วันอังคารที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวปัตตานี จัดอบรมหลักสูตรการผลิตข้าวปลอดสารพิษ แก่เกษตรกรในพื้นที่ อ.สิงหนคร และ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา หวังให้เกษตรกรพัฒนาการผลิตข้าวเพียงพอกับการบริโภคในพื้นที่

วันนี้ (10 มิ.ย. 57) ที่โรงแรมวีว่า อ.เมือง จ.สงขลา นายพิรสิญจ์ พันธุ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดการอบรม หลักสูตรการผลิตข้าวปลอดสารพิษ ตามโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวปลอดสารพิษ ภายใต้แผนการพัฒนาในพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปี 2557 โดยมี เกษตรกรในพื้นที่อำเภอรัตภูมิ อ.สิงหนคร และ นักเรียน กว่า 100 คน เข้าร่วมการอบรมในวันนี้

นางจำเนียร เจียมสวัสดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวปัตตานี กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมการข้าว ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวปลอดสารพิษ ภายใต้แผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2557 ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ได้แก่ อ.รัตภูมิ จำนวน 200 ไร่ และอำเภอสิงหนคร จำนวน 200 ไร่ รวมทั้งสิ้น 400 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 135 ครัวเรือน โดยมีกิจกรรมในการพัฒนาการผลิตข้าวให้มีการปรับปรุงคุณภาพดินและขยายพื้นที่ เพาะปลูกให้มีผลผลิตข้าวเพียงพอกับการบริโภคในพื้นที่ และยังจะช่วยฟื้นฟูพื้นที่นาให้สามารถผลิตข้าวได้ปริมาณมากขึ้นและเพิ่ม มูลค่าข้าวของเกษตรกรให้สูงขึ้นอีกด้วย โดยเกษตรกรสามารถจำหน่ายได้สูงกว่าข้าวทั่วไปอย่างน้อย 20 % เกิดความมั่นคงทางด้านอาหารแก่ผู้ผลิตและผู้บริโภคในพื้นที่ เกษตรกรผู้ผลิตข้าวในพื้นที่สามารถผลิตข้าวได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับ สถานการณ์ก่อให้เกิดความสมดุล มั่นคง ยั่งยืน แก่เกษตรและชุมชนต่อไป

การจัดอบรมในครั้งนี้ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวปัตตานี หวังให้เกษตรกรที่เข้าร่วมอบรมนำความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตข้าวปลอดสารพิษ การเกษตรดีที่เหมาะสม และการจัดการโรคและแมลงศัตรูข้าว ได้เป็นอย่างดี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตข้าวปลอดสารพิษที่ถูกต้องและสามารถผลิตข้าว ปลอดสารพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพและจำหน่ายเป็นสินค้าคุณภาพของจังหวัด ได้

จังหวัดสงขลา จัดกิจกรรมขับเคลื่อนสวัสดิการสังคมและการพัฒนาอาเซียน ปี 2557

ที่ห้องประชุมใช้บางยาง มหวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อ.เมืองสงขลา วันนี้ (10 มิ.ย.57) นายดลเดช พัฒนรัฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนสวัสดิการสังคมและการพัฒนาอาเซียน ปี 2557 ซึ่งจัดโดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา

นายจรัส ชุมปาน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการประชุมภาคีสวัสดิการสังคม ในอนุกรรมการประสานงานและส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2557 มีมติเห็นชอบให้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนสวัสดิการสังคมและการพัฒนาอาเซียน ปี 2557 ในระดับจังหวัด ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลัก ดังนี้ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประกอบการประชุม ระดับรัฐมนตรีสวัสดิการสังคมและการพัฒนาอาเซียน ซึ่งจะมีการประชุมในเดือนกันยายน 2557 ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาว เพื่อกระตุ้นให้ภาคีหุ้นส่วนทางสังคม ให้ความสำคัญกับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเซียน ซึ่งจะส่งผลต่อประชาสังคมโดยรวมและเพื่อส่งเสริมให้หุ้นส่วนทางสังคมได้ให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ แนวทางร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงการจัดสวัสดิการสังคมในทิศทางที่ดีขึ้น

ดังนั้นจังหวัดสงขลาได้จัดประชุมครั้งนี้ขึ้นเพื่อหารือเกี่ยวกับข้อคิดเห็นต่อการขับเคลื่อนสวัสดิการสังคมและการพัฒนาอาเซียน รวมทั้งเสนอแนวทางการส่งเสริมให้หุ้นส่วนทางสังคมเข้ามามีส่วนร่วมเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขในประเด็นการจัดสวัสดิการสังคม ซึ้งอาจส่งผลกระทบจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558 ประกอบด้วยบุคลากรจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรสาธารณประโยชน์และองค์กรสวัสดิการชุมชน รวมทั้งนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์



วิชราวุฒิ แกล้วกล้าหาญ//ภาพ
ยุสรา วาจิ//ข่าว

บ้านเด็กสงขลา พัฒนาศักยภาพเครือข่ายแกนนำเด็กและเยาวชนป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น

ที่ โรงแรมหาดแก้ว รีสอร์ท สงขลา อ.สิงหนคร วันนี้(10 มิ.ย.57) นายดลเดช พัฒนรัฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานพิธีเปิดโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพเครือข่ายแกนนำเด็กและเยาวชนป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น

นางณิชาพัชฌ์ เพ็ชรพันธุ์ ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์เด็กบ้านสงขลา เปิดเผยว่า สถานสงเคาระห์เด็กบ้านสงขลา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้จัดโครงพัฒนาศักยภาพเครือข่ายแกนนำเด็กและเยาวชน ป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น เนื่องจากสถานการณ์การคลอดบุตรของวัยรุ่นไทยในช่อง 5 ปี ที่ผ่านมา พบว่า การตั้งครรภ์ในกลุ่มมารดาวัยรุ่นมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตด้านการศึกษา สุขภาพ อาทิ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การเจริญเติบโตของเด็กทารกการเลี้ยงดูเด็ก การทำแท้ง รวมถึงปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งที่มีจำนวนมากขึ้น

การจัดฝึกอบรมในวันนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการ 100 คน จาก 5 โรงเรียน โรงเรียนละ 20 คน คือโรงเรียนชะแล้นิมิตวิทยา โรงเรียนระโนดวิทยา โรงเรียนสงขลาวิทยาคม โรงเรียนสทิงพระวิทยา และโรงเรียนสทิงพระชนูปถัมภ์ โดยจัดอบรม 2 วัน ซึ่งหัวข้อบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับ สถานการณ์ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องเพศ เทคนิคการให้คำปรึกษา และวิธีการผลิตสื่อเพื่อใช้ในการรงค์ป้องกัน ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น โดยได้รับเกียรติวิทยากร จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนีสงขลา


ยุสรา วาจิ//ข่าว
วิชราวุฒิ แกล้วกล้าหาญ//ภาพ

ผู้ว่าฯสงขลา มอบเกียรติบัตรแก่พันธมิตรวิทยากร กบข. 6 จังหวัดภาคใต้ หวังใช้วิทยากรในพื้นที่ ให้ความรู้แก่สมาชิก กบข.ในสังกัด

วันนี้ (10 มิ.ย. 57) ที่ห้องประชุมสมิหลา 1 โรงแรมบีพี สมิหลาบีช รีสอร์ท อ.เมือง จ.สงขลา นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับ กบข.และนำข้อมูลไปสื่อสารกับสมาชิกในสังกัด โดยมี พันธมิตรวิทยากรเข้าร่วม 59 คน จาก 6 จังหวัดในภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสงขลา สตูล นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และพัทลุง

ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ รองเลขาธิการ กบข. กล่าวว่า ตามที่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ (กบข.) ได้พัฒนาความสัมพันธ์ของสมาชิกด้วยกลยุทธ์ CRM โดยใช้กลไกในการขับเคลื่อนด้วยพันธมิตรวิทยากร ระบบฐานข้อมูล และพันธมิตร เพื่อสื่อสารและให้บริการสมาชิกอย่างทั่วถึงและครอบคลุมสมาชิก จึงได้จัดโครงการพันธมิตรวิทยากรมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายขอบเขตการเข้าถึงสมาชิกให้ได้มากขึ้นทุกปี

กิจกรรมการอบรมพันธมิตรวิทยากรในครั้งนี้ เพื่อให้พันธมิตรวิทยากรได้รับทราบข้อมูลต่าง ๆ ของ กบข. และนำข้อมูลไปสื่อสารกับสมาชิกในสังกัด โดยกิจกรรมแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ การบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับ กบข. บริการต่าง ๆ รวมถึงการขอความร่วมมือให้พันธมิตรวิทยากรนำข้อมูลดังกล่าวไปสื่อสารกับ สมาชิกในหน่วยงานต้นสังกัด และกิจกรรม workshop เพื่อทบทวนความรู้ ความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ของ กบข.

จังหวัดชุมพร จัดเวที ปรองดองสมานฉันท์ เวทีแรก ที่ อ.สวี

เวลา 14.00 น.วันนี้ (10 มิ.ย.57) ที่โรงเรียนสวีวิทยา อ.สวี จ.ชุมพร ศูนย์ปรองดอง-สมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป จ.ชุมพร ได้จัดเวทีชี้แจง แนวทางการปรองดอง-สมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูป โดยเชิญตัวแทนประชาชนทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับผู้นำชุมชน ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนกำนันผู้ใหญ่บ้าน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมรับฟัง โดยมี พล.ต.กลชัย สุวรรณบูลย์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะ ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบประจำจังหวัดชุมพร นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พล.ต.มนัส คงแป้น ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกชุมพร และ นายกิตติ แสงประดิษฐ์ นายอำเภอสวี ร่วมชี้แจง พล.ต.มนัส คงแป้น ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกชุมพร กล่าวว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอให้ทุกฝ่ายเดินหน้าสร้างปรองดองสมานฉันท์ ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.สั่งให้จัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์นับแต่ แถลงโรดแม็ป โดย มอบหมายให้เป็นหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกระทรวงมหาดไทย โดยมีผู้ว่าฯ เป็นผู้ดำเนินการหลักในแต่ละจังหวัดในส่วนของจังหวัดชุมพรกำหนดดำเนินการในทุกอำเภอ และในวันนี้เป็นเวทีแรก ที่อ.สวี

นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวในการสร้างความปรองดองเพื่อการปฏิรูป จะทำให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ และมีความจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือกัน ความคิดเห็นที่แตกต่างเกิดขึ้นได้ แต่ต้องไม่แตกแยก ที่ผ่านมาเป็นที่ทราบและรู้สึกได้ว่า สังคมเป็นอย่างไร ถึงเวลาแล้วที่ต้องคืนความสุขให้คนในชาติ

ชาวอำเภอเกาะสมุย รวมตัวประท้วง หลังได้รับความเดือดร้อนจากค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นกว่าปกติถึงเท่าตัว พร้อมเร่งการไฟฟ้าควรออกมาชี้แจง

 ชาวอำเภอเกาะสมุย รวมตัวประท้วง หลังได้รับความเดือดร้อนจากค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นกว่าปกติถึงเท่าตัว พร้อมเร่งการไฟฟ้าควรออกมาชี้แจง

เมื่อวันที่  9 มิ.ย.57   นายสุวพัฒน์ สมหวัง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขตอำเภอเกาะสมุย นายธนาคม รื่นพานิช เลขาธิการนายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย ตัวแทนประชาชน และประชาชนในพื้นที่อำเภอเกาะสมุยกว่า 30 คน ได้ร่วมกันประท้วงหน้าที่ว่าการอำเภอเกาะสมุย หลังจากที่ชาวบ้านจำนวนหนึ่งระบุว่า ได้รับความเดือดร้อนจากค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นกว่าปกติถึงเท่าตัว โดยถ้าเปรียบเทียบกับเดือนเมษายนที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม ค่าไฟเดือนพฤษภาคม มีการจัดเก็บค่าไฟฟ้าแพงกว่าเดือนเมษายนกว่าหนึ่งเท่าตัว ประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนระบุว่า การใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนก็ยังคงใช้ไฟฟ้าตามปกติ แต่ทำไมการไฟฟ้า จึงเรียกเก็บค่าไฟฟ้าสูงมากขึ้น จนสร้างความเดือนร้อนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในอำเภอเกาะสมุยเป็นอย่างมาก จึงได้รวมตัวกันออกมาเรียกร้องให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอเกาะสมุย ออกมาชี้แจ้งปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งได้ยื่นหนังสือให้แก่ทางนายอำเภอเกาะสมุย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาให้แก่ประชาชน

ด้าน นายไพบูลย์ โอมาก นายอำเภอเกาะสมุย ได้ออกมารับหนังสือร้องเรียนจากตัวแทนประชาชน และประชาชนที่มาประท้วงกันอยู่ที่หน้าที่ว่าการอำเภอเกาะสมุย หลังได้รับทราบเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนแล้ว ต่อไปจะได้เชิญเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอเกาะสมุย เข้ามาชี้แจ้งต่อประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อจะเร่งแก้ปัญหาให้แก่ประชาชนโดยเร็วที่สุด

ด้านนายโสรัตน์ มีถาวร ผู้ช่วยผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอเกาะสมุย ระบุในเบื้องต้นได้รับทราบปัญหา และความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ออกมาเรียกร้องเรื่องการจัดเก็บค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดยขณะนี้ได้มีผู้ได้รับผลกระทบแจ้งรายชื่อมาแล้วกว่า 80 ราย ซึ่งทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอเกาะสมุย จะได้มีการจัดส่งช่างไปตรวจสอบมิเตอร์ของแต่ละบ้านว่าเกิดความผิดพลาดในการใช้งานหรือไม่ และอีกด้านจะเชิญผู้ที่ได้รับผลกระทบมาประชุมหาแนวทางแก้ปัญหาแก่ชาวบ้านอีกทางหนึ่งด้วย แต่ทางการไฟฟ้า ระบุเบื้องต้นทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่ได้มีการจัดเก็บค่าไฟฟ้าเพิ่มมากไปกว่าที่ทางกฎหมายกำหนดแต่อย่างใด

บุคลากรครู เยาวชนโรงเรียนสตรีทุ่งสงรับทราบแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

 พลตรีสนอง คงยั่งยืน ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกทุ่งสง มอบหมายให้ พันโทมีชัย ไทรงาม ผู้บังคับหน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหารจังหวัดทหารบกทุ่งสง พร้อมคณะ เดินทางไปชี้แจงทำความเข้าใจการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ โดย นายปรีชา แร่ทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีทุ่งสง นำคณะอาจารย์และนักเรียนโรงเรียนสตรีทุ่งสงกว่าสองพันคน รับฟัง หลังเข้าแถวเคารพธงชาติหน้าเสาธง ที่โรงเรียนสตรีทุ่งสง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อเวลา 08.00 น.เช้าวันนี้(10 มิ.ย.57)

พันโทมีชัย ไทรงาม ชี้แจงถึง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ไขได้ มีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงมากขึ้น นำความสูญเสียมาสู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ปัญหาสำคัญ 10 ข้อ เช่น มีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง หยั่งลึกไปจนถึงระดับครอบครัว การใช้อำนาจปกครองที่กระทำอยู่เดิมไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ความแตกแยก และกระทำผิดของกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ได้อีกต่อไป

แนวทางการเลือกตั้งแบบเดิมมีการต่อต้านอย่างกว้างขวาง มีการชุมนุมทางการเมืองยาวนานถึง 6 เดือน มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น และมีการล่วงละเมิดสถาบันฯตามมาตรา 112 ทั้งทางลับและเปิดเผย และชี้แจงแผนโรดแมปประเทศ 3 ขั้นตอน

จากนั้น พันโทมีชัย ได้ให้นักเรียน 3 คนตอบคำถามเรื่องที่ได้ชี้แจงไป ปรากฎว่านักเรียนมีความเข้าใจ ตอบคำถามได้ถูกต้อง ได้รับมอบรางวัล บรรยากาศเป็นไปด้วยความเข้าใจและมีเสียงหัวเราะ

พันโทมีชัย ไทรงาม ฝากให้นักเรียนนำเรื่องที่ได้รับฟัง ไปชี้แจงทำความเข้าใจกับสมาชิกในครอบครัวและชุมชน หากมีเบาะแสเกี่ยวกับยาเสพติด อาวุธสงคราม และ บ่อนการพนัน ให้ช่วยแจ้งไปที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารและศูนย์ช่วยเหลือประชาชน จังหวัดทหารบกทุ่งสง โทร. 0-7549-5074-8 ต่อ 45032

สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับเครือข่ายท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดภูเก็ต ประชุมผู้นำกลุ่มท่องเที่ยวชุมชน 14 ชุมชน สร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย-เชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชนภายในจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคใต้อันดามัน

วันนี้ (10 มิ.ย.57) ที่ครัวชุมชนบ้านบางโรง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม ประชุมสัมมนาการพัฒนาเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดภูเก็ต โครงการพัฒนากลไกการตลาดและเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวอันดามัน ประจำปี 2557 มีนายประเจียด อักษรธรรมกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต นายสันติ ป่าหวาย ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต นายปัณญา สำเภารัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอก หัวหน้าส่วนราชการ รวมทั้งผู้นำกลุ่มท่องเที่ยวชุมชน ในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 14 ชุมชน และสื่อมวลชน เข้าร่วม

นายทรงสิทธิ์ บุญผล ประธานเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ด้วยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับเครือข่ายท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดภูเก็ต ได้ดำเนินโครงการพัฒนากลไพการตลาดและเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวอันดามันพัฒนามาตรฐานการบริการการท่องเที่ยว และประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ของชุมชน เชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว ส่งเสริมกิจกรรมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นที่ยอมรับมีมาตรฐาน สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน

กิจกรรมในการประชุมสัมมนาการพัฒนาเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดภูเก็ต ในครั้งนี้เป็นการจัดประชุมเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และผลการดำเนินงานของแต่ละกลุ่ม ตลอดจนการร่วมกันจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนเชื่อมโยงภายในจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคใต้อันดามัน เพื่อรองรับการจัดกิจกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาและนันทนาการผู้สูงอายุแห่งชาติ การแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนบีชเกมส์ และกิจกรรมเพื่อการกีฬาและการท่องเที่ยวอื่นๆ ของจังหวัดภูเก็ต ต่อไป

ด้านนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ต นอกจากจะมีทรัพยากรทางการท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามเป็นที่รู้จักทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศแล้วกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสัมผัสวิถีชีวิตชุมชน เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศให้ความสนใจมากขึ้น

การท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สร้างความสามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์ให้คนในชุมชน ที่ผ่านมาพบว่าชุมชนที่ดำเนินการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้รับประโยชน์จากการดำเนินการในหลายด้าน เช่น การฟื้นฟูวิถีชีวิต วัฒนธรรม การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม การพัฒนาศักยภาพคนในชุมชน รวมถึงการสร้างรายได้เสริมเล็กๆ น้อยๆ ให้แก่คนในชุมชน กระบวนการหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการท่องเที่ยวโดยชุมชน คือการตลาดสำหรับการท่องเที่ยวโดยชุมชน เนื่องจากการตลาดเป็นกระบวนการหนึ่งที่ทำให้ชุมชนในฐานะของ “ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว” เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้นในตลาดท่องเที่ยว

นอกจากข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวแล้ว ชุมชนควรมีการจัดทำข้อมูลสำหรับการสนับสนุน ส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนนำเสนอต่อนักท่องเที่ยวไปพร้อมกันด้วย ดังเช่น ข้อมูลด้านที่พัก การบริการและการอำนวยความสะดวก การเดินทางและการเข้าถึงชุมชน ความปลอดภัย ราคา/อัตราค่าบริการที่มีการจำแนกรายละเอียดอย่างชัดเจน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญสำหนับการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน นายไมตรี กล่าวในที่สุด

ภูเก็ตตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 10 มิ.ย. 57 นายไมตรี  อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปจังหวัดภูเก็ต โดยมี ดร.สมหมาย  ปรีชาศิลป์ นายสมเกียรติ  สังข์ขาวสุทธิรักษ์  นายจำเริญ  ทิพญพงศ์ธาดา  รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต เข้าร่วม

สำหรับวาระการประชุมที่สำคัญ มีการแจ้งเรื่องการจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปจังหวัดภูเก็ตและการแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ฯ พร้อมทั้งมอบหมายภารกิจให้กับหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ นายอำเภอ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประธานภาคสังคมต่าง ๆ

นายไมตรี  กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งแนวทางปฏิบัติในห้วงการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก รวมทั้งประกาศและคำสั่งต่าง ๆ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และแจ้งแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของประชาชนให้สามารถดำรงชีวิตร่วมกันได้ โดยเน้นถึงความสามัคคีของคนในชาติเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปและพัฒนาประเทศในระยะยาว ไว้ 9 แนวทางประกอบด้วย 1) ถือเป็นวาระสำคัญของชาติ เพื่อให้ประชาชนในทุกพื้นที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข คิดต่างแต่ไม่แตกแยก 2) บุคลากรในภาครัฐทั้งราชการส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่นทุกหมู่เหล่าจะต้องมีความเข้าใจถึงหลักเหตุผลที่ถูกต้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันอย่างถ่องแท้ไม่มีอคติ ช่วยกันเดินหน้าปฏิรูประเทศให้ได้ มีระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่ถูกต้อง เที่ยงธรรม มีธรรมาภิบาลโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  3) ให้สถาบันหลักของจังหวัด ตลอดจนอาสาสมัครทุกกลุ่มเข้าใจในประเด็นตามข้อ 2  4) เร่งสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพให้เกิดขึ้นเพื่อสร้างประเทศให้แข็งแกร่งตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป 5) สถาบันครองครัวจะต้องหันกลับมาดูแลและเป็นที่พึ่งของกันและกันของสมาชิกครอบครัว โดยอาจใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ในครอบครัวอย่างต่อเนื่องและบ่อยครั้งขึ้น โดยขอความร่วมมือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น 6) ประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบและควรกำหนดในหลาย ๆ ช่องทางของการประชาสัมพันธ์ 7) ลดแนวทางประชานิยมลงให้ได้ 8) ใช้รากฐานเดิมของสังคมและวัฒนธรรมดั้งเดิมที่งดงามมาเป็นกลไกสร้างความสมัครสมานและความเสียสละของคนในสังคม 9) เร่งเร้าให้เกิดกระบวนการสร้างความร่วมมือของประชาชนทุกสาขาอาชีพ จัดให้มีเวทีตามความเหมาะสม เพื่อชี้แจงเหตุผลที่ต้องมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

พ่อเมืองภูเก็ตพอใจ การฝึกซ้อมการบริหารภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางทะเล

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 10 มิ.ย. 57 ที่ห้องประชุม ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 จังหวัดภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ตรวจเยี่ยมการฝึกซ้อมสถานการณ์การฝึกภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางทะเล ภายใต้การบริหารของ ศรชล. การฝึกบริหารวิกฤติการณ์ระดับชาติ ประจำปี 2557 (C-MEX 14) โดยมี นาวาเอกกฤษดา รัตนสุภา รอง ผ.อ. รมน.ภูเก็ต ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผอ.ป้องกันและบรรเทาสาธารภัยเขต 18 ภูเก็ต นายสันติ์ จันทรวงษ์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต ส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวถึงการฝึกปัญหาที่บังคับการ (CPX) ของ ศรชล.เขต3 และ จว.ภูเก็ต ว่า มีความพอใจในระดับหนึ่ง สำหรับการฝึกซ้อม (CPX) ในจังหวัดภูเก็ตครั้งนี้  เนื่องจากเป็นการสมมุติเหตุการณ์ภัยพิบัติทางทะเล เรื่องของอุบัติเหตุเรือชน และการเกิดคราบน้ำมันบนพื้นผิวน้ำ ซึ่งทำให้เกิดมลภาวะทางท้องทะเล ทั้งนี้ได้มีหน่วยงานต่างๆ ตั้งศูนย์ในการปฏิบัติงานดังกล่าวอยู่ที่โรงแรม เช่น ทัพเรือภาคที่ 3 ตำรวจน้ำ เจ้าที่ภูมิภาคที่ 5 ศุลกากร เป็นต้น  ทั้งนี้หากเกิดสถานการณ์จริงจะมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติงานที่กองทัพเรือภาค 3 และส่วนหลักจะตั้งศูนย์ปฏิบัติงานที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ภูเก็ต (ปภ.18 ภูเก็ต) เพื่อเป็นการสื่อสาร การเตรียมการในเชิงยุทธการ และเป็นการประสานงานเมื่อเกิดเหตุการณ์จริง อย่างไรก็ตามการสมมุติเหตุการณ์เสมือนจริงเพื่อความเม่นยำในการปฏิบัติงาน และคาดว่าผลที่ได้รับในการดำเนินงานในครั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์สามารถเรียกปฏิบัติงานภายใน 30 นาที ในการประจำในสถานีนั้นๆ เพื่อการปฏิบัติงานอย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มสื่อ(โฆษก)ในการสื่อสารเพื่อรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งได้มีการฝึกซ้อมการปฏิบัติงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการปฏิบัติงานที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพที่เป็นน่าพอใจในทุก ๆ ฝ่าย

ภูเก็ตตั้งศูนย์เครือข่ายยุติธรรมชุมชน 17 แห่ง ช่วยเหลือด้านกฎหมายและแจ้งเบาะแสยาเสพติด

