งหมด ๗ อำเภอ ซึ่งบรรยากาศโดยทั่วไปเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่มีบางหน่วยเลือกตั้งไม่สามารถเปิดหีบเลือกตั้งได้รวม ๓ หน่วย ได้แก่หน่วยเลือกตั้งที่ ๗ บ้านปลักใหญ่ใจดี หมู่ที่ ๘ ตำบลควนโดน หน่วยเลือกตั้งที่ ๑ หมู่ที่ ๒ ตำบลท่าเรือ อำเภอท่าแพ และหน่วยเลือกตั้ง ๒ หมู่ที่ ๖ บ้านพรุต้นอ้อ ตำบลท่าเรือ อำเภอท่าแพ ได้มีกลุ่มประชาชนเดินทางมาปิดอาคารซึ่งใช้เป็นสถานที่เลือกตั้ง พร้อมร้องขอไม่ให้เปิดหีบเลือกตั้ง โดยภายหลังเปิดหีบเลือกตั้งในเวลา ๐๘.๐๐ น. มีประชาชนออกมาสิทธิ์ค่อนข้างบางตา

สำหรับอำเภอควนโดน มีหน่วยเลือกตั้ง ๓๓ หน่วย ผู้มีสิทธิ ๑๗,๖๙๒ คน ส่วนอำเภอท่าแพมี ๓๕ หน่วยเลือกตั้งผู้มีสิทธิ ๑๙,๑๗๔ คน สำหรับอำเภออื่น ๆ ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้เพราะมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่คัดค้านการเลือกตั้งปิดสถานที่เก็บบัตรเลือกตั้งจนกระทั่งไม่สามารถเคลื่อนย้ายบัตรเลือกตั้งมายังหน่วยเลือกตั้งได้ รวมทั้งบัตรเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อของจังหวัดสตูล ที่กลุ่มผู้ชุมนุมกักไว้ศูนย์ไปรษณีย์หาดใหญ่

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสตูล ประกาศปิดหน่วยเลือกตั้ง ๕ อำเภอ จาก ทั้งหมด ๗ อำเภอ

นายสำราญ วิจิตรพันธ์ กรรมการการเลือกตั้งจังหวัดสตูลฝ่ายการมีส่วนร่วม เดินทางลงพื้นที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกล่าวว่าขณะนี้ กกต.สตูล ได้ประกาศปิดหน่วยเลือกตั้งไปแล้ว ๕ อำเภอ จากจำนวนทั้งสิ้น ๗ อำเภอ เนื่องจากไม่สามารถลำเลียงบัตรและวัสดุอุปกรณ์การเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้งเข้าหน่วยเลือกตั้งได้ ประกอบด้วยอำเภอเมืองสตูล จำนวน ๑๒๓ หน่วย อ.ควนกาหลง ๓๘ หน่วย อำเภอละงู ๘๓ หน่วย อำเภอมะนัง ๑๙ หน่วย อำเภอทุ่งหว้า ๓๓ หน่วย โดยมี ๒ อำเภอที่สามารถเปิดหีบเลือกตั้งได้ ได้แก่อำเภอท่าแพ จำนวน ๓๓ หน่วย จากจำนวนทั้งหมด ๓๕ หน่วย และอำเภอควนโดนจำนวน ๓๒ หน่วย จากจำนวนทั้งหมด ๓๓ หน่วย สำหรับบรรยากาศโดยทั่วไปเป็นด้วยความปกติ ในช่วงเช้ามีผู้ออกมาใช้สิทธิ์แต่ละหน่วย ไม่เกิน ๓๐ เปอร์เซ็นต์
จังหวัดสตูล มีพื้นที่ ๗ อำเภอ แบ่งเป็น ๒ เขตเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวม ๒๑๖,๒๓๓ คน ได้แก่เขตเลือกตั้งที่ ๑ ประกอบด้วยอำเภอเมืองสตูล อำเภอควนโดน และอำเภอควนกาหลง(เฉพาะตำบลทุ่งนุ้ย) รวม ๑๖๘ หน่วย ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน ๑๐๓,๗๖๓ คน เขตเลือกตั้งที่ ๒ ประกอบด้วยอำเภอท่าแพ อำเภอละงู อำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง และอำเภอควนกาหลง (เฉพาะตำบลอุใดเจริญและตำบลควนกาหลง) รวม ๑๙๖ หน่วย ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน ๑๑๒,๔๗๐ คน

ผลการนับคะแนนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูลแบบแบ่งเขต เฉพาะหน่วยที่มีการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ในวันนี้ (๒ ก.พ.๕๗) จังหวัดสตูล สามารถจัดการเลือกตั้งได้เฉพาะแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในพื้นที่ ๒ อำเภอคืออำเภอควนโดนและอำเภอท่าแพ จากจำนวนทั้งหมด ๗ อำเภอ บรรยากาศโดยทั่วไปเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยอำเภอควนโดนสามารถเลือกตั้งได้ ๓๑ หน่วย จากทั้งหมด ๓๓ หน่วย ผู้มีสิทธิ ๑๗,๖๒๐ คน มาใช้สิทธิ ๔,๙๒๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๗.๙๔ และอำเภอท่าแพ เลือกตั้งได้ ๓๓ หน่วย จากทั้งหมด ๓๕ หน่วย ผู้มีสิทธิ ๑๙,๑๗๔ คน มาใช้สิทธิ ๕,๙๗๖ คน คิดเป็นร้อยละ ๓๑.๑๗ และมีหน่วยเลือกตั้งบ้านสวนไทย หมู่ที่ ๗ ตำบลแป-ระ อำเภอท่าแพ ไม่มีผู้มาใช้สิทธิแม้แต่คนเดียว

อย่างไรก็ตามผลการนับคะแนนดังกล่าวยังไม่สามารถประกาศผลได้ เพราะยังต้องรอการเลือกตั้งทดแทนในหน่วยที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ในวันนี้ รวมทั้งการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ กกต.ต้องจัดขึ้นใหม่อีกครั้ง และการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้

คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำ จังหวัดสงขลา ทั้ง 8 เขต ประกาศงดลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว หลังบัตรเลือกตั้งและอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการเลือกตั้ง ไม่สามารถกระจายไปยังหน่วยเลือกตั้งได้

คณะกรรมการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งทั้ง 8 เขตเลือกตั้ง ของจังหวัดสงขลา ได้ประกาศงดลงคะแนนเลือกตั้ง เนื่องจากได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านการเลือกตั้ง ได้ปิดล้อมไปรษณีย์ควนลัง อ.หาดใหญ่ ซึ่งเป็นศูนย์กระจายบัตรเลือกตั้ง วัสดุอุปกรณ์และแบบพิมพ์ที่ใช้ในการเลือกตั้ง จนไม่สามารถกระจายบัตรเลือกตั้งและอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปยังหน่วยเลือกตั้ง ทั้ง 8 เขต ได้ ประกอบกับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการประจำหน่วยเลือกตั้งส่วนใหญ่ได้ลาออก ทำให้แต่ละหน่วยมีเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการประจำหน่วยเลือกตั้งไม่ครบ และสถานที่เลือกตั้งบางหน่วยไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นสถานที่ลงคะแนนได้ จึงเป็นเหตุให้การลงคะแนนเลือกตั้งของทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัดสงขลา ไม่สามารถกระทำได้ คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งทั้ง 8 เขต จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ประกอบ ข้อ 202 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554 คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำเขตเลือกตั้งที่ 1 -8 จังหวัดสงขลา จึงได้ประกาศให้งดการลงคะแนนเลือกตั้ง และได้นำประกาศไปติดไว้ ณ หน่วยเลือกตั้งทั้ง 8 เขต ตลอดจนได้นำประกาศงดการลงคะแนนเลือกตั้งดังกล่าวไปยังสถานวิทยุต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้รับทราบว่างดการเลือกตั้งใน วันนี้แล้ว ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จังหวัดสงขลา มีประชากร 1,360,977 คน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 973,923 คน จำนวน 8 เขตเลือกตั้ง มีหน่วยเลือกตั้ง จำนวน 1,717 หน่วย คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งรวมจำนวน 15,453 คน แต่สามารถแต่งตั้งได้เพียง 4,302 คน ยังขาดคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ถึง 9,547 คน

สำหรับบรรยากาศทั่วไปในวันนี้ ปรากฏว่ายังมีประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งบางคนได้เดินทางไปยังหน่วยเลือก ที่เคยใช้สิทธิ์เลือกตั้งเมื่อครั้งที่ผ่านมา เพื่อจะใช้สิทธิ์เลือกตั้งในครั้งนี้ และเมื่อได้ทราบประกาศจากคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ว่างดลงคะแนนเลือกตั้ง จึงได้เดินทางกลับ    

ล่าสุด เมื่อเวลา 09.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุม ที่ปิดล้อมที่ทำการไปรษณีย์ควนลัง อ.หาดใหญ่ ได้ประกาศยุติการชุมนุมแล้ว และประกาศนำมวลชนกลับมาชุมนุมต่อที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสงขลาในเย็น วันนี้

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ขณะที่ กกต.ยะลาประชุมเข้ม หารือกรณีประกาศปิดหน่วยเลือกตั้ง ที่ไม่สามารถดำเนินการได้

วันนี้ 2 ก.พ.57 เวลา 10.05 น. ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 66 เขตเลือกตั้งที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่ภายในโรงเรียนเทศบาล 1 บ้านมาลายูบางกอก  เขตเทศบาลนครยะลา ต.สะเตง  อ.เมือง จ.ยะลา นายวันมูหะมัดนอร์  มะทา อดีตประธานสภาและรองนายกรัฐมนตรี ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พร้อมผู้ติดตาม ได้เดินทางไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส.แบบแข่งเขต ส่วนการลงคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไม่สามารถลงคะแนนได้ โดย นายวันมูหะมัดนอร์  มะทา ไปลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งที่ 66 ในลำดับที่ 483 ท่ามกลางการดูแลรักษาความปลอดภัยเข้ม จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองยะลา และ ฝ่ายปกครอง

ขณะที่ นายวิชัย เรืองเริงกุลฤทธิ์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจังหวัดยะลา เรียกประชุมเข้ม ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดยะลา และคณะกรรมการเลือกตั้ง หารือติดตามสถานการณ์การเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดยะลา ล่าสุดข้อมูลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ดูแลประจำหน่วยเลือกตั้ง ได้รายงานสถานที่ ที่ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เนื่องจากมีการปิดสถานที่ หน่วยเลือกตั้งของกลุ่ม กปปส.ยะลา ประกอบด้วย หน่วยเลือกตั้งที่ 1 และ 2 หมู่ที่ 1 และ หน่วยเลือกตั้งที่ 7 หมู่ที่ 4 ต.ยุโป     อ.เมือง จ.ยะลา หน่วยเลือกตั้งที่ 1, 2 และ3 ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา หน่วยเลือกตั้งที่ 1 ต.ตาเซะ       อ.เมือง จ.ยะลา และ หน่วยเลือกตั้งในพื้นที่ ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา ที่โรงเรียนบ้านคชศิลา หน่วยเลือกตั้งที่ 5 หมู่ที่ 4 ต.บาละ อ.กาบัง จ.ยะลา ซึ่งทาง กกต.ยะลา ประชุมเข้มหารือ ว่า จะมีประกาศปิดหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่ดังกล่าวหรือไม่ อาศัยตามมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 แก้ไขเพื่อเติมถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 ประกอบข้อ 202 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2554 (ในกรณี เนื่องจากมีมวลชนมาปิดล้อม ขัดขวางการทำงาน ของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ทำให้ไม่สามารถดำเนินการจัดการเลือกตั้งได้)



นายนิแอ  สามะอาลี / ข่าว

ปิดหีบบัตรเลือกตั้ง ที่ยะลา 46 หน่วย เลือกตั้งไม่ได้ ขณะที่ผลการนับคะแนน (อย่างไม่เป็นทางการ) ไม่ประสงค์ลงคะแนน และบัตรเสียจำนวนมาก

วันนี้ 2 ก.พ.57 เมื่อเวลา 15.00 น. บรรยากาศปิดหีบการเลือกตั้งในพื้นที่ จ.ยะลา หลังหมดเวลาลงคะแนนเลือกตั้ง สถานการณ์การจัดการเลือกตั้ง ภาพโดยรวมของจังหวัดยะลา มีกลุ่ม กปปส.คัดค้าน ได้ปิดหน่วยเลือกตั้งหลายหน่วยเลือกตั้ง ในพื้นที่ อ.เมือง อ.กาบัง อ.ธารโต และ อ.เบตง ทำให้การจัดการเลือกตั้งไม่สามารถดำเนินการได้ ขณะที่การลงคะแนนเสียงของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ตลอดทั้งวัน ค่อนข้างน้อย

นายวิชัย เรืองเริงกุลฤทธิ์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดยะลา ได้สรุปผลการใช้สิทธิเลือกตั้ง อย่างไม่เป็นทางการ ของ จ.ยะลา หลังทุกหน่วยปิดหีบเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว จ.ยะลา แบ่งเขตการเลือกออกเป็น 3 เขตเลือกตั้ง มีหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 577 หน่วยเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้งที่ปิดหน่วย ทั้งหมด 46 หน่วยเลือกตั้ง ประกอบด้วย อ.เมืองยะลา ตำบลยุโป 4 หน่วยเลือกตั้ง ตำบลตาเซะ 2 หน่วยเลือกตั้ง ตำบลลำพะยา 7 หน่วยเลือกตั้ง ตำบลลำใหม่ 3 หน่วยเลือกตั้ง ตำบลสะเตงนอก 5 หน่วยเลือกตั้ง และตำบลสะเตง 1 หน่วยเลือกตั้ง รวมทั้งหมด 22 หน่วยเลือกตั้ง อ.กาบัง ตำบลบาละ 10 หน่วยเลือกตั้ง อ.ธารโต ตำบลแม่หวาด 10 หน่วยเลือกตั้ง และ อ.เบตง ตำบลอัยเยอร์เวง 3 หน่วยเลือกตั้ง รวมทั้งหมด 46 หน่วยเลือกตั้งที่มีการปิดหน่วยเลือกตั้ง หน่วยที่เลือกตั้งได้มีจำนวน 531 หน่วยเลือกตั้ง ส่วนผลการนับคะแนนในแต่ละหน่วยเลือกตั้ง อย่างไม่เป็นทางการ ส่วนใหญ่ไม่ประสงค์ลงคะแนน และบัตรเสียจำนวนมาก


ยุทธนา จันทร์วิมาน ส.ปชส.ยะลา

ชาวนราธิวาสออกมาใช้สิทธิบางตา ขณะที่ รปภ.เข้มตามหน่วย

( 2 ก.พ. 57 )  ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศตามหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสว่า มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งบางตา โดยตั้งแต่เวลา 08.00 น. หลังเปิดหีบการเลือกตั้งทั้ง 915 หน่วยในพื้นที่ 13 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส สามารถดำเนินการเปิดหีบเลือกตั้งได้ตามปกติ  ขณะที่นายวีระพงศ์  แก้วสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้เดินทางไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ 25 สนามกีฬาจังหวัดนราธิวาส ต.บางนาค อ.เมือง และจากนั้นได้เดินทางไปตรวจหน่วยเลือกตั้งที่ 2 โรงเรียนวัดลำภู ต.ลำภู อ.เมือง ซึ่งพบว่ามีประชาชนมาใช้สิทธิน้อย ตลอดช่วงเช้าหลังเปิดหีบมีมาใช้สิทธิเพียง 8 คน จากผู้มีสิทธิ์ 665 คน ขณะที่ในพื้นที่ ต.ลำภู มีการขึ้นป้ายไวนิว “ชาวลำภูไม่ออกออกไปเลือกตั้ง ” บริเวณสี่แยกไฟแดงด้วย

ด้านนายวินัย ดีลิ่ว ผู้อำนวยการคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่ 2 โรงเรียนวัดลำภู  กล่าวว่า  การจัดการบริเวณหน่วยเลือกตั้งครั้งนี้มีอุปกรณ์ไม่ครบหลายสิ่ง ซึ่งไม่สมบูรณ์เหมือนการเลือกตั้งทุกๆครั้ง แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องดำเนินการเลือกตั้งต่อไปตาม อีกทั้งจะต้องมีการอธิบายผู้ที่เดินทางมาใช้สิทธิ์ว่าครั้งนี้เลือกแบบแบ่งเขตอย่างเดียวเท่านั้น เนื่องจาก กกต.จังหวัดนราธิวาส ไม่สามารถนำบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อมาจากไปรษณีย์หาดใหญ่ได้

ส่วนการดูแลความปลอดภัยตามหน่วยเลือกตั้งมีการดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีเจ้าหน้าที่ ตร. 2 นาย เจ้าหน้าที่ อส. 2 นาย  รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ทหารชุดลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยเข้ามาตรวจสอบเป็นระยะ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ ตร. 1 ชุด คอยดูแลความปลอดภัยในพื้นที่อีกด้วย

หน่วยเลือกตั้งในจังหวัดนราธิวาส สามารถทำการเลือกตั้งได้กว่า ๙๙ % แล้ว ในขณะที่กลุ่ม กปปส ตำบลช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส กว่า ๑๕๐ คน เข้าปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง เพื่อแสดงจุดยืนให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง

วันนี้ ( ๒ ก.พ. ๕๗ ) เวลา ๐๙.๓๐ น . ณ สำนักสงฆ์บ้านไอร์บาลอ   อ.จะแนะ จ.นราธิวาส    ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการเลือกตั้งที่ตำบลช้างเผือก  อำเภอจะแนะ   จังหวัดนราธิวาส  ว่ามีกลุ่มกปปสตำบลช้างเผือกกว่า  ๑๕๐ คน    ได้เข้าปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งที่ ๗ หมู่ ๖ บ้านไอร์บาลอ   ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส  ซึ่งตั้งอยู่ในสำนักสงฆ์บ้านไอร์บาลอ จึง ทำให้ไม่สามารถดำเนินการเลือกตั้งได้  แต่สถานการณ์โดยรวมแล้วไม่ได้มีความรุนแรงแต่อย่างใด   ในขณะที่มีเจ้าหน้าที่ทั้ง ๓ ฝ่าย  ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน  ให้การรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

ด้านนางจุรี  เพชรรัตน์ ตัวแทน กปปส บ้านไอร์บาลอ ต.ช้างเผือก  อ.จะแนะ จ.นราธิวาส  กล่าวว่า  สาเหตุที่กลุ่ม กปปสบ้านไอร์บาลอ เดินทางมาปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งในครั้งนี้   ไม่ได้ต้องการมาสร้างความวุ่นวาย    แต่มาเพื่อแสดงจุดยืนของการคัดค้านการเลือกตั้ง เพื่อให้รัฐบาลได้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง

ขณะที่นายศุภณัฐ  สิรันทวิเนติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ลงพื้นที่ตรวจหน่วยเลือกตั้งทั้ง  ๔ อำเภอในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส  ได้แก่ อำเภอระแงะ      อำเภอเจาะไอร้อง   อำเภอสุคิริน และอำเภอจะแนะ  ซึ่งพบว่าหน่วยเลือกตั้งที่ตำบลช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เป็นหน่วยเลือกตั้งเดียวที่ไม่สามารถทำการเลือกตั้งได้

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศงดการลงคะแนนเลือกตั้งทั้ง 4 เขต

วันนี้ (2 ก.พ. 57) เวลา 08.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดตรัง นายเสน่ห์ รักรงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดตรัง ได้นำประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ทั้ง 4 เขตของจังหวัดตรัง(ส.ส.37 ) ปิดประกาศที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดตรัง เรื่องการงดลงคะแนนเลือกตั้ง เนื่องจากไม่ได้รับบัตรเลือกตั้งจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดตรัง จึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่จะส่งมอบให้กับคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ได้นำไปปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงงดลงคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้ง จังหวัดตรังมีประชากร 643,461 คน มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 473,371 คน ใน 4 เขตเลือกตั้ง มีหน่วยเลือกตั้ง จำนวน 889 หน่วย มีคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจำนวน 8,001 คน โดยในขณะนี้คณะกรรมการประจำหน่วยฯ ได้ลาออกจากการเป็นคณะกรรมการฯ จำนวน 6,936 คน คงเหลือ 1,065 คน คิดเป็นร้อยละ 13.31 ของคณะกรรมการประจำหน่วยฯ ที่มีอยู่เท่านั้น เลือกตั้ง กอรปกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดตรัง ไม่สามารถส่งมอบบัตรเลือกตั้งให้กับหน่วยเลือกตั้งได้ คณะกรรมการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งทั้ง 4 เขตเลือกตั้ง ได้ประกาศงดลงคะแนนเลือกตั้งทุกหน่วยเลือกตั้งทั้งจังหวัด คือ 889 หน่วยเลือกตั้ง แต่ก็ยังมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งบางคนได้เดินทางไปยังหน่วยเลือกตั้งเพื่อใช้สิทธิ์เลือกตั้ง และหลังจากคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งได้ปิดประกาศงดลงคะแนนเลือกตั้งจึงได้เดินทางกลับ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดตรัง กล่าวว่า จังหวัดตรังไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ ก็จะได้มีรายงานไปยังส่วนกลางต่อไป ซึ่งอาจจะมีการพิจารณากำหนดวันเลือกตั้งใหม่น่าจะเป็นกลางเดือน มีนาคม 2557 นี้