วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2557

หลักแห่งความสามัคคี

อริสโตเติ้ล นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของกรีกได้กล่าวไว้ว่า

"มนุษย์เป็นสัตว์สังคม (Human being is social animal)"

เพราะมนุษย์มีการอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเป็นหมวดหมู่มิได้ใช้ชีวิตอยู่เพียงคนเดียวตามลำพังแต่อย่างใด

เนื่องจากมนุษย์ต้องทำกิจกรรมร่วมกันอยู่ตลอดเวลาต้องพึงพาอาศัยซึ่งกันและกัน
และแต่ละชีวิตต่างก็ต้องการที่จะเสริมสร้างความสุข ความมั่นใจ และความปลอดภัยให้กับตนเองอยู่เสมอ

สังคมจึงเป็นแหล่งรวมศูนย์ทางความคิดที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมาเพื่อแสวงหาคำตอบทุกๆอย่างให้กับตนเอง

สังคมในทุกระดับชั้นเป็นแหล่งรวมคนหลายๆคนเข้าด้วยกันซึ่งในจำนวนผู้คนเหล่านั้น แต่ละคนต่างก็มีชีวิต มีจิตวิญญาณมีความรู้สึกนึกคิดและมีจุดหมายปลายทางที่แตกต่างกัน ออกไป

และด้วยเหตุนี้เองบางครั้งจึงทำให้สังคมต้องเกิดปัญหาหรือมีความสับสนวุ่นวายขึ้น
อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางด้านความคิดของแต่ละคน ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่สังคมมีปัญหาขึ้นจะเป็นด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ผู้ที่จะทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้หมดสิ้นไปได้ ก็หาเป็นใครที่ไหนไม่

หากแต่เป็นหน้าที่ของสมาชิกทุกๆ คนนั่นเองที่จะต้องสามัคคีร่วมใจกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมของตนเองให้ดีและมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

ปลวกซึ่งเป็นเพียงสัตว์ตัวเล็กๆ แต่ในความเล็กนั้น ปลวกกลับสามารถที่จะสร้างจอมปลวก
อันเข้มแข็งใหญ่โตเท่าภูเขาลูกเล็กๆขึ้นมาได้ซึ่งลมฝนและพายุไม่สามารถจะทำลายลงได้

ทั้งนี้ก็เพราะปลวกเป็นสัตว์ที่รู้จักช่วยเหลือกัน รู้จักความสามัคคี ทำงานกันเป็นทีม
และมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อหน้าที่อยู่ตลอดเวลา

ความสามัคคีจึงเป็นบ่อเกิดแห่งความสำเร็จทั้งปวงความสามัคคีจึงเป็นแหล่งพลังอันยิ่งใหญ่
ที่จะสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงให้เกิดขึ้นได้และเป็นสิ่งที่สมาชิกในสังคมทุกๆคนควรที่จะตระหนักเอาใจใส่ และสร้างสรรค์ขึ้นให้มากที่สุด

ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสหลักธรรมอันจะเป็นแนวทาง
ในการเสริมสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในสังคมเอาไว้ ๖ ประการด้วยกัน ซึ่งอยู่ในหมวดธรรมที่เรียกว่า "สาราณียธรรม ๖ "

ซึ่งมีความหมายว่า หลักธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึง เป็นหลักธรรมที่จะเสริมสร้างความรู้สึกที่ดี
ให้เกิดขึ้นต่อกันและกันอยู่เสมอในยามที่ระลึกถึงกัน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความสามัคคีมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้เกิดขึ้นด้วย

หากสังคมใดต้องการที่จะเสริมสร้างความสามัคคีและความ เป็นปึกแผ่นให้เกิดขึ้น
ก็ควรที่จะต้องนำเอาหลักธรรมธรรมทั้ง ๖ ประการ ไปใช้อยู่ตลอดเวลา กล่าวคือ:-

๑. เมตตามโนกรรม

หมายถึง การคิดดี การมองกันในแง่ดี มีความหวังดีและปรารถนาดีต่อกัน รักและเมตตาต่อกัน คิดแต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ต่อกัน ไม่อิจฉาริษยา ไม่คิดอคติ ไม่พยาบาท ไม่โกรธแค้นเคืองกัน
รู้จักให้โอกาสและให้อภัยต่อกันและกันกันอยู่เสมอ

๒. เมตตาวจีกรรม

หมายถึง การพูดแต่สิ่งที่ดีงาม พูดกันด้วยความรักความปรารถนาดี รู้จักการพูดให้กำลังใจกันและกัน
ในยามที่มีใครต้องพบกับความทุกความผิดหวังหรือความเศร้าหมองต่างๆ โดยที่ไม่พูดจาซ้ำเติมกันในยามที่มีใครต้องหกล้มลง

ไม่นินทาว่าร้ายทั้งต่อหน้าและลับหลัง พูดแนะนำในสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ พูดอย่างใดก็ทำอย่างนั้น ไม่โกหกมดเท็จ

๓. เมตตากายกรรม

หมายถึง การทำความดีต่อกัน สนับสนุนช่วยเหลือกันทางด้านกำลังกายมีความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่เบียดเบียนหรือรังแกกันไม่ทำร้ายกัน ให้ได้รับความทุกขเวทนา ทำแต่ในสิ่งที่ถูกต้องต่อกันอยู่ตลอดเวลา

๔. สาธารณโภคี

หมายถึง การรู้จักแบ่งปันผลประโยชน์กันด้วยความยุติธรรม ช่วยเหลือกัน ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ไม่เอารัดเอาเปรียบ และมีความเสมอภาคต่อกัน เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันอยู่เสมอ

๕. สีลสามัญญตา

หมายถึง การปฏิบัติตามกฏระเบียบข้อบังคับหรือวินัยต่างๆอย่าง เดียวกันเคารพในสิทธิเสรีภาพของบุคคล ไม่ก้าวก่ายหน้าที่กัน ไม่อ้างอำนาจบาตรใหญ่ ไม่ถืออภิสิทธิ์ใดๆทั้งปวง

๖. ทิฏฐิสามัญญตา

หมายถึง มีความคิดเห็นเป็นอย่างเดียวกัน คิดในสิ่งที่ตรงกัน ปรับมุมมองให้ตรงกัน รู้จักแสงหาจุดร่วมและสงวนไว้ซึ่งจุดต่าง ของกันและกัน ไม่ยึดถือความคิดของตนเป็นใหญ่ รู้จักยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นอยู่เสมอ

หลักธรรมทั้ง ๖ ประการข้างต้นเป็นหลักธรรมสำหรับการเสริมสร้างความสามัคคี
และความเ ป็นปึกแผ่นให้เกิดขึ้นในสังคม อันจะนำมาซึ่งความสุข ความสันติ ความมั่นคง
และความเจริญก้าวหน้าทั้งทั้งหลายทั้งปวง

ดั่งพระพุทธวจนะบทที่ว่า

"สมคฺคยานํ ตโป สุโข ความสามัคคีของหมู่คณะเป็นเหตุนำความสุขมาให้"

สังคมที่เราอยู่ในปัจจุบันนี้คงจะมีความสงบสุขและน่า อยู่มากกว่านี้ยิ่งนัก ถ้าหากว่าสมาชิกในสังคมแต่ละคนได้นำเอาหลักธรรมที่กล่าวข้างต้นมาใช้

แต่ที่สังคมดูเหมือนมีปัญหา มีความแตกแยก และวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นเพราะว่าทุกคนละเลยหลักธรรมเหล่านี้ และกระทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม

กล่าวคือ ขาดความรักความเมตตา อิจฉาริษยากันนินทาว่าร้ายกัน เบียดเบียนและรังแกกัน เห็นแก่ตัว ถืออภิสิทธิ์ อ้างอำนาจบาตรใหญ่ และมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันต่างคนต่างก็ถือความคิดของตนเป็นใหญ่อยู่ตลอดเวลา

คนไทยได้ชื่อว่าเป็นคนที่ใจดีมีความรักความเมตตา ใจบุญสุนทาน ยิ้มเก่ง โอบอ้อมอารี ชอบช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นนิสัยปกติทั่วไปของคนไทยเ กือบทุกคน และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนไทย ซึ่ง อาจจะเรียกว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ของไทยเ ลยก็ว่าได้

สังคมคนไทยคงจะมีความสงบสุข มีความเจริญก้าวหน้า มีความอบอุ่นและน่าอยู่มากกว่าทุกวันนี้มากมายนัก ถ้าหากว่าคนไทยทุกคน เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน ยอมรับในความแตกต่างซึ่งกันและกันช่วยเหลือกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และรู้จักการให้อภัยกันอยู่ตลอดเวลา.

เรามาร่วมมือกันพัฒนาสังคมของเราให้มีความอบอุ่นและน่าอยู่กันเถอะ โดยการเสริมสร้างความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันใ ห้เกิดขึ้นในสังคมของเรา

แล้วเราจะได้พบกับสันติภาพและความอบอุ่นที่เราแต่ละคนต่างก็ปรารถนาและใฝ่ฝันหากันอยู่ตลอดมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น