สธ.เตือนประชาชนระวังโรคติดต่อที่มากับฤดูร้อนและช่วงภัยแล้ง สาเหตุจากอาหารและน้ำที่ไม่สะอาดที่พบบ่อย 6 โรค เผยตั้งแต่ 1 ม.ค.- 24 ก.พ. 57 พบป่วยแล้วกว่า 200,000 ราย เสียชีวิต 3 ราย สั่ง สสจ.ทั่วประเทศคุมเข้มมาตรฐานความสะอาด
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงหน้าร้อนของทุกๆ ปี อุณหภูมิความร้อนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี โรคติดต่อที่พบบ่อยมี 6 โรค คือ อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง ไทฟอยด์ บิด และไวรัสตับอักเสบ เอ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้พยากรณ์โรค โดยวิเคราะห์ข้อมูลการเฝ้าระวัง การป่วยย้อนหลัง 10 ปี และคาดการณ์สถานการณ์โรคติดต่อที่ติดต่อทางอาหารและน้ำที่เกิดในฤดูร้อน
ปี 2557 นี้ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงพฤษภาคม มีโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 3 โรค ได้แก่ 1. โรคอหิวาตกโรค อาจมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ประมาณ 100 ราย เนื่องจากมีลักษณะการระบาดปีเว้นสองปี และปีนี้เป็นปีที่ครบรอบการระบาด 2. โรคไทฟอยด์คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ของจำนวนผู้ป่วยในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2556 หรือเพิ่มเฉลี่ยเดือนละ 200 ราย และ 3. โรคไวรัสตับอักเสบ เอ คาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ของจำนวนผู้ป่วยปี 2556 หรือเฉลี่ยเดือนละ 15 ราย และอาจเพิ่มสูงสุดถึง 100 ราย ในเดือนพฤษภาคม หากไม่มีการเฝ้าระวัง และควบคุมโรคที่ดี ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เร่งรณรงค์ความสะอาดร้านอาหาร โรงงานผลิตน้ำดื่ม โรงงานผลิตน้ำประปา โรงงานผลิตน้ำแข็ง โรงงานผลิตไอศกรีม ตลาดสด และส้วมสาธารณะ เฝ้าระวังโรค หากมีรายงานผู้ป่วยในพื้นที่ ให้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ออกสอบสวนควบคุมโรคทันที เพื่อไม่ให้โรคแพร่ระบาด
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า สถานการณ์ของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ 6 โรค ในปี 2556 พบผู้ป่วยรวมทั้งหมด 1,259,408 ราย เสียชีวิต 13 ราย โรคอุจจาระร่วงพบผู้ป่วยมากสุด คือ 1,122,991 ราย เสียชีวิต 12 ราย รองลงมาโรคอาหารเป็นพิษ 130,653 ราย เสียชีวิต 1 ราย โรคบิด 2,822 ราย โรคไทฟอยด์ 2,562 ราย โรคไวรัสตับอักเสบ เอ 372 ราย และโรคอหิวาตกโรค 8 ราย ส่วนในปี 2557 นี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 24 กุมภาพันธ์ พบผู้ป่วย 6 โรค รวม 206,528 ราย ผู้ป่วยมากที่สุดคือโรคอุจจาระร่วง 186,298 ราย รองลงมาโรคอาหารเป็นพิษ 19,549 ราย เสียชีวิต 3 รายจากโรคอุจจาระร่วง
โรคติดต่อที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน เช่น อาหารที่ปรุงดิบๆสุกๆ มีแมลงวันตอมหรือทำไว้ล่วงหน้านานๆ อาหารค้างคืน รวมทั้งการมีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ไม่ดี เช่น ไม่ล้างมือก่อนรับประทานอาหารหรือหลังเข้าห้องน้ำ การใช้ช้อนหรือแก้วน้ำร่วมกับผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการ จึงขอแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังความสะอาดของอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษ ยึดหลักป้องกันป่วยคือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน ใช้ช้อนกลางตักอาหารร่วมกัน ล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วม ทำความสะอาดครัวปรุงอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำที่สะอาดหรือน้ำต้มสุก
สำหรับอาการป่วยของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วงที่พบผู้ป่วยและเสียชีวิตมากสุดในแต่ละปี อาการของผู้ป่วยจะคล้ายกัน มักถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำหรือมีมูก ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ในการดูแลผู้ป่วยในระยะแรกควรให้ดื่มน้ำหรืออาหารเหลวมากๆ อาทิ น้ำข้าว น้ำแกงจืด และดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่หรือที่เรียกว่าผงโออาร์เอส หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้านทานโรคน้อย เสี่ยงชีวิตได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่นๆ
ทั้งนี้ สำนักระบาดวิทยา ได้คาดการณ์ว่าตลอด 4 เดือน ของฤดูร้อนในปี 2557 นี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม จะมีผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษเฉลี่ยเดือนละ 9,000 ราย มีผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉลี่ยเดือนละ 80,000 - 90,000 ราย มีผู้ป่วยโรคไทฟอยด์เฉลี่ยเดือนละ 200 ราย ส่วนผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ เอ เฉลี่ยเดือนละ 15 ราย และอาจเพิ่มถึง 100 ราย ในเดือนพฤษภาคม กรมควบคุมโรคได้จัดเตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วไว้กว่า 2,700 ทีมทั่วประเทศ สามารถลงพื้นที่ควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง