วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2557

วิเคราะห์ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ


อุปสรรคของการพัฒนาประเทศเกิดขึ้นได้ จากหลายสาเหตุ เช่น จากผู้นำรัฐบาล ข้าราชการและประชาชน บทความนี้มุ่งเน้นพิจารณาศึกษาอุปสรรคที่เกิดจากประชาชนเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลักษณะอุปนิสัยบางประการของประชาชนคนไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ 30 ประการ ดังต่อไปนี้

1. เชื่อเรื่องเวรกรรม คนไทยมีความเชื่อมูลฐานในเรื่องเวรกรรม กฎแห่งกรรม หรือสวรรค์นรก โดยเชื่อว่าคนที่มีฐานะและความเป็นอยู่แตกต่างกัน เป็นเรื่องของโชคชะตาฟ้าลิขิต เช่น คนมีฐานะร่ำรวยมีอำนาจวาสนาเพราะเมื่อชาติก่อนหรือแม้กระทั่งชาตินี้ คนนั้นหรือบิดามารดาของคนนั้นได้สร้างบุญกุศลไว้มาก จึงเกิดมารวยและสบาย ตรงกันข้ามคนที่มีฐานะยากจน เพราะเมื่อชาติก่อนได้สร้างบาปกรรมไว้มาก และทำบุญน้อยจึงเกิดมาลำบากหรือเกิดมาใช้เวรใช้กรรมในชาตินี้ ซึ่งเห็นได้จากถ้อยคำที่ว่า ถ้าคนรวยตายเรียกว่า “สิ้นบุญ” แต่ถ้าคนจนตายเรียกว่า “สิ้นเวรสิ้นกรรม” หรือ "หมดเวรหมดกรรม" เป็นต้น และถ้าหากคนใดไม่เชื่อเรื่องเวรกรรมก็จะถูกห้ามหรือเตือนในทำนองที่ว่า "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" นอกจากนี้แล้ว ถ้าสิ่งใดหาคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ก็จะกล่าวอ้างว่าเป็นเรื่องของสวรรค์นรกบันดาล เช่น ส่วนหนึ่งเห็นได้จากคำว่า "สวรรค์มีตา"

การที่คนไทยเชื่อและยอมรับสภาพความ แตกต่างของคนในเรื่องฐานะและอำนาจนั้น มีส่วนสำคัญทำให้คนไทยที่มีฐานะยากจนและไม่มีอำนาจขาดความกระตือรือร้นในการ พึ่งตนเองหรือพัฒนาฐานะของตนเอง เพราะเชื่อว่าทำอย่างไรก็ไม่มีทางร่ำรวย มีฐานะ มีหน้ามีตาหรือมีชื่อเสียงขึ้นมาได้ สอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า “แข่งเรือแข่งแพแข่งได้ แต่แข่งบุญวาสนาแข่งไม่ได้” และเมื่อใดก็ตามที่พบอุปสรรค ความยากลำบาก หรือทำสิ่งใดไม่สำเร็จตามใจปรารถนาก็จะเกิดความท้อแท้ใจได้ง่ายพร้อมกับอ้าง ว่าเป็นเรื่องของเวรกรรม ซึ่งอาจเรียกสั้น ๆ ว่า “ดวง” ซ้ำร้ายยังตีความ "สันโดษ" คลาดเคลื่อนอีกด้วย โดยเข้าใจว่าหมายถึง "พอใจในสิ่งที่มี" ทำให้ไม่ดิ้นรนต่อสู้ ไม่กระตือรืนร้น ปล่อยชีวิตไปตามสบาย ทั้ง ๆ ตนเองที่มีความรู้ความสามารถหรือมีศักยภาพที่จะทำงานอื่นได้อีกมาก แต่ไม่ยอมทำ คำว่าสันโดษนั้นน่าจะหมายถึง "ให้พอใจในสิ่งที่มีถ้าสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้" เช่น คนบางคนเกิดมาพิการ สันโดษสอนให้คน ๆ นั้นพึงพอใจและยอมรับในสิ่งที่มีและเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้นั้น ในเวลาเดียวกัน ก็ควรพยายามหาสิ่งอื่นมาชดเชยหรือทดแทน เช่น มุมานะทำงานให้เป็นผู้ชำนาญในด้านอื่นที่ไม่ต้องใช้คุณสมบัติที่ขาดไปนั้น

ยิ่งไปกว่านั้น ในบางกรณีคนไทยยังมีอุปนิสัยที่ชอบพูดตอกย้ำต่อไปไม่จบสิ้น เข้าลักษณะ "ถล่มตัวเองให้สะใจ" หรือ "จำในสิ่งที่ควรลืม และลืมในสิ่งที่ควรจำ" ทั้งนี้ เป็นลักษณะของการไม่มุมานะ ไม่พยายามปรับปรุงแก้ไข หรือแม้กระทั่งไม่คิดให้กำลังใจแก่ตนเองในทำนองที่ว่า “พลาดไปประการหนึ่งเป็นครู” "ล้มแล้วรีบลุก" "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น" "ไม่มีใครสมบูรณ์ที่สุด" (nobody is perfect) หรือ "บางครั้งชนะ บางครั้งแพ้" (sometimes we win, sometimes we lose หรือ we win some, we lose some)

ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่ฝังใจอยู่ กับความเชื่อเรื่องเวรกรรมนี้ ทำให้คนไทยปล่อยตัวปล่อยใจไปตามเวรตามกรรม โดยปล่อยตัวตามสบาย ไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่มุมานะดิ้นรนต่อสู้ ไม่ทะเยอทะยาน และไม่เข้ามาร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคม ดังนั้น จึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในแง่ที่ทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะความรู้ความสามารถของคนไทยไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่และ คุ้มค่า

2. ถ่อมตัวและยอมรับชนชั้นในสังคม จากการศึกษาประวัติศาสตร์พบว่า ก่อนการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โครงสร้างของสังคมไทยได้แบ่งเป็น 2 ชนชั้น ชนชั้นแรก คือชนชั้นปกครอง ซึ่งประกอบด้วยเจ้า นาย หรือขุนนาง อีกชนชั้นก็คือ ชนชั้นที่ถูกปกครอง ประกอบด้วยไพร่ คนธรรมดา สามัญชนและชาวนา แม้เวลาจะล่วงเลยมา โครงสร้างชนชั้นในสังคมดังกล่าวยังคงมีให้เห็นแต่อาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น ชนชั้นที่ได้เปรียบกับชนชั้นที่เสียเปรียบ หรือชนชั้นร่ำรวยกับชนชั้นยากจน สำหรับชนชั้นปกครองในปัจจุบันก็คือ นักการเมืองระดับสูง ข้าราชการระดับสูง พ่อค้านักธุรกิจนายทุน และคนร่ำรวย ส่วนชนชั้นที่ถูกปกครองคือ คนธรรมดาสามัญ ชาวไร่ชาวนา ผู้ใช้แรงงาน หรือชาวบ้าน เป็นต้น

การแบ่งคนในสังคมออกเป็น 2 ชนชั้นนี้ มิใช่เป็นเรื่องแปลกหรือน่าเสียหาย เป็นปรากฏการณ์ธรรมดาของสังคมทั่วโลก แต่ส่วนที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศคือ การที่คนไทยถ่อมตัวหรือเจียมเนื้อเจียมตัวและยอมรับสภาพที่เป็นผู้ถูกปกครอง ด้วยดีตลอดเวลา เช่น ยอมรับสภาพที่ยากจน พอใจรายได้ที่มีอยู่ ให้ความเคารพเชื่อฟังและยกย่องผู้มีอำนาจอย่างเกินกว่าเหตุ ไม่โต้เถียงโต้แย้งผู้มีอำนาจ ไม่แสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้ง และไม่พัฒนาตนเอง เหล่านี้ย่อมเป็นผลเสียต่อการพัฒนาประเทศมากกว่าผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมี "จิตใจ" ทำนองเดียวกับการเป็นผู้ถูกปกครอง ถึงกับมีคำกล่าวเปรียบเทียบว่า การเลิกทาสเกิดมาช้านานแล้วแต่บางคน "กายเป็นไท แต่ใจเป็นทาส" และถึงแม้ว่าขนบธรรมเนียมประเพณีและศีลธรรมอันดีของไทยได้สอนให้คนไทย "อ่อนโยน แต่อย่าอ่อนแอ" แต่กลับมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ "อ่อนโยนและอ่อนแอ"

ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่ถ่อมตัว หรือเจียมเนื้อเจียมตัว ซึ่งบางครั้งแสดงออกในลักษณะที่ "ชอบถล่มตัวเอง" และทำตัวเป็น "ผู้น้อยต้อยต่ำ" อยู่ร่ำไป รวมตลอดทั้งการยอมรับชนชั้นในสังคมประการนี้ ไม่เพียงเพิ่มช่องว่างระหว่างชนชั้นในสังคมให้มากขึ้นเท่านั้น ยังมีส่วนทำให้ผู้มีอำนาจและประชาชนใกล้ชิดกันน้อยลง ผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจที่ขาดคุณธรรมอาจ "เหลิงอำนาจ" และเข้าใจว่าตนเองเป็น "เทวดาเดินดิน"

3. ยึดถือระบบอุปถัมภ์  คนไทยมีลักษณะอุปนิสัยที่ยึดมั่นในระบบอุปถัมภ์ซึ่งเห็นได้จากความสัมพันธ์ ของคนไทยจะเป็นแบบผู้นำ-ผู้ตาม ลูกพี่-ลูกน้อง หรือผู้ใหญ่-ผู้น้อย ความสัมพันธ์นี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ดังที่เรียกว่า "ข้าพึ่งเจ้า บ่าวพึ่งนาย" ระบบอุปถัมภ์ ประกอบด้วย กลุ่มอุปถัมภ์ ซึ่งหมายถึงกลุ่มที่มีการจัดลำดับสมาชิกเป็นชั้นลดหลั่นกันไป โดยมีผู้นำคนเดียวและมีผู้ตามหลายคน ผู้นำจะรวมอำนาจไว้ที่ตัวเองและมีฐานะสูงกว่าผู้ตาม ผู้นำสามารถผูกพันยึดเหนี่ยวผู้ตามให้จงรักภักดีอยู่ภายใต้อิทธิพลด้วยการ จัดสรรผลประโยชน์ เช่น เงินทอง ทรัพย์สิน หรืออำนาจให้อย่างถ้วนหน้าแต่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งต่อมาเรียกว่าระบบอุปถัมภ์หรือระบบพวกพ้อง ระบบนี้มีลักษณะสำคัญ

3.1 ผู้อุปถัมภ์ อาจเรียกว่า ผู้นำ ลูกพี่ หรือผู้ใหญ่ มีภาระหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ ดูแล คุ้มครองและปกป้องบริวารของตนซึ่งได้แก่ ผู้ตาม ลูกน้อง หรือผู้น้อย ซึ่งรวมเรียกว่าผู้ถูกอุปถัมภ์ ไม่ว่าผู้ถูกอุปถัมภ์จะถูกหรือผิด ลักษณะเช่นนี้เห็นได้จากในอดีตขุนนางหรือข้าราชการไม่มีเงินเดือนประจำ เหมือนในสมัยปัจจุบัน ดังนั้น จึงต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการรับ “ของกำนัน” จากไพร่ซึ่งเป็นลูกน้องของตน และจากค่าธรรมเนียมในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อเป็นการตอบแทนต่อของกำนันที่ได้ รับจากไพร่ ข้าราชการแต่ละคนจึงมีหน้าที่ให้ความคุ้มครองแก่ไพร่ของตนจากรัฐและคนอื่น ๆ และในบางกรณี ข้าราชการจะช่วยให้ไพร่ของตนก้าวหน้าขึ้นไปมีตำแหน่งสูงและมีอำนาจมากขึ้น ด้วย การที่ผู้ใหญ่พิทักษ์ปกป้องผู้น้อยที่กระทำความผิด เห็นได้จากการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่หรือไม่สนใจการร้องเรียน หรือแม้กระทั่งหาทางออกให้ลูกน้อง ไม่ลงโทษอย่างจริงจังเข้มงวด หรือย้ายไปอยู่พื้นที่อื่นซึ่งอาจไปกระทำความผิดเช่นเดิมนี้ในพื้นที่อื่น ต่อไป

3.2 ผู้ถูกอุปถัมภ์หรือผู้น้อยมีภาระหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อผู้ใหญ่ เริ่มจากพยายามแสวงหาผู้ใหญ่ที่มีความสามารถ มีอิทธิพล และมีบารมีไว้สนับสนุนและคุ้มครอง โดยหาช่องทางเข้าไปฝากเนื้อฝากตัว เข้าเป็นพวก และเกาะติดผู้ใหญ่ไว้เพื่อความเจริญก้าวหน้าในชีวิต อันเป็นลักษณะของการหวัง "พึ่งใบบุญหรือพึ่งบารมี" การไม่เข้าเป็นพวกเดียวกันกับผู้ใหญ่ อาจถูกมองว่าเป็นศัตรูหรือเป็นฝ่ายตรงข้าม แต่เมื่อเข้าไปเป็นพวกพ้องก็ยิ่งทำให้ระบบพวกพ้องมั่นคงและเข้มแข็งมากขึ้น นอกจากนี้ ลูกน้องต้องคอยติดสอยห้อยตาม เป็นสมุนเป็นบริวาร ปรนนิบัติรับใช้ประดุจบ่าวไพร่ คอยเออออห่อหมก และเป็นลูกขุนพลอยพยักอยู่เสมอ โดยใช้คำพูดที่ว่า "ครับผม ๆ" หรือ "ถูกครับพี่ ดีครับท่าน" รวมทั้งต้องคอยเคารพยกย่อง สรรเสริญเยินยอผู้ใหญ่ และมือไม้อ่อนตลอดเวลา ในลักษณะ “ผู้น้อยค่อยประนมกร” ดังนั้น การที่ผู้น้อยคอยห้อมล้อม ยกย่องสรรเสริญ และเอาอกเอาใจผู้ใหญ่จนเรียกว่าเป็นการ "ก้มหัวให้” เหล่านี้มีส่วนทำให้ผู้น้อยได้รับการแต่งตั้งหรือปูนบำเหน็จรางวัล โดยไม่คำนึงถึงความสามารถหรือผลงานในการปฏิบัติหน้าที่ความเจริญก้าวหน้าใน ชีวิตของผู้น้อยจึงมิได้อยู่ที่ผลงานแต่เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การเป็นพวกเดียวกับผู้ใหญ่ ดังคำกล่าวที่ว่า "ค่าของคนไม่ได้อยู่ที่ผลของงาน แต่อยู่ที่คนของใคร"

ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีสังคมใดอยู่โดยไม่มีพวกพ้องหรือไม่พึ่งพาอาศัยกัน แต่ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่ยึดถือระบบอุปถัมภ์ประการนี้ เป็นไปในลักษณะที่มากเกินกว่าความจำเป็นหรือมากเกินกว่าเหตุ จึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศทั้งในแง่ของผู้ใหญ่และผู้น้อย กล่าวคือ ในแง่ของผู้ใหญ่ จะทำให้ลืมตัว รวมอำนาจและใช้อำนาจในทางมิชอบได้ง่าย สนใจและปูนบำเหน็จรางวัลให้เฉพาะคนใกลชิด ไม่มีโอกาสใช้คนที่มีความรู้ความสามารถได้มากเท่าที่ควร เกิดระบบเส้นสายหรือการวิ่งเต้น เกิดการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม ผู้ที่มีความสามารถแต่ไม่มีเส้นสายจะก้าวหน้าได้ยาก และยังเป็นการสนับสนุนให้ผู้น้อยกระทำความผิดอีกด้วย เพราะผู้น้อยจะคิดว่าถึงอย่างไรก็มีผู้ใหญ่คอยช่วย มีเส้นสาย มีเกราะคุ้มกัน

ส่วนในแง่ของผู้น้อย ผู้น้อยที่ไม่ประจบสอพลอจะไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้ใหญ่ ผู้น้อยจะเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ท้อแท้ใจ และทำงานไปวันหนึ่ง ๆ อย่างไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ระบบอุปถัมภ์ซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานของความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ใหญ่และ ผู้น้อยได้ก่อให้เกิดความเกรงใจซึ่งโดยปรกติผู้น้อยจะเกรงใจผู้ใหญ่ ความเกรงใจที่ผู้น้อยมีต่อผู้ใหญ่ในบางครั้งก็กลายเป็นอุปสรรคของการพัฒนา ประเทศ เช่น คนไทยเกรงใจผู้มีอำนาจ เช่น นายอำเภอหรือปลัดอำเภอ ไม่แสดงความคิดเห็นตอบโต้ต่อหน้า วางเฉย ไม่ขัดคอ ผู้มีอำนาจจะพูดอย่างไรคนไทยก็จะเป็นผู้ฟัง บางครั้งทำตัวเป็น “ทองไม่รู้ร้อน” การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป ผู้น้อยอาจถูกเขม่นและในภายหน้าไม่อาจไปขอความช่วยเหลือหรือพึ่งบารมีได้

4. ไม่ยอมรับคนที่มีอายุเท่ากันหรือต่ำกว่า คนไทยไม่ยอมรับคนที่มีอายุไล่เลี่ยกันหรือต่ำกว่า สืบเนื่องมาจากระบบอุปถัมภ์หรือระบบพวกพ้องที่ติดตรึงอยู่ในจิตใจของคนไทยมา นาน ได้มีส่วนทำให้คนไทยนิยมยกย่องเฉพาะผู้ที่มีอาวุโสกว่าตนเป็นส่วนมาก ส่วนแนวคิดที่ยอมรับคนที่มีอายุเท่ากันหรือต่ำกว่ามีแนวโน้มที่จะปรากฏให้ เห็นในสังคมหรือในประเทศที่ให้ความสำคัญกับระบบเลือกตั้งหรือการเลือกตั้ง โดยถือว่าถ้าผู้ใดได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชน แม้จะอายุน้อยก็ถือว่าได้รับการยอมรับ ทั้งนี้ สังคมหรือประเทศนั้นต้องยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอีกทั้งระบบ เลือกตั้งจะต้องเป็นที่ยอมรับโดยเฉพาะในเรื่องความบริสุทธิ์ยุติธรรม การซื้อสิทธิ์ขายเสียงมีน้อย แต่สำหรับสังคมหรือประเทศที่ให้ความสำคัญกับระบบเจ้าขุนมูลนาย ระบบอาวุโส และระบบเลือกตั้งยังคงไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมแล้ว อุปนิสัยที่ไม่ยอมรับคนที่มีอายุเท่ากันหรือต่ำกว่าก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ ทั่วไป แต่มีข้อยกเว้นในบางกรณี เช่น ถ้าบุคคลนั้นเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถโดดเด่น เด่นชัด และมีฐานะร่ำรวย

ลักษณะอุปนิสัยนี้เป็นอุปสรรคต่อการ พัฒนาประเทศในแง่ที่กำลังความคิดและกำลังกายของทรัพยากรมนุษย์ส่วนหนึ่งไม่ ได้เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ ความมีอาวุโสน้อยจะถูกนำมากล่าวอ้างและถูกกีดกันโดยผู้มีอาวุโสมากกว่า

                            

5. พึ่งพาพึ่งพิงคนอื่น คนไทยติดนิสัยต้องคอยพึ่งผู้อื่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยพบกับความผิดหวัง ด้วยเหตุผลที่คนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องพึ่งดินฟ้าอากาศ หาความแน่นอนไม่ได้ บางปีฝนตกมากทำให้นาล่ม บางปีฝนตกน้อยเกิดนาแล้งหรือแม้กระทั่งบางปีดินฟ้าอากาศดีและผลผลิตดี แต่ก็ต้องประสบกับการขายผลผลิตไม่ได้หรือขายได้ราคาต่ำ เป็นต้น นอกจากนี้ พื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกของไทยนับวันจะน้อยลงและสภาพของดินเสื่อมลงในขณะที่ ประชากรเพิ่มมากขึ้น รวมตลอดทั้งการถูกเอารัดเอาเปรียบหรือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและการครอบงำของ ผู้มีอำนาจหรือชนชั้นปกครองตลอดมา สภาพเหล่านี้บางครั้งทำให้คนไทยหมดหวังสิ้นหวัง ขาดขวัญและกำลังใจ มีความรู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่แน่นอนและเชื่อว่าตนเองไม่อาจกำหนดชะตาชีวิตของ ตนเองและครอบครัวได้ จึงทำให้คนไทยต้องหาหลักประกันที่มั่นคงกว่าหรือเชื่อว่ามั่นคงกว่า ด้วยการไปพึ่งพาพึ่งพิงผู้อื่น และ/หรือ สิ่งอื่นที่มีตัวตน เช่น ผู้อุปถัมภ์และผู้นำ ถึงกับมีคำกล่าวว่า "เชื่อผู้นำ ชาติเจริญ" หรือ "เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย" สำหรับสิ่งที่ไม่มีตัวตน เช่น ผีสางนางไม้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ที่เชื่อว่ามีอำนาจเหนือมนุษย์ การที่คนไทยต้องไปพึ่งพิงผู้อุปถัมภ์ที่มีฐานะร่ำรวยและมีอิทธิพลก็มีส่วนดี อยู่บ้าง แต่ในที่สุดคนไทยก็ถูกครอบงำและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้อุปถัมภ์หรือผู้นำ มากขึ้น เช่น การที่คนไทยต้องสร้างความผูกพันกันเป็นการส่วนตัว ก็จะต้องแลกเปลี่ยนและการลงทุนในสิ่งที่ผู้อุปถัมภ์หรือผู้นำเป็นผู้กำหนด

ลักษณะอุปนิสัยประการนี้เป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนาประเทศในแง่ที่คนไทยขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ขาดความคิดริเริ่ม ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เพราะถ้าแสดงออกมาแล้ว ผู้อุปถัมภ์หรือผู้นำไม่ชอบก็จะเป็นผลร้ายต่อตัวเองและครอบครัวในภายภาคหน้า คนไทย

6. ไม่รู้จักประมาณ คนไทยมีนิสัยไม่รู้จักประมาณ ต้องการมีหน้ามีตา และพยายามรักษาหน้าตาหรือชื่อเสียงเกียรติยศไว้ เข้าทำนอง "หน้าใหญ่ใจโต" ไม่ต้องการให้ "เสียหน้า" และนิยม "รักษาหน้า" หรือ “ฉิบหายไม่ว่าขออย่าให้เสียหน้า” หรือ "ฉิบหายไม่ว่าต้องการชื่อเสียง" ในบางกรณีบางคนเคยร่ำรวย แต่เมื่อต้องมาอยู่ในสภาพที่ยากจนลง ก็ยังทำตัวฟุ้งเฟ้อเหมือนเดิม ซึ่งเรียกว่า "จมไม่ลง"

ลักษณะอุปนิสัยประการนี้เป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนาประเทศ ตัวอย่างเช่น ชาวไร่ชาวนาจะยอมขายไร่ขายนา ขายวัวขายควาย หรือยอมไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อจัดงานบวชหรืองานแต่งงาน  โดยไม่คำนึงถึงฐานะของตน ไม่ต้องการให้ใครมาดูถูกดูหมิ่นว่าไม่มีปัญญาจัดงานอย่างมีหน้ามีตาให้ทัด เทียมผู้อื่น ผลลัพธ์ก็คือ คนไทยเป็นหนี้เป็นสินมากขึ้น และยิ่งยากจน

7. รักอิสระเสรี  คนไทยมีอุปนิสัยที่รักอิสระเสรี รักความเป็นไท ไม่ยอมอยู่ในระเบียบ ดังมีคำกล่าวว่า “ทำได้ตามใจคือคนไทยแท้” อันมีส่วนทำให้คนไทยขาดระเบียบวินัย ไม่ยึดถือระเบียบวินัย ส่งผลให้การพัฒนาประเทศขาดประสิทธิภาพด้วย

8. ไม่ชอบค้าขาย ในอดีตคนไทยเชื่อว่าอาชีพที่ได้รับการยกย่องคือรับราชการ ดังที่มีคำกล่าวกันว่า “สิบพ่อค้าไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง” คนไทยจึงมีลักษณะอุปนิสัยที่ไม่ชอบค้าขาย เพราะการค้าขายต้องเอาอกเอาใจลูกค้า การค้าขายจึงตกอยู่ในมือของคนชาติอื่น เช่น จีน และคนอินเดีย การค้าขายมีความเกี่ยวพันกับระบบเศรษฐกิจทุกระดับตั้งแต่ระดับชาติจนถึง ระดับหมู่บ้าน ถ้าหากการค้าขายของคนไทยไม่เข้มแข็งเพียงพอย่อมเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ประเทศ ทุกวันนี้ พ่อค้านักธุรกิจได้เข้ามามีอำนาจและอิทธิพลในประเทศมากขึ้น แต่ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยประการนี้ก็ยังคงมีปรากฏให้เห็น โดยเฉพาะในกลุ่มข้าราชการ

9. เอาตัวรอดและโยนความผิดให้ผู้อื่น คนไทยมีอุปนิสัยเอาตัวรอดซึ่งรวมทั้งการชอบโยนความผิดให้ผู้อื่น เห็นได้จากการชอบหลบเลี่ยงการงานไปวันหนึ่ง ๆ หรือพฤิตกรรมที่เรียกว่า “ขายผ้าเอาหน้ารอด” กระทำตัวเป็นศรีธนญชัย ลื่นไหล ไหลรื่นไปเรื่อย ๆ ทำนอง "ปลาไหล" หรือ "ปลาไหลติดสเก็ต" หรือ "มะกอกสามตะกร้า ปาไม่ถูก" ยิ่งไปกว่านั้น หากกระทำสิ่งใดแล้วล้มเหลวจะโยนความผิดให้ผู้อื่นหรือโทษผู้อื่นแทน ดังคำกล่าวที่ว่า "รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง" หรือ "ดีฝากเมีย เสียฝากเพื่อน" หรือตามตัวอย่างที่ว่า ถ้าตนเองเดินไปชนกระโถนล้ม ก็จะโยนความผิดว่ามีคนวางกระโถนเกะกะขวางทาง ทั้งที่เป็นความผิดของตัวเองที่เดินซุ่มซ่าม

การพัฒนาประเทศจึงหา "เจ้าภาพ" หรือผู้รับผิดชอบที่แท้จริงได้ยาก เพราะอุปนิสัยคนไทยชอบซัดทอดกันหรือโยนกันไปเรื่อย ๆ ตรงกันข้าม ถ้ากระทำสิ่งใดแล้วมีความดีความชอบเกิดขึ้น ก็จะมีคนเป็นจำนวนมากเข้ามาขอรับความดีความชอบนั้น เข้าทำนอง "รับแต่ชอบ ไม่ยอมรับผิด" หรือ "เสนอหน้ารับความชอบ" หรือ "ขอมีเอี่ยวด้วย"

10. ไม่ชอบรวมกลุ่มและขาดการร่วมมือประสานงาน  คนไทยมีลักษณะอุปนิสัยที่ไม่ชอบการรวมกลุ่มหรือทำงานแบบทีม แต่ชอบทำงานเดี่ยว ดังที่เรียกกันว่า "ฉายเดี่ยว" (one man show) หรือ "ข้ามาคนเดียว" กล่าวกันว่า คนไทยมีความสามารถเฉพาะตัวสูงมาก โดยความสามารถของคนไทยจะเปี่ยมล้นเมื่อทำงานคนเดียว แต่ถ้าเมื่อใดต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น เมื่อนั้นความสามารถจะลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียว ที่เป็นเช่นนี้เพราะเกิดการชิงดีชิงเด่น แย่งกันเก่ง ไม่ยอมให้ใครเกินหน้าเกินตา ไม่ยอมก้มหัวให้กัน อิจฉาริษยาและขัดขวางซึ่งกันและกัน สรุป ถ้ารวมกลุ่มกันเมื่อใดจะเกิดปัญหาหรือความแตกแยกขึ้นไม่ช้าก็เร็ว ตรงกับคำกล่าวที่ว่า “มากหมอมากความ” "รวมกันตายหมู่ แยกกันตายเดี่ยว" หรือ "สามัคคีคือพัง"

การรวมกลุ่มที่มีขึ้นส่วนใหญ่จะเป็น การรวมกลุ่มแบบชั่วคราวและหละหลวมในงานพิธีหรือในงานรื่นเริง เป็นต้นว่า การรวมกลุ่มกันในงานบวช งานสงกรานต์ และการลงแขกหรือขอแรง เมื่องานเสร็จก็เลิกราแยกย้ายกันไป และเป็นที่น่าสังเกตว่าหากมีการรวมกลุ่มเกิดขึ้น กลุ่มของคนไทยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ขาดอุดมการณ์หรือขาดจิตสำนึกของการรวม กลุ่มเพื่อส่วนรวม แต่มุ่งรวมกลุ่มเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก เช่น การรวมกลุ่มตั้งเป็นสหกรณ์เพื่อหวังกู้เงินยืมเงิน หรือการรวมกลุ่มเพื่อตั้งพรรคการเมือง จะมีลักษณะเป็น "กลุ่มการเมือง" หรือ "กลุ่มกวนเมือง" มากกว่าพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์เพื่อส่วนรวม

ลักษณะอุปนิสัยที่ไม่ชอบการรวมกลุ่ม ดังกล่าวนี้มีความหมายใกล้เคียงกับมีลักษณะอุปนิสัยที่ไม่ชอบร่วมมือประสาน งานกับผู้อื่นจึงนำมารวมไว้ด้วยกัน

ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่ไม่ชอบรวม กลุ่มและขาดการร่วมมือประสานงานนี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในแง่ ที่การพัฒนาใด ๆ เพื่อสังคมหรือส่วนรวมไม่อาจเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีการรวมกลุ่ม ดังคำกล่าวที่ว่า “ถ้าไม่มีกลุ่ม ก็ไม่มีงานพัฒนา" (no group, no development) และยิ่งการรวมกลุ่มมั่นคงเข้มแข็งมากเพียงใด การพัฒนาประเทศก็ยิ่งเข้มแข็งเป็นเงาตามตัว ในเวลาเดียวกัน การพัฒนาประเทศเป็นงานที่ต้องร่วมมือกันหลาย ๆ ฝ่าย เป็นงานของหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ถ้าขาดความร่วมมือประสานงานกันอย่างจริงจังแล้ว ย่อมประสบความสำเร็จได้ยาก เห็นได้จากบ่อยครั้งที่การประสานงาน กลับกลายเป็น "การประสานงา"

11. ขาดการวางแผน คนไทยขาดการวางแผนอย่างเป็นทางการ ชอบมองโลกในแง่ดี โดยไม่เกรงว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อมีปัญหาใดเกิดขึ้นก็แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในแต่ละครั้งไปตามสถานการณ์ ซึ่งบางครั้งก็เป็นแบบ “สุกเอาเผากิน” ผู้ที่วางแผนในการทำงานจะถูกมองไปว่าเป็นตัวปัญหา คิดมาก หรือวิตกกังวลเกินไป ดังนั้น การทำงานใด ไม่จำเพาะแต่งานพัฒนาเท่านั้น ถ้าขาดการวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว จะทำให้การทำงานไม่มีทิศทางไม่รอบคอบ หละหลวม และล้มเหลวได้ง่าย

12. ชอบการพนัน เหล้า และความสนุกสนาน คนไทยมีลักษณะอุปนิสัยที่เปรียบได้กับของใช้ติดตัว 3 อย่าง ได้แก่ ถ้วย ขวด และกลอง

ถ้วย หมายถึงลักษณะอุปนิสัยที่ชอบการพนันขันต่อ ถ้วยเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่ใช้ในการเล่นการพนัน โดยเฉพาะไฮโล และยังหมายความรวมไปถึงการพนันชนิดอื่นด้วย เป็นต้นว่า ถั่ว ไพ่ กัดปลา ตีไก่ ชนวัว แข่งม้า และมวย กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าคนไทยชอบการ "เสี่ยงโชค" และชอบ “หวังน้ำบ่อหน้า”

ขวด หมายถึงลักษณะอุปนิสัยที่ชอบดื่มเครื่องดองของเมา ไม่ว่าจะเป็นเหล้า สาโท กระแช่ หรือเบียร์ หรือเครื่องดื่มมึนเมาอื่น โดยเรียกนักดื่มว่า “คอทองแดง” เครื่องดื่มประเภทนี้ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในงานรื่นเริงต่าง ๆ คนไทยนั้นดีใจก็ดื่มเหล้า เสียใจก็ดื่มเหล้า อยู่เฉย ๆ ไม่มีอะไรทำก็ดื่มเหล้า หรือดื่มเหล้าเพียง 2 เวลา คือ เวลาฝนตกกับเวลาฝนไม่ตก การดื่มก็มิใช่เป็นการดื่มพอเป็นพิธีหรือเพื่อสังคม แต่บางครั้งจะดื่มกันจนเมามาย ดังที่เรียกกันหลายอย่างว่า “ดื่มหัวราน้ำ” “ไม่เมาไม่เลิก” หรือ “กินเผื่อหมา” หรือ "จิบนิด ๆ พออาเจียน" เป็นต้น

ส่วนกลอง หมายถึงลักษณะอุปนิสัยที่ชอบสรวลเสเฮฮา ชอบสนุกสนาน รื่นเริง และชอบการเลี้ยงดูกันอย่างเต็มที่ดื่มกินและเที่ยวผู้หญิงด้วย ดังที่เรียกกันว่า “เลี้ยงดูปูเสื่อ” ที่จัดขึ้นในระหว่างญาติสนิทมิตรสหาย ทั้งนี้เพราะคนไทยมองโลกในแง่สวยงาม ชอบเล่นและทำงานไปพร้อมกัน มิใช่งานเป็นงานหรือเล่นเป็นเล่น การมีลักษณะอุปนิสัยที่ชอบสรวลเสเฮฮานี้มีส่วนทำให้คนไทยไม่ตั้งใจประกอบ อาชีพอย่างจริงจัง แต่มุ่งทำงานเพื่อให้พอมีพอกินหรือเพื่อให้อยู่รอดไปในแต่ละวันโดยไม่คิดถึง อนาคตมากนักซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า “ตำข้าวสารกรอกหม้อ”

ลักษณะอุปนิสัยสิ่งเหล่าย่อมเป็น อุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการที่คนไทยหลงมัวเมาในอบายมุขซึ่งล้วนมีทุกข์และโทษมากกว่าผลดี และการไม่เอาจริงเอาจังในการทำงาน เพราะใจมัวแต่ไปคิดถึงอบายมุขและความสนุกสนานดังกล่าว อันถือได้ว่าเป็นลักษณะที่ภูมิคุ้มกันสิ่งยั่วเย้าทั้ง 3 อย่างบกพร่อง

13. เกียจคร้าน คนไทยมีลักษณะอุปนิสัยเกียจคร้าน ขี้เกียจ ชอบความสะดวกสบาย ไม่ชอบทำงานหนัก ขาดความมุมานะ อดทน การทำงานของคนไทยเข้าทำนอง "หลีกเลี่ยงงานหนักคอยสมัครงานสบาย" เมื่อพบปัญหาอุปสรรคก็ท้อถอย ไม่อดทน ไม่ต่อสู่อย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยจะทำเป็นแข็งขันเฉพาะตอนเริ่มแรกเท่านั้น เรียกว่า "ม้าตีนต้น" หรือ "พวกแผ่วปลาย"

คนไทยจะทำงานเมื่อมีคนคอยคุม ถ้าไม่มีใครคุมก็จะหลบหลีกเข้าทำนอง "แมวไม่อยู่หนูระเริง" การทำงานด้วยความสำนึกในหน้าที่ด้วยจิตใจรักงานมีให้เห็นไม่มากเท่าที่ควร มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ชอบยกเอาหลักธรรมทางพุทธศาสนามากล่าวอ้างเพื่อปกปิด ความเกียจคร้าน โดยเฉพาะสันโดษและมักน้อย ทั้งที่เนื้อแท้ของหลักธรรมดังกล่าวมิได้สั่งสอนเช่นนั้น

การพัฒนาประเทศเป็นงานกว้างใหญ่ไพศาล ทั้งยังเผชิญกับปัญหาอุปสรรค ความยากลำบาก และต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ถ้าประชาชนไม่ทำงานหนัก ไม่มุมานะ ไม่อดทน ไม่ขยันและไม่มีความเพียรแล้ว ก็ยากที่จะสำเร็จได้

14. ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง คนไทยไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ชอบรักษาสถานภาพเดิม และยังต่อต้านการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่ไปกระทบกระเทือนสถานะและผลประโยชน์ของตน โดยเฉพาะคนไทยในชนบทยังชอบทำอะไรที่สืบต่อกันมาแต่ดั้งเดิม และมีไม่น้อยที่คนภายนอกมองว่างมงาย แต่คนไทยก็ยังทำต่อไปโดยไม่สนใจเหตุผล ไม่ตั้งข้อสงสัย เช่น เห็นกันมานานว่า พ่อแม่ปู่ย่าตายายมีลูกหลานหลายคนก็ทำตามโดยไม่สนใจการวางแผนครอบครัว หรือแม้แต่การประกอบอาชีพทำนาปลูกข้าว พ่อแม่ปู่ย่าตายายทำมาอย่างไรก็จะทำอยู่เช่นเดิมโดยไม่คิดปรับปรุงเปลี่ยน แปลงให้ดีขึ้น

ลักษณะอุปนิสัยที่ไม่ชอบการเปลี่ยน แปลงและต่อต้านการเปลี่ยนแปลงจะมีส่วนทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปด้วยความยาก ลำบาก เนื่องจากการรับและนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปจะถูกต่อต้าน

15. เห็นแก่ตัวและเอาแต่ได้  คนไทยมีลักษณะอุปนิสัยเห็นแก่ตัวและเอาแต่ได้ โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม ชอบเอาเปรียบและกินแรงผู้อื่น ไม่ยอมเสียสละ เสแสร้ง ต่าง ๆ นานาเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ ตัวอย่างเช่น ตัวเองมิได้เป็นคน “ยากจน” แต่แสร้งทำตัวเป็นคน “อยากจน” เพื่อจะได้รับสิทธิและผลประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงคนยากจนจริง ๆ หรือในกรณีร่วมแรงร่วมใจกันทำงานยกของหนัก ก็จะแกล้งแสดงออกในลักษณะเสียงดัง เอะอะ ๆ ทำเป็นขะมีขะมันให้ความร่วมมือร่วมแรงอย่างเต็มที่ แต่แท้ที่จริงกลับไม่ยอมออกแรง อันเป็นลักษณะของ "หน้าแดง แรงไม่ออก" เพื่อกินแรงและเอาเปรียบผู้อื่น นอกจากนี้ คนไทยยังไม่ยอมขาดทุน ชอบทุจริตประพฤติมิชอบ กินนอกกินใน กินเล็กกินน้อย และทำอะไรจะหวังสิ่งตอบแทนเสมอ เมื่อไม่ได้ก็พร้อมที่จะตัดความสัมพันธ์ได้ตลอดเวลา ในเวลาเดียวกัน คนไทยยังมีนิสัยเฉโก คือฉลาดแกมโกง และนักวิชาการบางคนถึงกับกล่าวว่า คนไทยมีนิสัย “ขี้ขโมย” อีกด้วย

ดังนั้น การพัฒนาประเทศจึงเป็นไปอย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย การรั่วไหลมีตลอดทางและตลอดเวลาถึงกับบางคนกล่าวเปรียบเทียบไว้ในอดีตว่า เงินที่รัฐบาลอนุมัติให้ใช้สำหรับการพัฒนาประเทศ เริ่มแรกเมื่ออยู่ในคลังที่ส่วนกลางมีเต็มจำนวน แต่เมื่อมาถึงประชาชนจะเหลือไม่เต็มจำนวน ขาดหายไประหว่างทางมากโดยกล่าวว่า เงินงบประมาณดังกล่าวเปรียบเสมือนไอศกรีมแท่ง เมื่อเอาออกจากตู้แช่แข็งหรือตู้เย็นจะมีอยู่เต็มแท่งดี แต่ระหว่างทางผ่านรัฐมนตรีประจำกระทรวงและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเลขานุการ ทำให้ไอศกรีมละลายไปบางส่วน พอผ่านข้าราชการประจำในส่วนกลาง เช่น ปลัดกระทรวง และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็ยิ่งละลายหายไปอีก เมื่อมาถึงส่วนภูมิภาคเข้าจังหวัด ผ่านข้าราชการในจังหวัดและอำเภอ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ประกอบกับอากาศร้อนอบอ้าวมาก ไอศกรีมก็ยิ่งละลายเร็วขึ้น ไอสกรีมจะถูกส่งลงไปยังกำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในระดับตำบล และหมู่บ้านโดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของนายอำเภอและปลัดอำเภอ ไอศกรีมก็ยังคงละลายอยู่เช่นเดิมแม้ไอศกรีมจะตกไปถึงมือของหน่วยการปกครอง ท้องถิ่น และท้ายที่สุดไอศกรีมก็จะตกไปถึงมือประชาชนซึ่งบางครั้งเหลือแต่ไม้ไอศกรีม ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่เห็นแก่ตัวและเอาแต่ได้ประการนี้เป็นอุปสรรคของ การพัฒนาประเทศเนื่องจากงบประมาณที่ส่งไปนั้น รั่วไหลและหายไประหว่างทางมากมาย ทำให้ประชาชนเดือดร้อนและประเทศชาติเสียหาย ถาวรวัตถุต่าง ๆ เช่น ถนน ฝาย บ่อน้ำ ที่สร้างขึ้นจะไม่ได้มาตรฐานไม่มั่นคงถาวร ทั้งนี้เพราะการมีอุปนิสัยที่เอาแต่ได้หรือการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่า ส่วนรวม

16. ลืมง่าย  คนไทยมีอุปนิสัยลืมง่าย ให้อภัยง่าย และเห็นอกเห็นใจ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพุทธศาสนาในเรื่องเมตตากรุณา

ลักษณะอุปนิสัยประการนี้เป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนาประเทศในแง่ที่ว่า เมื่อมีผู้กระทำความผิด โกงชาติบ้านเมือง คนไทยก็ไม่จดจำและไม่นำมาเป็นบทเรียน ไม่ต่อต้านอย่างจริงจังและต่อเนื่อง กลับให้อภัยหรือยกโทษให้ ดังนั้น ผู้กระทำความผิดก็อาจหวนกลับมากระทำความผิดซ้ำอีก

17. ชอบอภิสิทธิ์ คนไทยมีนิสัยชอบอภิสิทธิ์ สิทธิพิเศษ มีเส้นสาย ผู้ใดมีหรือได้รับอภิสิทธิ์จะรู้สึกภาคภูมิใจว่าเก่งกว่าเหนือกว่าผู้อื่น เช่น การไปติดต่อราชการ ถ้ามีข้าราชการคนใดมาต้อนรับหรือให้บริการเป็นพิเศษเหนือกว่าประชาชนทั่วไป นอกจากทำให้ตนเองได้รับบริการที่ลัดคิวและรวดเร็วกว่าคนอื่นแล้ว ยังรู้สึกภาคภูมิใจอีกด้วย

ลักษณะอุปนิสัยประการนี้ได้สร้างความ เหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น คนรวยหรือผู้มีฐานะที่มีอภิสิทธิ์ ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาประเทศมากกว่าคนจน ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนมีให้เห็นชัดเจนขึ้น

18. ฟุ่มเฟือย คนไทยมีลักษณะอุปนิสัยที่ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่ประหยัดและอดออม บางคนทำตัวเป็นพวก “คอสูง” หรือ “รสนิยมสูง แต่รายได้ต่ำ”

ลักษณะอุปนิสัยนี้เป็นอุปสรรคต่อการ พัฒนาประเทศในแง่ที่คนไทยยิ่งยากจนมากขึ้นเนื่องจากเป็นหนี้มากขึ้น เพราะนิยมใช้สินค้าที่ใช้นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น อาหารและเสื้อผ้าราคาแพง ก็ยิ่งทำให้ประเทศชาติและประชาชนเป็นหนี้มากขึ้น

19. ไม่รู้แพ้รู้ชนะ ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่ไม่รู้จักแพ้ชนะปรากฏให้เห็นทั่วไป โดยเฉพาะในการแข่งขันกีฬา ผู้ได้รับชัยชนะอาจ “กระพือปีก” เยอะเย้ย หรือเย้ยหยัน ดูถูกผู้แพ้ ส่วนผู้แพ้จะไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ ไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬา เข้าทำนอง “กีฬาแพ้คนไม่แพ้” บางครั้งหาหนทาง “แก้เผ็ด” โดยถือว่า “วันพระไม่ได้มีหนเดียว”

ลักษณะอุปนิสัยประการนี้เป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนาประเทศเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายหมกมุ่นอยู่กับการแก้ แค้นกันในเรื่องส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม ทำให้เกิดความวุ่นวาย เสียเวลา และแตกความสามัคคี

20. ไม่ยกย่องผู้หญิง คนไทยมีอุปนิสัยที่ไม่ยกย่องผู้หญิงมากเท่าที่ควร ทั้งที่ผู้หญิงในประเทศไทยมีไม่น้อยกว่าผู้ชาย แต่คนไทยยกย่องผู้ชาย เห็นได้จากผู้นำในทุกระดับส่วนมากจะเป็นผู้ชาย อีกทั้งการส่งเสริมบุคคลให้เข้าสู่ตำแหน่งสำคัญก็จะเป็นการส่งเสริมผู้ชาย เป็นหลัก

อุปนิสัยประการนี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในแง่ที่ทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นหญิงเป็นจำนวนมากไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

21. มีจิตใจคับแคบ ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยประการนี้ครอบคลุมถึงการมองโลกในแง่ร้าย หวาดระแวง วิตกกังวลเกินกว่าเหตุ รวมตลอดทั้งการเห็นแก่ตัว สกัดกั้น กีดกัน หรือกันท่าผู้อื่นด้วยเกรงว่าจะเด่นกว่าดีกว่าตนเองด้วย เข้าทำนอง ”ไม่มีใครอยากเห็น เราเด่นเกิน” เป็นลักษณะอุปนิสัยที่ไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมรับการโต้แย้งหรือคำตำหนิติเตียนจากผู้อื่น ถ้าหากมีขึ้นก็จะโกรธและผูกใจเจ็บ บ่อยครั้งที่การรับฟังความคิดเห็นเป็นเพียงการ “ได้ยิน” และ "ฟัง" เข้าหูพอเป็นพิธีเท่านั้น มิได้ถือเป็นเรื่องจริงจังและให้ความสำคัญมาก ฉะนั้นการรับฟังดังกล่าวนี้จึงเหมือนกับการ “ได้ยิน” แต่ไม่สนใจเท่านั้น นอกจากนี้การออกปากให้ความช่วยเหลือหรือพูดว่าสนับสนุนส่วนใหญ่จะเป็นการ ช่วยเหลือสนับสนุนแต่ปากเท่านั้น

ลักษณะอุปนิสัยประการนี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในแง่ที่ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย และไม่มีใครอยากเข้ามาร่วมทำงานกับผู้ที่มีจิตใจคับแคบหรือเห็นแก่ตัว

22. ชอบสร้างอิทธิพล คนไทยมีอุปนิสัยที่ชอบสร้างอิทธิพล สร้างอาณาจักร และชอบแสดงความเป็นเจ้าของ ลักษณะอุปนิสัยเช่นนี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในส่วนที่ความคิดและวิธีการในการพัฒนาประเทศถูกผูกขาดเฉพาะกลุ่มและ เพื่อประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ประชาชนจะไม่ได้รับประโยชน์ ความคิดใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ยาก ทั้งยังขัดกับหลักประชาธิปไตยและหลักพุทธศาสนาที่ไม่สนับสนุนให้สะสมมากจน เกินพอความจำเป็น

23. ชอบประนีประนอม คนไทยมีลักษณะอุปนิสัยที่ชอบการประนีประนอม ชอบการผสมกลมกลืน เป็นลักษณะที่แสดงถึงการ "พบกันครึ่งทาง" "แทงกั๊ก" หรือ “ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง” ลักษณะอุปนิสัยเช่นนี้ทำให้คนไทยสามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ ทุกยุคทุกสมัย ประดุจน้ำที่สามารถแปรไปตามลักษณะของภาชนะต่าง ๆ ได้ง่าย กล่าวคือ ถ้านำน้ำไปเทใส่ในถาดสี่เหลี่ยมหรือถาดกลม น้ำก็จะมีลักษณะเป็นไปตามลักษณะของถาดสี่เหลี่ยนหรือถาดกลมนั้น

ลักษณะอุปนิสัยประการนี้เป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนาประเทศในแง่ที่การพัฒนาประเทศหรือการพัฒนาใด ๆ จะไม่ได้ผลอย่างชัดเจน ถ้าตราบใดที่อุปนิสัยของคนไทยยังเวียนว่ายอยู่กับความเป็นกลาง พ่อค้าคนกลาง หรือผู้นำที่เป็นกลาง หรือแทงกั๊ก พบกันครึ่งทางตลอดมา ตราบนั้นผลของการพัฒนาก็จะออกมากลาง ๆ ไม่ดีเด่น เป็นไปอย่างล่าช้า ไม่ทันต่อเหตุการณ์ และได้ผลไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ได้ผลเพียงครึ่งเดียว ไม่ท้าทาย ไม่กล้าได้กล้าเสีย และไม่กล้าเสี่ยง

24. ไม่ตรงต่อเวลา เป็นลักษณะอุปนิสัยที่ไม่ให้ความสำคัญกับเวลา การไม่ตรงต่อเวลา การผลัดผ่อนเรื่องเวลา ไม่ห่วงเวลาในรายละเอียดเป็นชั่วโมงเป็นนาที เพียงแค่ดูแดดก็รู้ว่าบ่ายหรือเช้า ดูดาวก็รู้ว่าค่ำรุ่งแค่ไหน ซึ่งก็เพียงพอแล้ว ลักษณะอุปนิสัยประการนี้อาจมาจากความเชื่อที่ยึดถือตนเองเป็นหลัก ส่วนเวลาไม่ใช่เรื่องสำคัญ ไม่เพียงเท่านั้นอาจมองไปได้อีกว่า คนที่มาสายไม่ตรงเวลา ถือว่าเป็นคนใหญ่โตมีอำนาจ เพราะแม้มาผิดเวลาก็ยังมีคนรออยู่เช่นเดิม เช่น การมาสายของผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้หญิงบางคน เพราะรู้ดีว่าถึงอย่างไรชาวบ้านหรือผู้ชายก็ยังคงรออยู่ เป็นอาทิ

ลักษณะอุปนิสัยที่ไม่ตรงต่อเวลานี้ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่มีอุปนิสัยประการนี้จะไม่ได้รับความเชื่อถือ ขาดไว้วางใจ และถูกมองว่าเป็นคนขาดความรับผิดชอบ การนัดหมายหรือกำหนดเป้าหมายร่วมกันกับผู้อื่น จะคลาดเคลื่อนไปหมด

25. ไม่รักษาสาธารณสมบัติ  เป็นลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่ไม่สนใจทำนุบำรุงหรือรักษาของส่วนรวม และไม่ยึดถือหลักที่ว่า สาธารณะสมบัติแม้ไม่ใช่สิ่งของส่วนตัว แต่ก็เป็นสิ่งที่ควรช่วยกันรักษา ถ้าไม่ช่วยรักษาก็ไม่ควรทำลาย ที่ผ่านมามีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ทำลายสาธารณะสมบัติทั้งที่ไม่ตั้งใจและไม่ ตั้งใจ เช่น ทำลายโทรศัพท์สาธารณะ สลักชื่อไว้ตามกำแพงวัด และทิ้งขยะมูลฝอยลงในแหล่งน้ำ

ลักษณะอุปนิสัยประการนี้ทำให้เสียหาย ต่อการพัฒนาประเทศ เห็นตัวอย่างได้จาก สาธารณะสมบัติที่สร้างขึ้นจะอยู่ได้ไม่นาน ทำให้เปลืองงบประมาณและแรงงานที่ต้องมามาใช้ในการซ่อมแซมหรือสร้างใหม่ อีกทั้งเป็นการที่ทำให้ผู้อื่นหมดโอกาสที่จะได้ใช้สาธารณะสมบัตินั้นไปด้วย

26. ชอบพูดมากกว่าทำ เป็นลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่ชอบพูดมากกว่าทำ ซึ่งครอบคลุมทั้งการชอบพูดมากกว่าเขียน และชอบติเพื่อทำลาย ตัวอย่างลักษณะอุปนิสัยประการนี้เห็นได้จากการประชุมปรึกษาหารือกัน โดยการประชุมจะเป็นการพูดหรือคุยหรือการระบายอารมณ์กัน ปะทะคารมกัน พูดไม่รู้จักจบ เข้าทำนอง “ผีเจาะปาก” แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องการแบ่งงานกันทำจะมีคนช่วยทำน้อยมาก ขณะเดียวกัน จะมี "การติติงเพื่อทำลาย" หรือใช้เหตุผลส่วนตัวมากกว่า “ติเพื่อก่อ” หรือเพื่อสร้างสรร และขณะที่ตินั้นก็มิได้มีข้อเสนอที่ดีกว่าขึ้นมาแทน เข้าทำนอง ขอให้ได้ติ หรือ “ค้านลูกเดียว”

ลักษณะอุปนิสัยประการนี้เป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนาประเทศ ทำให้ผู้ที่ทำงานจริง ๆ หมดกำลังใจ ไม่คิดที่จะติดต่อร่วมมือทำงานด้วย และปลีกตัวออกห่าง การพัฒนาประเทศจะไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร ถ้ามีนักพูดหรือนักช่างพูดเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ใช่นักปฏิบัติหรือทำงานไม่เป็น นักช่างพูดดังกล่าวจะอาศัยความสามารถในการพูดเก่งซึ่งเป็นปมเด่นของตนเพื่อ ก้าวไปสู่ตำแหน่ง

27. ยกย่องวัตถุ หรือเรียกว่า วัตถุนิยม เป็นลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่นิยมเงินตรา โดยถือว่า “เงินคือพระเจ้า” หรือเชื่อว่า “เหล็กที่แข็ง ง้างด้วยเงินอ่อนทันใด” รวมทั้งการยกย่องและคบหาสมาคมกับคนที่มีฐานะร่ำรวย โดยไม่สนใจว่าความร่ำรวยได้มาจากความสุจริตหรือไม่ ดังคำกล่าวว่า "มีเงินเป็นน้อง มีทองเป็นพี่" นอกจากนี้ ยังเป็นอุปนิสัยที่นิยมวัตถุหรือของใช้ที่ฟุ่มเฟือย เช่น คนในชนบทชอบใช้สินค้าจากในเมือง ส่วนคนในเมืองชอบใช้สินค้าจากต่างประเทศ และประกวดประชันความร่ำรวยกันด้วยจำนวนเงิน ที่ดินทรัพย์สิน หรือการแต่งกาย

ลักษณะอุปนิสัยนี้เป็นอุปสรรคต่อการ พัฒนาประเทศเพราะถ้าการพัฒนาประเทศมุ่งเน้นด้านวัตถุและละเลยการพัฒนาด้าน จิตใจ เช่น พัฒนาด้านการศึกษา คุณธรรม และจริยธรรม ย่อมทำให้คนไทยแล้งน้ำใจ ขาดน้ำใจ หรือขาดจิตใจเสียสละเพื่อส่วนรวม แต่ต้องตกเป็นทาสของเงินตราและวัตถุมากขึ้นตามแนวทางของทุนนิยม และยังเป็นหนี้ต่างชาติอีกด้วย

28. ชอบของฟรี  เป็นลักษณะอุปนิสัยของคนที่ชอบสิ่งจูงใจหรือชอบของฟรีของแถม ชอบการรอรับหรือการสงเคราะห์โดยไม่ยอมพึ่งตนเอง

ลักษณะอุปนิสัยประการนี้เป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนาประเทศในแง่ที่ทำให้คนไทยทำสิ่งใดเพราะหวังสิ่งตอบแทนเท่านั้น ถ้าไม่มีการแจกการแถมหรือไม่มีของฟรีก็จะไม่ให้ความร่วมมือ หรือไม่ร่วมมืออย่างเต็มที่ เช่นนี้ขัดกับหลักการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นในเรื่องการทำงานด้วยจิตสำนึก เพื่อส่วนรวมและการเสียสละ

29. สอดรู้สอดเห็น คนไทยมีลักษณะอุปนิสัยที่ชอบสอดรู้สอดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องไร้สาระหรือเรื่องส่วนตัวของผู้อื่น ดังที่มีคำว่า “ไทยมุง” เกิดขึ้นมานาน นอกจากนี้ เมื่อใดที่มีประกาศการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง สิ่งที่คนไทยสนใจก็คือดูว่าตัวเองได้เลื่อนตำแหน่งกี่ขั้น แล้วก็จะดูของเพื่อนฝูงหรือของศัตรูว่าได้กี่ขั้น ถ้าได้น้อยกว่าตัวเองก็จะรู้สึกสะใจ สมน้ำหน้าเพื่อน แต่ถ้าตัวเองได้เลื่อนขั้นน้อยกว่าก็จะแสดงความไม่พอใจ บางคนถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ เป็นต้น

ลักษณะอุปนิสัยประการนี้เป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนาประเทศ โดยเป็นรากฐานของการอิจฉาริษยากัน ทำให้จิตใจไม่สงบ และย่อมส่งผลการทำงาน เสียเวลาทำงานหรือนำเวลาไปใช้ในเรื่องที่ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร

30. ขาดจิตสำนึกและอุดมการณ์เพื่อชาติบ้านเมือง เป็นลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่คิดเฉพาะความอยู่รอดของตนเองเท่านั้นโดยไม่ คิดถึงชาติบ้านเมือง โดยคิดอยู่เสมอว่า "ประเทศชาติ ไม่ใช่ของเขาคนเดียว" เมื่อทำกิจการใดจะคิด "มุ่งแสวงหากำไรเกินควร" หรือกำไรสูงสุดเสมอ และแม้เป็นเศรษฐี เมื่อประชุมกันครั้งใดก็คิดแต่จะเอาเปรียบขูดรีดคนยากจน ในทำนองที่ว่า "ไม่มีน้ำตาของคนยากจน ในที่ประชุมของเศรษฐี" ลักษณะอุปนิสัยประการนี้เป็นลักษณะของ "กาฝากสังคม" หรือ "ปลิงดูดเลือดสังคม" คนไทยผู้ใดขาดจิตสำนึกและอุดมการณ์ดังกล่าวนี้ จะมีพฤติกรรมในลักษณะดังนี้ โกงชาติโกงแผ่นดิน ฉ้อราษฎร์บังหลวง ค้ากำไรเกินควร ขูดรีดประชาชน ค้ายาเสพติด ค้าของหนีภาษี หรือค้ามนุษย์ เป็นต้น ลักษณะเหล่านี้ตรงข้ามกับลักษณะของ "มนุษย์พันธุ์ใหม่ที่สังคมไทยปรารถนา" นั่นก็คือ "ลูกผู้ชายหรือลูกผู้หญิงตัวจริงที่มีจิตสำนึกและอุดมการณ์ที่เสียสละและทำ ประโยชน์เพื่อชาติบ้านเมือง"

ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยประการนี้เป็น อุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศเพราะทำให้การทำงานใด ๆ จะมุ่งไปที่ประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น ไม่คิดถึงประโยชน์ของส่วนรวม จะนิ่งเฉยหรือเมินเฉยต่อความทุกข์ยากของประชาชนส่วนรวมและประเทศชาติ




สรุป

การพัฒนาประเทศไม่ประสบความสำเร็จ เท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจลักษณะอุปนิสัยของคนไทยว่ามีบางส่วนที่เป็น อุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ และที่ยังไม่มีการแยกแยะอธิบายให้เห็นอย่างชัดเจน ลักษณะอุปนิสัยทั้ง 30 ประการข้างต้นนี้ แม้จะมีอยู่ในคนไทยที่อาศัยอยู่ในเมืองและในชนบท แต่ไม่ปรากฏให้เห็นในคนไทยทุกคนทุกเวลาหรือทุกสถานที่ การปรากฏอาจชัดเจนหรือไม่ชัดเจนก็ได้ ลักษณะอุปนิสัยบางประการอาจใกล้เคียงกันหรืออาจขัดกันก็ได้เช่นกัน การจัดแบ่งลักษณะอุปนิสัยของคนไทยอาจมีมากหรือน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาศึกษาของผู้เขียนแต่ละคน อย่างไรก็ตาม อุปนิสัยเหล่านี้น่าจะมากเพียงพอที่จะเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนและการ กระทำหรืองดเว้นการกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนและส่งผลถึงการพัฒนาประเทศได้

อาจปฏิเสธได้ยากถ้ามีผู้ใดกล่าวว่า ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยในบทความนี้เป็นการพิจารณาศึกษาเฉพาะในแง่ลบเท่านั้น ยังมีลักษณะอุปนิสัยของคนไทยในแง่บวกจำนวนมากมายทำไมไม่นำมาเขียนไว้ด้วย เช่นนี้ ทำให้ผู้เขียนเกิดความวิตกกังวลไปได้ว่าผู้อ่านที่เป็นคนไทยด้วยกันจะไม่ เข้าใจเจตนาของการเขียนครั้งนี้ ในการเขียนบทความนี้ผู้เขียนได้ระลึกอยู่ 2 ประการ ประการแรก การพิจารณาศึกษาลักษณะอุปนิสัยในแง่ลบข้างต้นสามารถนำไปเป็นแนวทางในการ สร้างหรือสนับสนุนลักษณะอุปนิสัยในแง่บวกเพื่อนำไปต่อต้านถ่วงดุลกับลักษณะ อุปนิสัยในแง่ลบได้ อีกประการหนึ่ง การพิจารณาศึกษาและเรียนรู้ให้เข้าใจลักษณะอุปนิสัยของคนไทยอื่น ๆ ให้มากที่สุดเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศและพัฒนาคนดังที่ได้ทำในบทความ นี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าจะให้ความสำคัญและน่าวิตกกังวลมากกว่าเรื่องที่ผู้อ่าน บางคนไม่เข้าใจ สมดังคำกล่าวของขงจื๊อที่ว่า “จงอย่าวิตกกังวลว่าผู้อื่นจะไม่เข้าใจท่าน แต่จงวิตกกังวลว่าท่านเข้าใจผู้อื่นมากน้อยเพียงใด”



โดย รองศาสตราจารย์ วิรัช วิรัชนิภาวรรณ

หลักแห่งความสามัคคี

อริสโตเติ้ล นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของกรีกได้กล่าวไว้ว่า

"มนุษย์เป็นสัตว์สังคม (Human being is social animal)"

เพราะมนุษย์มีการอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเป็นหมวดหมู่มิได้ใช้ชีวิตอยู่เพียงคนเดียวตามลำพังแต่อย่างใด

เนื่องจากมนุษย์ต้องทำกิจกรรมร่วมกันอยู่ตลอดเวลาต้องพึงพาอาศัยซึ่งกันและกัน
และแต่ละชีวิตต่างก็ต้องการที่จะเสริมสร้างความสุข ความมั่นใจ และความปลอดภัยให้กับตนเองอยู่เสมอ

สังคมจึงเป็นแหล่งรวมศูนย์ทางความคิดที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมาเพื่อแสวงหาคำตอบทุกๆอย่างให้กับตนเอง

สังคมในทุกระดับชั้นเป็นแหล่งรวมคนหลายๆคนเข้าด้วยกันซึ่งในจำนวนผู้คนเหล่านั้น แต่ละคนต่างก็มีชีวิต มีจิตวิญญาณมีความรู้สึกนึกคิดและมีจุดหมายปลายทางที่แตกต่างกัน ออกไป

และด้วยเหตุนี้เองบางครั้งจึงทำให้สังคมต้องเกิดปัญหาหรือมีความสับสนวุ่นวายขึ้น
อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางด้านความคิดของแต่ละคน ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่สังคมมีปัญหาขึ้นจะเป็นด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ผู้ที่จะทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้หมดสิ้นไปได้ ก็หาเป็นใครที่ไหนไม่

หากแต่เป็นหน้าที่ของสมาชิกทุกๆ คนนั่นเองที่จะต้องสามัคคีร่วมใจกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมของตนเองให้ดีและมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

ปลวกซึ่งเป็นเพียงสัตว์ตัวเล็กๆ แต่ในความเล็กนั้น ปลวกกลับสามารถที่จะสร้างจอมปลวก
อันเข้มแข็งใหญ่โตเท่าภูเขาลูกเล็กๆขึ้นมาได้ซึ่งลมฝนและพายุไม่สามารถจะทำลายลงได้

ทั้งนี้ก็เพราะปลวกเป็นสัตว์ที่รู้จักช่วยเหลือกัน รู้จักความสามัคคี ทำงานกันเป็นทีม
และมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อหน้าที่อยู่ตลอดเวลา

ความสามัคคีจึงเป็นบ่อเกิดแห่งความสำเร็จทั้งปวงความสามัคคีจึงเป็นแหล่งพลังอันยิ่งใหญ่
ที่จะสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงให้เกิดขึ้นได้และเป็นสิ่งที่สมาชิกในสังคมทุกๆคนควรที่จะตระหนักเอาใจใส่ และสร้างสรรค์ขึ้นให้มากที่สุด

ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสหลักธรรมอันจะเป็นแนวทาง
ในการเสริมสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในสังคมเอาไว้ ๖ ประการด้วยกัน ซึ่งอยู่ในหมวดธรรมที่เรียกว่า "สาราณียธรรม ๖ "

ซึ่งมีความหมายว่า หลักธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึง เป็นหลักธรรมที่จะเสริมสร้างความรู้สึกที่ดี
ให้เกิดขึ้นต่อกันและกันอยู่เสมอในยามที่ระลึกถึงกัน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความสามัคคีมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้เกิดขึ้นด้วย

หากสังคมใดต้องการที่จะเสริมสร้างความสามัคคีและความ เป็นปึกแผ่นให้เกิดขึ้น
ก็ควรที่จะต้องนำเอาหลักธรรมธรรมทั้ง ๖ ประการ ไปใช้อยู่ตลอดเวลา กล่าวคือ:-

๑. เมตตามโนกรรม

หมายถึง การคิดดี การมองกันในแง่ดี มีความหวังดีและปรารถนาดีต่อกัน รักและเมตตาต่อกัน คิดแต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ต่อกัน ไม่อิจฉาริษยา ไม่คิดอคติ ไม่พยาบาท ไม่โกรธแค้นเคืองกัน
รู้จักให้โอกาสและให้อภัยต่อกันและกันกันอยู่เสมอ

๒. เมตตาวจีกรรม

หมายถึง การพูดแต่สิ่งที่ดีงาม พูดกันด้วยความรักความปรารถนาดี รู้จักการพูดให้กำลังใจกันและกัน
ในยามที่มีใครต้องพบกับความทุกความผิดหวังหรือความเศร้าหมองต่างๆ โดยที่ไม่พูดจาซ้ำเติมกันในยามที่มีใครต้องหกล้มลง

ไม่นินทาว่าร้ายทั้งต่อหน้าและลับหลัง พูดแนะนำในสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ พูดอย่างใดก็ทำอย่างนั้น ไม่โกหกมดเท็จ

๓. เมตตากายกรรม

หมายถึง การทำความดีต่อกัน สนับสนุนช่วยเหลือกันทางด้านกำลังกายมีความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่เบียดเบียนหรือรังแกกันไม่ทำร้ายกัน ให้ได้รับความทุกขเวทนา ทำแต่ในสิ่งที่ถูกต้องต่อกันอยู่ตลอดเวลา

๔. สาธารณโภคี

หมายถึง การรู้จักแบ่งปันผลประโยชน์กันด้วยความยุติธรรม ช่วยเหลือกัน ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ไม่เอารัดเอาเปรียบ และมีความเสมอภาคต่อกัน เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันอยู่เสมอ

๕. สีลสามัญญตา

หมายถึง การปฏิบัติตามกฏระเบียบข้อบังคับหรือวินัยต่างๆอย่าง เดียวกันเคารพในสิทธิเสรีภาพของบุคคล ไม่ก้าวก่ายหน้าที่กัน ไม่อ้างอำนาจบาตรใหญ่ ไม่ถืออภิสิทธิ์ใดๆทั้งปวง

๖. ทิฏฐิสามัญญตา

หมายถึง มีความคิดเห็นเป็นอย่างเดียวกัน คิดในสิ่งที่ตรงกัน ปรับมุมมองให้ตรงกัน รู้จักแสงหาจุดร่วมและสงวนไว้ซึ่งจุดต่าง ของกันและกัน ไม่ยึดถือความคิดของตนเป็นใหญ่ รู้จักยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นอยู่เสมอ

หลักธรรมทั้ง ๖ ประการข้างต้นเป็นหลักธรรมสำหรับการเสริมสร้างความสามัคคี
และความเ ป็นปึกแผ่นให้เกิดขึ้นในสังคม อันจะนำมาซึ่งความสุข ความสันติ ความมั่นคง
และความเจริญก้าวหน้าทั้งทั้งหลายทั้งปวง

ดั่งพระพุทธวจนะบทที่ว่า

"สมคฺคยานํ ตโป สุโข ความสามัคคีของหมู่คณะเป็นเหตุนำความสุขมาให้"

สังคมที่เราอยู่ในปัจจุบันนี้คงจะมีความสงบสุขและน่า อยู่มากกว่านี้ยิ่งนัก ถ้าหากว่าสมาชิกในสังคมแต่ละคนได้นำเอาหลักธรรมที่กล่าวข้างต้นมาใช้

แต่ที่สังคมดูเหมือนมีปัญหา มีความแตกแยก และวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นเพราะว่าทุกคนละเลยหลักธรรมเหล่านี้ และกระทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม

กล่าวคือ ขาดความรักความเมตตา อิจฉาริษยากันนินทาว่าร้ายกัน เบียดเบียนและรังแกกัน เห็นแก่ตัว ถืออภิสิทธิ์ อ้างอำนาจบาตรใหญ่ และมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันต่างคนต่างก็ถือความคิดของตนเป็นใหญ่อยู่ตลอดเวลา

คนไทยได้ชื่อว่าเป็นคนที่ใจดีมีความรักความเมตตา ใจบุญสุนทาน ยิ้มเก่ง โอบอ้อมอารี ชอบช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นนิสัยปกติทั่วไปของคนไทยเ กือบทุกคน และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนไทย ซึ่ง อาจจะเรียกว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ของไทยเ ลยก็ว่าได้

สังคมคนไทยคงจะมีความสงบสุข มีความเจริญก้าวหน้า มีความอบอุ่นและน่าอยู่มากกว่าทุกวันนี้มากมายนัก ถ้าหากว่าคนไทยทุกคน เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน ยอมรับในความแตกต่างซึ่งกันและกันช่วยเหลือกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และรู้จักการให้อภัยกันอยู่ตลอดเวลา.

เรามาร่วมมือกันพัฒนาสังคมของเราให้มีความอบอุ่นและน่าอยู่กันเถอะ โดยการเสริมสร้างความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันใ ห้เกิดขึ้นในสังคมของเรา

แล้วเราจะได้พบกับสันติภาพและความอบอุ่นที่เราแต่ละคนต่างก็ปรารถนาและใฝ่ฝันหากันอยู่ตลอดมา

พระราชดำรัสในหลวง เรื่อง ความสามัคคี


สาเหตุสำคัญๆ ที่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้คงเป็นเพราะคนในชาติเกิดความเห็นแยกแตก คิดเห็นแตกต่าง และที่สำคัญคือการขาดความสามัคคีของคนในชาติ ซึ่งผลของการขาดความสามัคคีของคนในชาตินี้ส่งผลกระทบต่อเมืองไทยแน่นอน

ความสามัคคีของคนในชาติ
อย่างไรก็ตามวันนี้เรา จึงขอยกตัวอย่าง พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเน้นเรื่องความสามัคคีของคนในชาติ มุ่งให้คนไทยมีความรักใคร่กลมเกลียว สมัครสมานสามัคคี มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อันจะนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง คงความเป็นชาติไทยไว้ได้ ดังความตอนหนึ่งในพระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ทหารรักษาพระองค์ในพิธีตรวจพลสวนสนาม เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา วันพุธ ที่ 3 ธันวาคม 2512 ว่า

ความสามัคคีของคนในชาติ
" . . . ชาติของเรารักษาเอกราชอธิปไตยมาได้จนถึงทุกวันนี้ด้วยความสามัคคี คนไทยเราแต่ละคน รู้จักประโยชน์ส่วนรวมของชาติ รู้จักปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องและเกื้อกูลกัน ผลการปฏิบัติของเรานั้นจึงเกิดเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ ซึ่งสามารถกำจัดและป้องกันภัยต่างๆ มิให้ทำอันตรายแก่เราได้ แม้จะมีศัตรูคิดร้าย บุกรุกคุกคามอย่างหนักหนาเพียงใด เราก็ยังไม่เพลี่ยงพล้ำ ขอให้ทุกคนสำนึกตระหนักว่า ความสมัครสมานสามัคคีของเรานั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะต้องรักษาไว้ให้ยั่งยืนอยู่ตลอดไป หากเรามีความประมาท เราแตกสามัคคีกันเมื่อใด เราก็จะเป็นอันตรายย่อยยับลงเมื่อนั้น ไม่มีใครอื่นที่ไหนจะช่วยเราได้นอกจาก ตัวเราเอง..."

ความสามัคคี
และกระแสพระราชดำรัส ที่พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2494 ดังความตอนหนึ่งว่า
" . . . ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้ปรากฏตลอดมาว่า ชาติใดเสื่อมสูญย่อยยับอับปางไป ก็เพราะประชาชาติขาดสามัคคีธรรม แตกแยกเป็นหมู่คณะ เป็นพรรคเป็นพวก คอยเอารัดเอาเปรียบ ประหัสประหารซึ่งกันและกัน บางพรรคบางพวก ถึงกับเป็นไส้ศึกให้ศัตรูมาจู่โจมทำลายชาติของตนดังนี้ ข้าพเจ้าจึงขอชักชวนพี่น้องชาวไทยทั้งหลาย ให้ระลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษ ซึ่งได้กอบกู้รักษาบ้านเกิดเมืองนอนของเรามานั้นให้จงหนัก แล้วถือเอาความสามัคคี ความยินยอมเสียสละส่วนตัวเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ เป็นคุณธรรมประจำใจอยู่เนืองนิจ จึงขอให้พี่น้องชาวไทยทั้งหลาย จงบำเพ็ญกรณีกิจของตนแต่ละคน ด้วยซื่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร อดทนและกล้าหาญ แล้วอุทิศความเสียสละส่วนตัว ความเหน็ดเหนื่อยลำบากยากแค้น เป็นพลีบูชาบรรพบุรุษ ผู้ซึ่งได้ก่อสร้างชาติเป็นมรดกตกทอดมาถึงพวกเราชาวไทยจนบัดนี้"




สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา

ที่มา :
- http://hilight.kapook.com/view/28143
- irrigation.rid.go.th
- vcharkarn.com

จังหวัด สงขลา จัดพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ถวายเป็นพระกุศลสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ในโอกาสครบวันสิ้นพระชนม์ 100 วัน

วันนี้ (31 ม.ค. 57) เวลา 10.30 น.   ที่ ศาลาการเปรียญ วัดชัยมงคลพระอารามหลวง อ.เมือง  จ.สงขลา นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ถวายเป็นพระกุศลสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในโอกาสครบวันสิ้นพระชนม์ 100 วัน เพื่อถวายเป็นพระกุศล สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และพุทธศาสนิกชน เข้าร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน

ด้วยวันที่ 31 มกราคม 2557 เป็นวันครบวันสิ้นพระชนม์ 100 วัน ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งกระทรวงมหาดไทยโดยคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกได้เห็นชอบให้มีการจัดพิธีทำบุญตักบาตร พระสงฆ์ถวายเป็นพระกุศลฯในโอกาสครบวันสิ้นพระชนม์ 100 วัน โดยให้จัดกิจกรรมพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ จากการสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา ยังความโศกเศร้าแก่พสกนิกรชาวไทยอย่างยิ่ง เนื่องด้วย ทรงเจริญด้วยพระคุณธรรมอันเปี่ยมล้น และได้ทรงบำเพ็ญสรรพกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ยิ่งแก่พระบวรพุทธศาสนา และการปกครองคณะสงฆ์ ในสังฆมณฑล



จันจิรา บัวน้อย/ข่าว
ชิดนัย แก้วมณีโชติ/ภาพ
31 ม.ค. 57

ไฟไหม้บ้านไม้ที่ยะลา 1 หลัง รับตรุษจีน สาเหตุเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร เจ้าของบ้านรอดหวุดหวิด

วันที่ 31 ม.ค. 57 เวลา 03.40 น. พ.ต.ท.พรหมพัฒน์ สนิทศรี รอง ผกก.(ป.)สภ.ยะลา ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า เกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านไม้เก่า บ้านเลขที่ 19 ถ.ศรีบำรุง ในเขตเทศบาลนครยะลา อ.เมืองยะลา หลังรับแจ้งจึงได้ประสานเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเทศบาลนครยะลา และ ชุดกู้ชีพกู้ภัยแม่กอเหนี่ยวยะลา เข้าให้การช่วยเหลือทันที

ที่เกิดเหตุเป็นบ้านเรือนแถวไม้ พบเพลิงกำลังโหมลุกไหม้บริเวณด้านหลังของตัวบ้าน เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเทศบาลนครยะลา และ ชุดกู้ภัยแม่กอเหนี่ยวยะลา ได้ใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ก็สามารถควบคุมเพลิงที่กำลังลุกไหม้ไว้ได้

จากการตรวจสอบพบว่า เพลิงได้เผาผลาญบริเวณด้านหลังของตัวบ้าน ซึ่งเป็นห้องครัวเสียหายทั้งหมด ส่วนบริเวณด้านหน้าบ้านเสียหายเพียงเล็กน้อย ต่อมาทราบว่า บ้านหลังดังกล่าวเป็นบ้านของ นายแก้ว สุพัฒชีวกุล (ชาวไทยเชื้อสายจีน) ซึ่งในช่วงเกิดเหตุมี นางวรรชนา และ น.ส.นพรัตน์ สุพัฒชีวกุล อยู่ในบ้าน โชคดีที่ทั้ง 2 คน สามารถวิ่งหนีออกมาจากบ้านได้ทัน เบื้องต้นจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สาเหตุน่าจะมาจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจรบริเวณด้านหลังของตัวบ้าน จนเกิดเปลวไฟ ทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ดังกล่าว ส่วนความเสียหายเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการประเมิน



ยุทธนา จันทร์วิมาน ส.ปชส.ยะลา

พี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนที่ยะลา แห่กราบไหว้เทพเจ้าแห่งโชคลาภ “ไฉ่ซึ้งเอี้ย” ขอพรโชคลาภ ความมั่งคั่ง ความร่ำรวย และความเป็นสิริมงคล รับตรุษจีน

บรรยากาศในวันส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับรับเทศกาลตรุษจีน (ปีมะเมีย) ถือเป็นวันที่ 1 เดือน 1 ของชาวจีน ที่ศาลแม่กอเหนี่ยว (ฉื่อเซี่งตึ้ง) ยะลา ในเขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา  เป็นไปอย่างคึกคัก มีพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีน แห่ออกมากราบไหว้ขอพรจุดธูปบูชาเทพเจ้าแห่งโชคลาภ “ไฉ่ซึ้งเอี้ย” เป็นจำนวนมาก ถือฤกษ์ดีช่วงเวลา 23.30 - 00.30 น. เป็นวันขึ้นปีใหม่และเป็นวันตรุษจีน มีการบริจาคทาน บริจาคทำบุญโรงศพ การเชิดสิงโต ชุดประทัดเสียงดังกึกก้องไปทั่วทุกมุมเมือง เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นเทศกาลตรุษจีนในปีนี้ ด้านการดูแลความปลอดภัย มีกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และกองกำลังภาคประชาชน คอยอำนวยความสะดวก ทั้งด้านการจราจร สถานที่จอดรถ การตรวจสอบยานพาหนะ วัตถุต้องสงสัยต่างๆ เพื่อสร้างความอบอุ่นใจและความปลอดภัยให้กับพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีน ที่มาร่วมพิธี

สำหรับวันตรุษจีนปีนี้ฤกษ์ดีที่สุด ตรงกับเวลา 23.30 - 00.30 น. ซึ่งเป็นช่วงฟ้าเปิด โดยเทพเจ้าแห่งโชคลาภ“ไฉ่ซึ้งเอี้ย”เสด็จลงมาทางทิศตะวันตก เพื่อประทานพรโชคลาภ ความมั่งคั่ง ความร่ำรวยแก่ชาวจีนทุกคน ให้มีความสุข ความเจริญ มีโชคมีลาภเป็นสิริมงคล เนื่องในวันตรุษจีนหรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน และในวันพรุ่งนี้ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน (วันเที่ยว) ชาวจีนจะหยุดทำงานโดยพาครอบครัวไปท่องเที่ยวพักผ่อนเยี่ยมญาติ โดยจะพักผ่อนอย่างเต็มที่และใช้เงินใช้ทองที่หามาได้อย่างคุ้มค่า หลังจากการทำงานตรากตรำด้วยความเหน็ดเหนื่อยมาตลอดทั้งปี



ยุทธนา จันทร์วิมาน ส.ปชส.ยะลา

ศชต.แถลงจับเฮโรอีน 1,330 หลอด น้ำหนัก 5 กิโลกรัม มูลค่า 5 ล้านบาท รับตรุษจีน

ที่ศูนย์ปฎิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ.เมือง จ.ยะลา วันที่ 31 ม.ค.57 เวลา 11.00 น. พล.ต.ต.สาคร ทองมุณี รองผู้บัญชาการศูนย์ปฎิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศตช.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ศชต. ได้ร่วมแถลงจับกุมและขยายผลเครือข่ายค้ายาเสพติดรายสำคัญ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมผู้ต้องหา 2 ราย นายนายกูฮาซัน บินมามะ อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 123 ม.1 ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส และนายพิเชษฐ์ สือแม อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 80/1 ม.1ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส พร้อมด้วยของกลางเฮโรอีนชนิดผงสีขาวบรรจุหลอดบิ๊ก เบอร์ 5 จำนวน 1,330 หลอด น้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัม (มูลค่าประมาณ 5,000,000 บาท ) พร้อมรถยนต์เก๋ง ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีออสสีขาว หมายเลขทะเบียน ฎย 7151 กรุงเทพฯ จำนวน 1 คัน รถยนต์ตู้โดยสารยี่ห้อโตโยต้า สีขาว หมายเลขทะเบียน 10–5262 สงขลา จำนวน 1คัน โทรศัพท์มือถือ จำนวน 2 เครื่อง (ซุกซ่อนในถังแก๊สบรรจุเชื้อเพลิงภายในรถตู้) เหตุเกิดที่ บริเวณด่านตรวจบ้านอีโยะ หมู่ 5 ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จว.นราธิวาส โดยผู้ต้องหา ถูกตั้งข้อหา ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท ๑ ( เฮโรอีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยผิดกฏหมายโทษสูงสุดประหารชีวิต

พฤติกรรมของคนร้าย สืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมได้รับคำสั่งผู้บังคับบัญชา ให้ออกสืบติดตามจับกุมเครือข่ายนักค้ายาเสพติดรายสำคัญในพื้นที่รับผิดชอบ และจากการสืบสวนทราบว่า ได้มีนักค้ายาเสพติดรายสำคัญกลุ่มของนายกูฮาซัน บินมามะ และนายพิเชษฐ์ สือแม ซึ่งบุคคลดังกล่าว เคยต้องโทษในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาก่อน และหลังจากพ้นโทษออกมา ได้กลับมาพฤติกรรมติดต่อกับนักค้ายาเสพติดในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อติดต่อสั่งซื้อยาเสพติดชนิดเฮโรอีน และลักลอบลำเลียงมาส่งให้เครือข่าย ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย

หลังจากนั้นได้สืบสวนติดตามพฤติกรรมของกลุ่มดังกล่าวมาโดยต่อเนื่อง กระทั่งก่อนเกิดเหตุได้ทำการสืบสวนทราบว่าผู้ต้องหาทั้งสองได้มีการติดต่อกับนักค้ายาเสพติดในพื้นที่ภาคเหนือ และเดินทางไปรับยาเสพติดชนิดเฮโรอีนอยู่ระหว่างเดินทางกลับมายังจังหวัดนราธิวาส จึงได้จัดกำลังออกทำการสืบสวนติดตาม และประสานข้อมูลกับหน่วยที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

ต่อมาในวันเกิดเหตุได้ทำการสืบสวนทราบว่า ผู้ต้องหาดังกล่าวได้เดินทางกลับโดยใช้รถยนต์ของกลางพาหนะ จึงได้จัดกำลังออกทำการสืบสวนติดตามและเฝ้าสังเกตการณ์ ในเส้นทางหลวงสาย 42,43 (ปัตตานี - นราธิวาส ) พร้อมกับได้วางกำลังตามจุดตรวจในเส้นทางดังกล่าว แต่ปรากฏว่าผู้ต้องหาได้ใช้เส้นทางเลี่ยงด่านตรวจเกาะหม้อแกงในพื้นที่จังหวัดปัตตานี โดยใช้เส้นทางสายรอง และเข้าสู่เส้นทางสายหลักเมื่อถึงเขตพื้นที่ จ.นราธิวาส ต่อมาตามวันเวลาเกิดเหตุ ผู้ต้องหาทั้งสองได้ขับรถเข้ามายังด่านตรวจที่เกิดเหตุ โดยนายพิเชษฐ์ฯ ขับรถยนต์เก๋งของกลางเป็นรถนำทาง ส่วนนายกูฮาซัน ฯ ขับรถยนต์ตู้ของกลางตามมา เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมซึ่งรับผิดชอบเฝ้าตรวจอยู่ที่จุดตรวจที่เกิดเหตุจึงได้เรียกให้หยุดและทำการตรวจค้น

ผลการตรวจค้นพบเฮโรอีนของกลางซุกซ่อน  อยู่ในถังแก๊สรถยนต์ตู้ของกลาง ซึ่งดัดแปลงขึ้นเพื่อใช้ซุกซ่อนยาเสพติดโดยเฉพาะ จึงได้ทำการจับกุมผู้ต้องหาทั้งสองพร้อมของกลาง ส่งพนักงานสอบสวน สภ.ปะลุกาสาเมาะ จ.นราธิวาส เพื่อดำเนินคดีตามกฏหมายต่อไป สำหรับเครือข่ายที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างสืบสวนขยายผล ส่วนทรัพย์สินอื่นๆที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป



ยุทธนา จันทร์วิมาน ส.ปชส.ยะลา

กกต.ยะลา อบรมโปรแกรมรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง แก่เจ้าหน้าที่ทั้ง 8 อำภอของจังหวัดยะลา เตรียมพร้อมเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ นี้

วันที่ 31 ม.ค. 57 ที่ห้องประชุมศูนย์คอมพิวเตอร์ ชั้น 4 มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา อ.เมือง จ.ยะลา  นางสาวมารีเย๊อะ ยีปาโล๊ะ หัวหน้างานการมีส่วนร่วม สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดยะลา ได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่บันทึกผลคะแนนเลือกตั้ง สมาชิสภาผู้แทนราษฎร จำนวน39 คน ทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดยะลา เข้าร่วมอบรมการใช้โปรแกรมรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง สมาชิสภาผู้แทนราษฎร ในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ นี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง โดยมีการอธิบายและสาธิตการใช้โปรแกรมรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง สมาชิสภาผู้แทนราษฎร ผ่านเว็บไซต์ http://www.vote2557.com ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้โปรแกรมได้อย่างถูกต้องและคล่องตัว ในวันเลือกจริง วันอาทิตย์ที่ 2 ก.พ. นี้ และทำให้การสรุปผลการลงคะแนนของแต่ละหน่วยเลือกตั้งมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ขณะที่การเตรียมความพร้อมในส่วนต่างๆ ทาง กกต.ยะลาได้จัดเตรียมไว้ทุกอย่างแล้ว ทั้งเอกสาร วัสดุอุปกรณ์ในการจัดการเลือกตั้ง มีเพียงบัตรเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่ยังตกค้างอยู่ที่ไปรษณีย์ทุ่งสง ไปรษณีย์ชุมพร และไปรษณีย์หาดใหญ่ ส่วนบัตรเลือกตั้ง สส.แบบแบ่งเขตได้จัดส่งมายัง กกต.จังหวัดยะลา เรียบร้อยแล้ว คาดว่าเมื่อจัดส่งมาเรียบร้อยก็สามารถดำเนินการจัดการเลือกตั้งได้

ส่วนมาตราการการดูแลรักษาความปลอดภัย ได้มีการประสานเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ทั้ง เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ดูแลหน่วยเลือกตั้ง ดูแลเส้นทาง อย่างเข้มข้น เตรียมพร้อมจัดการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ นี้



ยุทธนา จันทร์วิมาน ส.ปชส.ยะลา

เทศบาลเมืองพัทลุง จัดงานเทศกาลตรุษจีนประจำปี ๒๕๕๗ เพื่ออนุรักษ์ประเพณีและสร้างความรักความสามัคคีของประชาชน

งานเทศกาลตรุษจีน หรือเทศกาลขึ้นปีใหม่ของจีน ซึ่งปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๙ – ๓๐ มกราคม ๒๕๕๗ ซึ่งที่จังหวัดพัทลุงเมื่อช่วงค่ำวันนี้ นายสุรินทร์ เพชรสังข์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานเปิดงานบริเวณถนนนิวาส อำเภอเมืองพัทลุง ซึ่งเทศบาลเมืองพัทลุงนำโดยนายสุเมธ บุญยก นายกเทศมนตรีเมืองพัทลุง ร่วมกับสมาคม ชมรมต่าง ๆ ตลอดจนชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดพัทลุง จัดขึ้นเพื่อสืบสานประเพณีอันดีงามของชาวจีนที่ปฏิบัติสืบทอดมาแต่โบราณ ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ของจีน
ในการนี้รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงกล่าวว่า ชุมชนชาวจีนหรือชาวไทยเชื้อสายจีน ถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจในเมืองต่าง ๆ เนื่องคนจีนเป็นคนขยัน อดทน ซื่อสัตย์สุจริต และมีความสามัคคีกลมเกลียว ซึ่งจะสังเกตเห็นว่าที่ใดมีชุมชนชาวจีนอยู่ ที่นั่นจะกลายเป็นย่านการค้าธุรกิจในเวลาต่อมา ทำให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพและสร้างความเจริญให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง

รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้จังหวัดพัทลุงกำลังประกาศวาระเมือลุงพอเพียงเฉลิมพระเกียรติในหลวง เพื่ออนาคตลูกหลานคนเมืองลุง เป้าหมายสำคัญคือการสร้างเมืองพัทลุงให้เป็นเมืองน่าอยู่ มีความสงบสันติ ซึ่งการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุก ๆ ฝ่าย ทุกเชื้อชาติที่อยู่อาศัยในจังหวัดพัทลุง ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจสำคัญนี้ประสบความสำเร็จ โดยให้ทุกคนถือว่า การทำหน้าที่ดังกล่าวเป็นการตอบแทนบุญคุณให้กับแผ่นดินเมืองพัทลุง ซึ่งผลประโยชน์จะเกิดกับลูกหลานของเราทุกคน

สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ของงานตรุษจีนในปีนี้ มีทั้งการแสดงบนเวที อาทิ การขับร้องเพลงจีน การประกวดหนูน้อยอั่งเปา การประกวดแต่งกายชุดจีน ของผู้มาร่วมงาน เป็นต้น

และในโอกาสเดียวกันนายสุรินทร์ เพชรสังข์ พร้อมด้วยนายสุเมธ บุญยก นายเทศมนตรีเมืองพัทลุง ได้กันร่วมผัดหมี่มงคลบริการให้ประชาชนที่ร่วมงานได้รับประทานฟรีด้วย ซึ่งมีประชาชนและชาวไทยเชื้อสายจีน พาครอบครัวเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพวงมาลาหลวง แก่จ่าสิบตำรวจ สมนึก ด้วงนิ่ม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพวงมาลาหลวง แก่จ่าสิบตำรวจ สมนึก ด้วงนิ่ม ตำรวจสังกัดสถานีตำรวจธารโต ชาวพัทลุง ที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ที่วัดไทรห้อย ตำบลท่ามิหรำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง วานนี้ (๒๙ ม.ค.๕๗)นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานเชิญพวงมาลาหลวง พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์รวม ๑๒ พวง ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้วางหน้าหีบศพ จ่าสิบตำรวจ สมนึก ด้วงนิ่ม ตำรวจสังกัดสถานีตำรวจภูธรธารโต จังหวัดยะลา ซึ่งเสียชีวิตพร้อมนายตำรวจอีก ๑ นาย คือ ร.ต.ต.นิยม สุวรรณมณี ตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจธารโต จากเหตุการณ์คนร้ายลอบวางระเบิดรถยนต์ ที่บริเวณทางโค้ง เส้นทางบ้านแหร-บ้านบัวทอง หมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๑.๑๐ น. หลังเดินทางกลับจากการปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดในพื้นที่ ซึ่งเหตุการณ์นี้ ยังทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจธารโต ได้รับบาดเจ็บ อีก ๓ นายคือ สิบตำรวจตรีพันธ์เทพ เอมสมบุญ สิบตำรวจ ปพน เดชอโนทัยและ สิบตำรวจเอก สิทธิชัย เครือบุตรโดยล่าสุดทั้ง ๓ นายมีอาการปลอดภัย

สำหรับศพของ จ่าสิบตำรวจ สมนึก ด้วงนิ่ม จะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ณ วัดไทรห้อย ตำบลท่ามิหรำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เวลา ๑๕.๐๐ น.

จังหวัดพังงาจัดงาน "วันรวมน้ำใจกาชาด" ประจำปี 57 เพื่อหารายไว้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและผู้ยากไร้

เมื่อคืนวันที่ (30 ม.ค.57) เวลา 19.19 น. นายธำรงค์ เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เป็นประธานพร้อมด้วยเหล่ากาชาดจังหวัดพังงา หัวหน้าส่วนราชการ ร่วมในพิธีเปิดงาน "วันรวมน้ำใจกาชาด” งานประจำปีและงานกาชาดจังหวัดพังงา ประจำปี 2557 ณ เวทีบริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดพังงาหลังเก่า อ.เมือง จ.พังงา โดยมีประชาชนเข้าร่วมงานจำนวนมาก

นางสุคนธ์ เจริญกุล นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพังงา กล่าวว่า จังหวัดพังงาได้กำหนดจัดงานประจำปีและงานกาชาดจังหวัดพังงาเป็นประจำทุกปี สำหรับปี 2557 นี้จัดขึ้นระหว่าง 30 มกราคม -8 กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางหลังเก่า อ.เมือง จ.พังงา รวม 10 วัน 10 คืน ทั้งนี้เพื่อหารายได้ไว้ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยพิบัติและผู้ยากไร้ขาดแคลนทุนทรัพย์และกิจกรรมสาธารณกุศลอื่น ๆ ซึ่งกิจกรรมในปีนี้ ภายในงานประกอบด้วยการจัดนิทรรศการของส่วนราชการต่างๆ การออกร้านกาชาด การออกรางวัลมัจฉากาชาด การจำหน่ายสินค้า OTOP การสาธิตและจัดหาผลิตภัณฑ์ดีเด่นในจังหวัดพังงามาจำหน่าย การบริการตรวจสุขภาพ และการบนเวทีซึ่งจะมีการแสดงของนักเรียนนักศึกษา วงดนตรีลูกทุ่ง วงสตริง ทุกคืน อีกทั้งยังมีการเดินแฟชั่นเพื่อการกุศลของแม่บ้านมหาดไทยในคืนวันที่ 4 ก.พ. 57 อีกด้วย

สำหรับรางวัลบัตรกาชาดประจำปีนี้ รางวัลที่ 1 มี 1 รางวัล รถยนต์มิตซูบิชิ ไทรทัน กระบะ แคป 2.5 รางวัลที่ 2 มี 3 รางวัล รถจักรยานยนต์ ฮอนด้า รุ่น เวฟ 110 ซีซี รางวัลที่ 3 มี 5 รางวัล สร้อยคอทองคำ หนัก 1 บาท รางวัลที่ 4 มี 25 รางวัล โทรทัศน์จอแบน LCD 32 นิ้ว และรางวัลเลขท้าย 2 ตัว ของรางวัลมูลค่า 500 บาท โดยกำหนดออกรางวัลในคืนวันที่ 8 ก.พ. 57 ส่วนรางวัลมัจฉากาชาดซึ่งจะออกแต่ละคืนนั้น สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดพังงาได้เปิดรับบริจาคจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ส่วนท้องถิ่นและพี่น้องประชาชน ซึ่งจะมีการทยอยออกรางวัลในแต่ละคืนจนกว่าของรางวัลจะหมด



ส.ปชส.พังงา

พิธีถวายพระกุศลแด่สมเด็จพระสังฆราช ในโอกาสครบวันสิ้นพระชนม์ 100 วัน

จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดพิธีถวายพระกุศลแด่สมเด็จพระสังฆราช ในโอกาสครบวันสิ้นพระชนม์ 100 วัน

วันนี้ (31 ม.ค. 57) เวลา 16.00 น. จังหวัดนครศรีธรรมราชและคณะสงฆ์จังหวัดนครศรีธรรมราชได้จัดประกอบพิธีสวดพระพุทธมนต์ธรรมนิยามสูตร และพิธีสวดพระอภิธรรม ณ วิหารหลวง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในโอกาสครบวันสิ้นพระชนม์ 100 วัน โดยมีนายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในพิธี โดยมีพระเทพปัญญาสุธี เจ้าอาวาสวัดแจ้งวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ มีข้าราชการ ตำรวจ พระสงฆ์ สามเณร ชีพราหมณ์ และพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง

ทั้งนี้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 ยังความโศกเศร้าแก่พุทธศาสนิกชนชาวไทยอย่างยิ่ง เนื่องด้วยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญด้วยพระคุณธรรมอันเปี่ยมล้น และได้ทรงบำเพ็ญสรรพกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ยิ่งแก่บวรพระพุทธศาสนา



ส.ปชส.นศ. เมื่อ : 31 ม.ค. 2557

เชิญชวนร่วมตักบาตร และร่วมพิธีแห่ผ้าพระบฏพระราชทาน เนื่องในวันมาฆบูชา

จังหวัดนครศรีธรรมราช เชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมพิธีทำบุญตักบาตร และร่วมพิธีแห่ผ้าพระบฏพระราชทาน เนื่องในงานประเพณี “มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ นานาชาติ ที่เมืองนครฯ ประจำปี 2557

นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับคณะสงฆ์ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม มูลนิธิ ชมรมต่าง ๆ กำหนดจัดงานประเพณี “มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ นานาชาติ ที่เมืองนครฯ ประจำปี 2557 ระหว่างวันที่ 10 – 14 กุมภาพันธ์ 2557 ณ สวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช และวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เพื่ออนุรักษ์ไว้ซึ่งประเพณีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของประเทศไทย ที่ปฏิบัติสืบทอดต่อเนื่องกันมายาวนานเกือบ 800 ปี อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดนครศรีธรรมราช และสนับสนุนการผลักดันวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร(พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช)เป็นมรดกโลก

ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันมาฆบูชา คณะกรรมการจัดงานจึงได้จัดพิธีทำบุญตักบาตรแด่พระสงฆ์ เริ่มเวลา 06.30 น. ณ บริเวณหน้าวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและความเป็นสิริมงคลในการดำเนินชีวิต จากนั้นเวลาประมาณ 08.00 น. มีการแจกจ่ายข้าวมธุปายาส(ยาคู) ให้แก่ประชาชนทั่วไปด้วย เวลา 16.00 น. จัดพิธีริ้วขบวนแห่ผ้าพระบฏพระราชทาน ผ้าพระบฏหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน จากหน้าศาลาประดู่หก ถนนราชดำเนิน เขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ไปยังวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร โดยมีคณะสงฆ์ไทย พระสงฆ์จากประเทศต่าง ๆ 9 ประเทศ ข้าราชการ นักเรียน ศึกษา พ่อค้า ประชาชนร่วมในพิธี โดยมีนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานเปิดการปล่อยริ้วขบวน และเมื่อริ้วขบวนถึงลานโพธิ์หน้าพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช มีการแสดงรำบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ ประกอบพิธีทางศาสนา กล่าวถวายผ้าพระบฏ แล้วอัญเชิญผ้าพระบฏพระราชทานขึ้นห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ จากนั้นผู้เข้าร่วมพิธีร่วมกันประกอบพิธีเวียนเทียนเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาต่อไป จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ โดยพร้อมเพรียงกัน และขอให้ลด ละเลิก อบายมุขทุกชนิด แต่ให้ร่วมทำบุญใส่บาตร ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรมและฟังพระธรรมเทศนา และ ไปเวียนเทียนที่วัดใกล้บ้านทุกแห่ง



ส.ปชส.นศ. เมื่อ : 31 ม.ค. 2557

พิธีทำบุญตักบาตรถวายพระกุศลแด่สมเด็จพระสังฆราช ในโอกาสครบวันสิ้นพระชนม์ 100 วัน

จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระกุศลแด่สมเด็จพระสังฆราช ในโอกาสครบวันสิ้นพระชนม์ 100 วัน และเพื่อความเป็นสิริมงคลเนื่องในเทศกาลตรุษจีน

เมื่อเวลา 07.00 น. วันนี้ (31 ม.ค. 57) หน้าสถานีรถไฟนครศรีธรรมราช ต.ท่าวัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งแด่พระสงฆ์ 100 รูป ถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในโอกาสครบวันสิ้นพระชนม์ 100 วัน และเพื่อความเป็นสิริมงคลเนื่องในเทศกาลตรุษจีน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชน ชาวไทยเชื้อสายจีนเข้าร่วมพิธี

เวลา 16.00 น. จังหวัดนครศรีธรรมราชและคณะสงฆ์จังหวัดนครศรีธรรมราชได้จัดประกอบพิธีสวดพระพุทธมนต์ธรรมนิยามสูตร และพิธีสวดพระอภิธรรม ณ วิหารหลวง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในโอกาสครบวันสิ้นพระชนม์ 100 วัน จึงขอเชิญชวนหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน นักเรียน นักศึกษา พุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราช และผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาเข้าร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน การแต่งกายชุดสุภาพสีเทา หรือสีนวล หรือชุดขาวปฏิบัติธรรม



ส.ปชส.นศ. เมื่อ : 31 ม.ค. 2557

จังหวัดตรังจัดพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ถวายเป็นพระกุศลสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในโอกาสครบวันสิ้นพระชนม์ 100 วัน

ที่วัดกะพังสุรินทร์ พระอารามหลวง ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง จ.ตรัง นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมด้วย นางณัฐพิศุทธิ์ เหมทานนท์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดตรัง นำพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมพิธีทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระกุศล แด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในโอกาสครบวันสิ้นพระชนม์ 100 วัน ตามที่คณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้เห็นชอบให้มีการจัดพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ถวายเป็นพระกุศลสมเด็จพระญาณ สังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในโอกาสครบวันสิ้นพระชนม์ 100 วัน ในวันนี้ (31 ม.ค.) จังหวัดตรังจึงได้จัดพิธีทำบุญตักบาตร พร้อมกับจังหวัดอื่น ๆ เพื่อถวายเป็นพระกุศลสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในโอกาสครบวันสิ้นพระชนม์ 100 วัน

เทศบาลนครตรังจัดงานเทศกาลตรุษจีนอย่างคึกคัก

ที่บริเวณหน้าเทศบาลนครตรัง นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมด้วย นายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง นายอภิชิต วิโนทัย นายกเทศมนตรีนครตรัง ร่วมเปิดงานเทศกาลตรุษจีน เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดตรัง และอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยเชื้อสายจีน ได้ให้ความสำคัญกับเทศกาลตรุษจีนเป็นอย่างมาก และจะหยุดทำงานเพื่อพักผ่อน โดยทั่วไปจังหวัดตรังนั้นจะมีกิจกรรมเป็นเวลา 3 วัน วันแรกเรียกว่า "วันจ่าย” เป็นวันจับจ่ายใช้สอยของเซ่นไหว้และข้าวปลาอาหาร ตระเตรียมไว้สำหรับวันรุ่งขึ้น คือ วันไหว้ ซึ่งเป็นวันรวมญาติ มีพิธีเซ่นไหว้เทวดาฟ้าดินและไหว้บรรพบุรุษ จากนั้นจึงรับประทานอาหารร่วมกัน หลังจากเซ่นไหว้ก็จะเป็น "วันเที่ยว” บางครอบครัว อาจจะออกไปพักผ่อนหย่อนใจนอกบ้าน แต่บางครอบครัว อาจจะพักผ่อนอยู่กับบ้านด้วยกัน งานเฉลิมฉลองเทศกาลวันตรุษจีนเมืองตรัง ได้จัดขึ้นจากแนวคิดที่ว่า ชุมชนแห่งแรกของทับเที่ยง อันเป็นจุดศูนย์กลางของจังหวัดตรังในปัจจุบัน เป็นชุมชนของชาวจีนซึ่งได้เข้ามาตั้งรกรากทำมาค้าขาย จุดประกายความเจริญรุ่งเรืองให้กับเมืองตรังมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2458 เป็นต้นมา นอกจากนั้นยังเป็นการจัดงานเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่จะเข้ามาจับจ่ายใช้สอย เป็นการส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดตรัง อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวได้มีกิจกรรมร่วมกัน โดยจัดกิจกรรม ต่าง ๆ ระหว่างวันที่ 30 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ ตลอดแนวถนนวิเศษกุล มีการประดับตกแต่งเมืองตามาเทศกาลตรุษจีนการแสดงมังกรและสิงโต การจำหน่ายอาหารและสินค้า รำวงโบราณ กิจกรรมบนเวที มีพิธีรับองค์ไฉ่ซิ้งเอี๊ย เทพเจ้าแห่งโชคลาภ อีกด้วย สำหรับในด้านความปลอดภัยได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

จังหวัดกระบี่จัดพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ถวายเป็นพระกุศลสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ในโอกาสครบวันสิ้นพระชนม์ 100 วัน

วันนี้ (31 ม.ค. 57) เวลา 10.00 น.   ณ วัดแก้วโกรวาราม พระอารามหลวง อ.เมือง จ.กระบี่ นายประสิทธิ์ โอสถานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ถวายเป็นพระกุศลสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในโอกาสครบวันสิ้นพระชนม์ 100 วัน เพื่อถวายเป็นพระกุศล สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และพุทธศาสนิกชน เข้าร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน

ด้วยวันที่ 31 มกราคม 2557 เป็นวันครบวันสิ้นพระชนม์ 100 วัน ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งกระทรวงมหาดไทยโดยคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกได้เห็นชอบให้มีการจัดพิธีทำบุญตักบาตร พระสงฆ์ถวายเป็นพระกุศลฯในโอกาสครบวันสิ้นพระชนม์ 100 วัน โดยให้จัดกิจกรรมพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ จากการสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา ยังความโศกเศร้าแก่พสกนิกรชาวไทยอย่างยิ่ง เนื่องด้วย ทรงเจริญด้วยพระคุณธรรมอันเปี่ยมล้น และได้ทรงบำเพ็ญสรรพกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ยิ่งแก่พระบวรพุทธศาสนา และการปกครองคณะสงฆ์ ในสังฆมณฑล



หน่วยงานที่แจ้งประชาสัมพันธ์
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกระบี่
31 ม.ค. 57 11:48:35 AM