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 10 มิ.ย. 57 ณ ห้องประชุมศูนย์ยุติธรรม อ. เมืองภูเก็ต นายธวัชชัย  ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานประชุมร่วมคณะกรรมการศูนย์ยุติธรรมชุมชนอำเภอเมือง รวมทั้งเครือข่ายยุติธรรม อำเภอเมืองภูเก็ต เพื่อรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะในการดำเนินงานของศุนย์ยุติธรรม อ. เมืองภูเก็ต โดยมีนายระพินทร์  นิชานนท์ ผู้บัญชาการเรือนจังหวัดภูเก็ต ส่วนราชการ ภาคเครือข่ายยุติธรรม เข้าร่วม

นายธวัชชัย  กล่าวว่า ทางกระทรวงยุติธรรม เตรียมจัดตั้งศูนย์เครือข่ายยุติธรรมชุมชนของจังหวัดภูเก็ตจำนวน 17 แห่ง เพื่อเป็นศูนย์ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและเป็นศูนย์บริการด้านสวัสดิการช่วยเรื่องของคดี โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ศูนย์ดังกล่าวจะเป็นศูนย์ที่ช่วยแจ้งเบาะแส ปัญหาทางสังคมโดยเฉพาะปัญหายาเสพติดในแต่ละพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ภายในศูนย์แต่ละตำบลจะมีเจ้าหน้าที่ นิติกร ทนายความ คอยให้บริการให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ด้านคดีต่าง ๆ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและช่วยเบ่งเบาภาระของส่วนราชการได้

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรรณรงค์ส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีทดแทนสวนเก่า 10,000 ไร่ 5 จังหวัดภาคใต้


วันนี้ (10 มิ.ย. 57) นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานเปิดงานรณรงค์ส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีทดแทนสวนเก่า ณ สนามบริเวณสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ อ.เมือง จ.กระบี่ โดยมีนายไพศาล โรจน์สราญรมย์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวรายงาน

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันสวนปาล์มน้ำมันอายุมากกว่า 25 ปี มีอยู่ประมาณ 260,000 ไร่ ซึ่งนับวันจะทรุดโทรมและให้ผลผลิตต่ำ จึงมีการดำเนินโครงการส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีทดแทนสวนเก่าฯ เพื่อนำร่องการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันของประเทศไทย โดยส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ต้นกล้าปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตสูง มาปลูกทดแทนต้นปาล์มน้ำมันเดิมที่มีอายุมากกว่า 20 ปี ที่มีอยู่กว่า 300,000 ไร่ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนต้นกล้าปาล์มน้ำมันพันธุ์ดี พร้อมปัจจัยการผลิตในช่วง 3 ปีแรก เช่น ปุ๋ยเคมี สารเคมี พร้อมทั้งอบรมและนำเกษตรกรดูงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 เป็นปีที่ 1 ดำเนินการปลูกทดแทนไปแล้วกว่า 10,000 ไร่ และในปีนี้ได้ดำเนินการเป็นปีที่ 2 (พ.ศ. 2556 – 2557) ซึ่งได้ประชาสัมพันธ์รับสมัครและคัดเลือกเกษตรกรตามเงื่อนไขโครงการ พร้อมทั้งอบรมและนำเกษตรกรดูงาน พร้อมที่จะส่งมอบต้นกล้าปาล์มน้ำมันพันธุ์ดี (พันธุ์สุราษฎร์ธานี รวมทั้งปัจจัยการผลิตในเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2557 นี้ และในวันนี้ (10 มิถุนายน 2557) ได้จัดงานรณรงค์ส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีทดแทนสวนเก่าขึ้นที่จังหวัดกระบี่เพื่อรณรงค์และประชาสัมพันธ์โครงการ โดยในงานดังกล่าวประกอบด้วยการเสวนาวิชาการปาล์มน้ำมัน นิทรรศการด้านเทคโนโลยีการผลิต และจัดคาราวานรถยนต์ส่งมอบต้นกล้าปาล์มน้ำมันให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ

นายไพศาล โรจน์สราญรมย์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า โครงการส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีทดแทนสวนเก่าฯ ในปีนี้ดำเนินการในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง และ สตูล ซึ่งมีเป้าหมาย เกษตรกร 1,000 ราย พื้นที่ 10,000 ไร่ โดยมีศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตรัง ร่วมผนึกกำลังในการเพาะกล้าปาล์มน้ำมันที่มีคุณภาพพร้อมส่งมอบถึงมือเกษตรกรที่ร่วมโครงการ จำนวน 250,000 ต้น

นายไชยยุทธ์ ขุนฤทธิ์แก้ว เกษตรจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดกระบี่มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 989,246 ไร่ เป็นปาล์มที่มีอายุมากกว่า 20 ปี 203,382 ไร่ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในปีนี้ จำนวน 370 ราย พื้นที่ 3,300 ไร่ ได้รับมอบพันธุ์ปาล์มน้ำมันไปแล้ววันนี้ 20 ราย จำนวนต้นกล้าปาล์มน้ำมัน 5,000 ต้น ส่วนที่เหลือจะทยอยส่งมอบให้แก่เกษตรกรต่อไป ผลการจากการดำเนินโครงการนี้จะทำให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันที่มีปาล์มอายุมากซึ่งผลผลิตจะเริ่มลดลง เก็บเกี่ยวยาก และไม่คุ้มกับการดูแลรักษา ได้หันมาโค่นล้มปาล์มเก่าเพื่อปลูกใหม่ทดแทนโดยใช้ปาล์มพันธุ์ดีที่ทางราชการส่งเสริม จะทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตในเรื่องของการดูแลรักษาลดลง และปาล์มพันธุ์ดีที่ส่งเสริมจะให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันที่สูงอีกด้วย



หน่วยงานที่แจ้งประชาสัมพันธ์
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกระบี่

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรัง สั่งเจ้าหน้าที่คุมเข้มการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล พร้อมทั้งฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยง ภายหลังจากพบผู้ป่วยโรคไข้หวัด เสียชีวิตแล้ว 1 ราย

นายแพทย์ชัยยุทธ ศักดิ์ศรชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรัง กล่าวถึงแนวทางการบริหารการให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ปี 2557 ซึ่งสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ทั่วประเทศตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 20 พฤษภาคม 2557 ได้รับรายงาน35,633 ราย อัตราป่วย 55.61 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 49 ราย จังหวัดตรัง ลำดับที่ 51 ของประเทศ และข้อมูลไข้หวัดใหญ่ เขต 12 ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 20 พฤษภาคม 2557 ได้รับรายงาน 477 ราย อัตราป่วย 10.13 ต่อแสนประชากร มีรายงานผู้เสียชีวิตที่จังหวัดสงขลา 2 ราย จังหวัดตรัง 1 ราย สายพันธุ์ เอช 3 ซึ่งแนวทางการให้บริการวัคซีนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ปี 2557 กลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก คือบุคลากรทางการแพทย์ ของโรงพยาลตรังกว่า 700 คน ประชาชนกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ป่วยเรื้อรัง ยุคคลที่ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป หญิงมีครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ผู้ป่วยโรคทาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ เอช ไอ วี) บุคคลโรคอ้วน น้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไป ทั้งนี้การฉัดวัคซีนเน้นหนักตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 31 กรกฎาคม เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับวัคซีนป้องกันโรคไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ทั้งนี้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรัง ยังขอให้ประชาชนกินร้อน ช้อนกลางและล้างมือทุกครั้งที่รับประทานอาหาร และหากประชาชนชนป่วยเป็นไข้ขอให้รีบพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ทำการวินิจฉัยโรคให้ถูกต้อง เพื่อที่แพทย์จะรักษาได้ทันท่วงทีเพื่อลดการสูญเสียชีวิตของประชาชน
   

ชาวบ้านในตำบลเขาไม้แก้ว ตำบลกะลาเส และเทศบาลตำบลควนกุน อ.สิเกา ฟังผลเจาะเลือดกับ อบจ.ตรัง

ที่ห้องประชุมโรงเรียนสิเกาประชาผดุงวิทย์ อ.สิเกา นายกิจ หลีกภัย นายก อบจ.ตรัง เป็นประธานและร่วมฟังผลเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ ตามโครงการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชน ในเขตพื้นที่ จ.ตรัง ประจำปี 2557 โดยวันนี้เป็นการฟังผลของประชาชนในตำบลเขาไม้แก้ว ตำบลกะลาเส และเทศบาลตำบลควนกุน โดยนายก อบจ.ตรังได้ให้ประชาชนที่มาฟังผลการตรวจสุขภาพร่วมกิจกรรมและรับรางวัล หลังจากนั้น นายแพทย์ตุลกานต์ มักคุ้น นายแพทย์ชำนาญการกลุ่มงานโสต ศอ นาสิก รพ.ตรังให้ความรู้เพื่อให้ประชาชนนำไปปฏิบัติและขยายผลการเฝ้าระวังถึงคนในครอบครัว และในชุมชนต่อไป โครงการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชน ในเขตพื้นที่ จ.ตรัง ประจำปี 2557 อบจ.ตรัง ได้ตั้งงบประมาณไว้ 18 ล้านบาท เพื่อทำการเจาะเลือด เก็บตัวอย่างปัสสาวะให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงในจังหวัดตรัง จำนวน 30,000 คน ซึ่งจะทำการตรวจร่างกายให้ 14 รายการประกอบด้วยวัดความดัน,ชั่งน้ำหนัก,ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด,ตรวจปัสสาวะสมบูรณ์แบบ,ตรวจหาหมู่เลือด,ตรวจหาไขมันความหนาแน่นต่ำในเลือด,ตรวจการทำงานของไต,ตรวจการทำงานของไต,ตรวจวัดระดับยูริค (โรคเก๊าท์),ตรวจการทำงานของตับ,ตรวจระดับแคลเซียมในเลือด,ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์,ตรวจหามะเร็งจากกลุ่มเสี่ยงร้อยละ 10 หรือ 3,000 คน (ผู้ชายจะตรวจ 3จุดคือ ตับ ลำไส้ และต่อมลูกหมาก ผู้หญิงจะตรวจ มะเร็งเต้านม ปากมดลูก ลำไส้และท่อรังไข่) และปีนี้เพิ่มการตรวจไวรัสตับ ซึ่งหากประชาชนไปตรวจสุขภาพที่รพ.ทั่วไปตามรายการดังกล่าวทั้ง 14 รายการต้องมีค่าใช้จ่ายคนละไม่ต่ำกว่า 3 พันบาท แต่ทาง อบจ.ตรังจัดบริการตรวจให้ฟรี

ตัวแทนบริษัทอินเดีย สนใจท่าเทียบเรือนาเกลือ อ.กันตัง จ.ตรัง

ที่ห้องประชุมอบจ.ตรัง ตัวแทนบริษัทซิงค์ มารีน ซินดิเคท ลิมิเต็ด จากประเทศอินเดีย เข้าพบนายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง และคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ เพื่อขอข้อมูลและขออนุญาตสำรวจความเป็นไปได้ที่จะบริหารจัดการท่าเทียบเรือ นาเกลือ อ.กันตัง จ.ตรัง เนื่องจากสนใจในท่าเทียบเรือท่าเรือนาเกลือ อ.กันตัง โดยเห็นท่าเทียบเรือนาเกลือ อ.กันตัง จ.ตรัง ว่าตั้งอยู่บนเส้นทางเชื่อมโยงการเดินเรือสินค้าระหว่างประเทศ มีทำเลที่ดี การจัดการขนส่งสินค้าจากต้นทางและปลายทางน่าจะมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะท่าเทียบเรือนาเกลือกับท่าเรือในประเทศอินเดีย ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน สำหรับท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ กำลังดำเนินการก่อสร้างบนพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ บริเวณหมู่ที่ 2 ต.นาเกลือ อ.กันตัง จ.ตรัง มีพื้นที่หลังท่า, พื้นที่เทกองสินค้า ,อาคารสำนักงานบริหารท่าเรือ ,อาคารซ่อมบำรุง ,อาคารห้องสุขา ,ด่านตรวจและชั่งน้ำหนักโกดังสินค้า กักกันพืช-สัตว์ ที่จอดรถ ,สถานีสูบน้ำและห้องเครื่อง โรงอาหาร ลานที่จอดรถ รวมทั้งที่ตั้งระบบสาธารณูปโภคต่างๆ

โดย อบจ.ตรัง ของบประมาณจากกรมเจ้าท่า มาดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ จำนวน 406,945,000 บาท ตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 ให้เป็นท่าเรือที่มีขนาดความกว้าง 29 เมตร ยาว 185 เมตร ความลึกหน้าท่า 5.5 เมตร สามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าประเภทเทกอง ขนาด 4,000 ตัน เรือจอดเทียบท่าได้ 2 ลำ/ครั้ง แยกเป็นท่าเรือส่งออก 1 ท่าและเป็นท่าเรือนำเข้า 1 ท่า โดยมีบริษัท พร้อมมิตร เอสเอเอฟที จำกัด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จตามสัญญาภายในวันที่ 16 กันยายน 2557 เป็นท่าเทียบเรือที่บริษัทเดินเรือต่างๆให้ความสนใจสูง เมื่อการก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือแล้วเสร็จจะทำให้การขนส่งสินค้าจากจังหวัดตรัง รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงไปยังประเทศต่างๆ เกิดความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ บังกลาเทศ ศรีลังกา และอินเดีย ที่เป็นคู่ค้าที่สำคัญ

พาณิชย์จังหวัดตรัง จัดตลาดนัดสีเขียว เลือกซื้อสินค้าปลอดภัยและสินค้าลดค่าครองชีพ ตามโครงการส่งเสริมตลาดสินค้าอินทรีย์

นายอาวุธ วงศ์สวัสดิ์ พาณิชย์จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้ชูแผนส่งเสริมตลาดสินค้าอินทรีย์ โดยมุ่ง 4 กลยุทธ์สำคัญ เน้นพัฒนาผู้ประกอบการ เร่งขยายตลาด เพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจอินทรีย์เข้มแข้ง หวังกระตุ้นการบริโภคภายใน ควบคู่ขยายการส่งออกไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบันความนิยมของผู้บริโภคส่วนใหญ่จะบริโภคสินค้าเพื่อสุขภาพดังนั้น สำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรัง จึงดำเนินการจัดตลาดนัดสีเขียว เลือกซื้อสินค้าปลอดภัยและสินค้าลดค่าครองชีพ อาทิ ผักปลอดสารพิษ ผลไม้ปลอดภัยจากสวน สินค้าธงฟ้า เนื้อสุกรชำแหระ ไข่ไก่ และสินค้าอื่น ๆ มากมาย มาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค ทุกวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 06.00 น.เป็นต้นไป โดยจะเริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน 2557

จ.ตรัง แถลงผลการกวาดล้างอาชญากรรม สามารถยึดของกลางอาวุธสงครามพร้อมกระสุน

ที่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดตรัง นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พล.ต.ต.จีรวัฒน์ อุดมสุด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตรัง พ.อ.อัษฎา แสงฤทธิ์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดตรัง รองผู้บังคับการในสังกัดตำรวจภูธรจังหวัด และหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรในสังกัด ร่วมกันแถลงข่าว ผลการระดมกวาดล้างตามมาตรการเชิงรุกในการควบคุมอาวุธ ลดความรุนแรง และเหตุแทรกซ้อน ตามประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ คสช. ได้มีประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อป้องกันระงับยับยั้งและแก้ไขสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของประเทศ กองบัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดตรัง จึงได้ระดมกวาดล้าง

โดยเน้นกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับอาวุธปืน อาวุธสงคราม วัตถุระเบิด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ซึ่งผลระดมกวาดล้าง เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องหาตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ของกลางอาวุธปืนธรรมดา 417 กระบอก กระสุน 2,300 นัด อาวุธปืนสงคราม 8 กระบอก กระสุน 125 นัด ระเบิด 2 ลูก และ อาวุธปืนสงคราม ปืนสงครามเอ็ม 16 5 กระบอก ปืนสงครามเอชเค 1 กระบอก ปืนสงครามคาร์บิน 1 กระบอก ปืนกลมือเอ็มซี.1 1 กระบอก กระสุนปืนสงคราม 125 นัด วัตถุระเบิด จำนวน 2 ลูก จับกุมผู้ต้องหาทั้งสิ้น 440 คดี ผู้ต้องหา 472 คน นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้กล่าวว่า จังหวัดตรังได้มีการสนธิกำลัง 3 ฝ่ายระหว่างทหาร ตำรวจ และทหาร ระดมการปฏิบัติการกวาดล้างอาวุธสงคราม ล่าสุดมีการส่งมอบอาวุธคืนทางราชการ โดยส่งมอบฝ่ายปกครอง ประกอบด้วย ระเบิดเอ็ม 79 จำนวน 2 ลูก ซองกระสุนเอ็ม 16 จำนวน 2 ซอง ซองกระสุนเอสเค 1 ซอง ซองกระสุนเอ็ม 16 ขนาด 5.56 จำนวน 154 นัด และส่งมอบผ่านตำรวจภูธรจังหวัดตรัง ประกอบด้วย อาวุธปืนไทยประดิษฐ์ลูกซองสั้น 2 กระบอก มีดพก 4 ด้าม กระสุนลูกซองเบอร์ 12 จำนวน 2 นัด และซองใส่อาวุธปืน 2 ชุด

ส่วนทางด้าน พล.ต.ต.จีรวัฒน์ อุดมสุด ผบก.ภ.จว.ตรัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดตรัง ได้ดำเนินการป้องกันอาชญากรรมทุกรูปแบบในพื้นที่จังหวัดตรัง มีการจัดทำแผนป้องกันปราบปรามอาชญากรรม รวมถึงการกวาดล้างอาวุธสงครามมาอย่างต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้สถานีตำรวจภูธรทั้ง 16 แห่ง ปฎิบัติการด้วยตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ตรวจค้นอาวุธสงครามมาตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2556 –มิถุนายน 2557 และสามารถจับกุมได้ทั้งอาวุธปืนธรรมดาได้จำนวน 417 กระบอก กระสุนปืนธรรมดา จำนวน 2,300 นัด และอาวุธปืนสงคราม 8 กระบอก กระสุนปืนสงคราม 125นัด พร้อมวัตถุระเบิด จำนวน 2 ลูก การปฎิบัติหน้าที่ในการกวาดล้างอาวุธสงครามของตำรวจภูธรจังหวัดตรัง สามารถควบคุมอาวุธได้ส่วนหนึ่ง ทำให้มีการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตน้อยลง แต่เชื่อว่ายังมีอาวุธสงครามอีกมากที่จะต้องกวาดล้าง โดยจะต้องประสานกำลังระหว่างทหารและฝ่ายปกครองระดมกวาดล้างอย่างจริงจังและ ต่อเนื่อง หลังจากวันที่ 10มิถุนายน จะมีการสนธิกำลังปฎิบัติการกวาดล้างอาวุธสงครามอย่างหนักต่อไป ทาง พ.อ.อัษฎา แสงฤทธิ์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่ทาง คสช.ประกาศให้ผู้ที่ครอบครองอาวุธปืน นำอาวุธปืนมามอบให้กับทางเจ้าหน้าที่แล้วจะไม่มีความผิด หากเลยจากวันนี้ 10 มิ.ย.2557 จะมีความผิดทันทีหากถูกจับกุมได้ อย่างไรก็ตามจะมีการประสานงานร่วม 3 ฝ่ายในการตรวจค้นอาวุธปืน อาวุธสงคราม ที่คาดว่าจะมีอยู่อีกจำนวนมาก ซึ่งคดีที่เกิดในจังหวัดตรังระยะหลังมานี้ส่วนใหญ่จะใช้อาวุธปืนสงครามยิงถล่มคู่อริจนเสียชีวิตหลายราย

จังหวัดนครศรีธรรมราช เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 57 เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

วันนี้ (10 มิ.ย.57) ที่ห้องประชุมศรีปราชญ์ ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช ว่าที่ ร.ต.ฐิตวัฒน เชาวลิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานการประชุมติดตามเร่งรัดการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลการบริหารราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าร่วมประชุม

รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชได้จัดสรรงบประมาณโครงการงบพัฒนาจังหวัดภายใต้แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ให้ส่วนราชการต่าง ๆ จำนวน 16 โครงการ 53 กิจกรรม งบประมาณ กว่า 186 ล้านบาท และโครงการตามงบพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย จำนวน 6 โครงการ งบประมาณ กว่า 25 ล้านบาท ทั้งงบลงทุนและงบดำเนินงาน ซึ่งขณะนี้ใกล้สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณแล้ว แต่ผลการเบิกจ่ายยังอยู่ในระดับที่ต่ำ จึงขอให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้และให้เป็นไปตามระเบียบด้วย ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เน้นย้ำให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อจะได้ไปกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัด และประเทศในภาพรวมต่อไป ส่วนโครงการ/กิจกรรมใดที่ได้ดำเนินการแล้วขอให้รายงานความคืบหน้าลงในโปรแกรมระบบติดตามประเมินผลด้วยที่เว็บไซต์ http://padmee.moi.go.th.//

นายสมเกียรติ จันทร์หนู หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีโครงการงบพัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายตั้งแต่งบประมาณ พ.ศ. 2554-2556 อีกหลายโครงการจึงขอให้หน่วยงานรีบดำเนินการด้วย สำหรับโครงการงบลงทุนที่มีการจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์เกิน 1 แสนบาท และโครงการก่อสร้างที่เกิน 1 ล้านบาท ต้องส่งแผนการจัดซื้อจัดจ้างส่งให้ สตง.ด้วย

นายเจษฎา สมาธิ คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลการบริหารราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า การดำเนินงานทุกโครงการต้องตอบคำถามให้ได้ว่าประชาชนได้อะไรจากโครงการ ซึ่งคณะอนุกรรมการจะได้มีการลงพื้นที่ไปตรวจติดตามโครงการต่าง ๆ ต่อไป

จังหวัดนครศรีธรรมราช กำหนดจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา ประจำปี 2557 ระหว่างวันที่ 7-13 กรกฎาคม 2557 ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

วันนี้ (10 มิ.ย.57) เวลา 13.30 น.ที่ห้องประชุมพุทธสมาคมจังหวัดนครศรีธรรมราช นายศิริพัฒ พัฒกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานการประชุมเตรียมการจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา ประจำปี 2557ระหว่างวันที่ 7-13 กรกฎาคม 2557 ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานส่วนท้องถิ่น และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ของทุกปี เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่งคือวันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 4 ประการ คือ ประการแรกเป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา ประการที่สองเป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงได้ปฐมสาวก ประการที่สามเป็นวันแรกที่พระสงฆ์เกิดขึ้นในโลก และประการที่สี่เป็นวันแรกที่เกิดรัตนะครบทั้งสามรัตระ เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนวันเข้าพรรษาตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 เป็นวันที่พระสงฆ์ต้องอยู่จำพรรษาตลอดระยะเวลา 3 เดือน เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ปฏิบัติธรรมถวายเป็นพุทธบูชา สำหรับปี 2557 นี้ วันอาสาฬหบูชาตรงกับวันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม 2557 และวันเข้าพรรษาตรงกับวันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม 2557 ซึ่งจังหวัดนครศรีธรรมราชได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและดำเนินการจัดกิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในเทศกาลดังกล่าวเป็นประจำต่อเนื่องทุกโดยได้กำหนดจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา ประจำปี 2557ระหว่างวันที่ 7-13 กรกฎาคม 2557 ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โดยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในจังหวัด ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา สมาคม เป็นต้น

รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมประกอบด้วย การแต่งกายด้วยชุดสีขาว เข้าวัดปฏิบัติธรรม การประกวดศาสนพิธีกร พิธีหล่อเทียนหลอมใจชาวนครศรีธรรมราช จัดแสดงพระธรรมเทศนา การปฏิบัติธรรมกรรมฐานถวายเป็นพุทธบูชา การแสดงแสงสี (Light Up) พิธีอัญเชิญและถวายเทียนพรรษาพระราชทาน พิธีทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งแก่พระสงฆ์ พิธีตักบาตรธูปเทียน และพิธีเวียนเทียน จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนลดละเลิกอบายมุขทุกชนิด แต่งกายด้วยชุดสีขาวเข้าวัดปฏิบัติธรรม เข้าร่วมกิจกรรมและพิธีต่าง ๆ ในงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในวันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา ประจำปี 2557 ณ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช หรือที่วัดใกล้บ้าน

อดีตประธานอีโคมอสสากล กำหนดลงพื้นที่นครศรีธรรมราช 24-25 มิ.ย.57

อดีตประธานอีโคมอสสากล กำหนดลงพื้นที่นครศรีธรรมราช 24-25 มิ.ย.57 เพื่อให้คำปรึกษาการจัดทำเอกสารการนำเสนอพระบรมธาตุเจดีย์เป็นมรดกโลก

อดีตประธานอีโคมอสสากล ของยูเนสโก กำหนดลงพื้นที่นครศรีธรรมราช 24-25 มิถุนายนนี้ เพื่อร่วมรับฟังและชี้แนะการจัดทำเอกสารฉบับสมบูรณ์ในการนำเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

วันนี้ (10 มิ.ย.57) ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายวิชาการการจัดทำเอกสารต้นฉบับการนำเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (พระบรมธาตุเจดีย์)จังหวัดนครศรีธรรมราช ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เปิดเผยว่า ขณะนี้การจัดทำต้นฉบับเอกสารฉบับภาษาไทย ใกล้แล้วเสร็จ ซึ่งในระหว่างวันที่ 24-25 มิถุนายน 2557 คณะที่ปรึกษาในการในการจัดทำเอกสาร จำนวน 10 คน ซึ่งมีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิชาวต่างประเทศและชาวไทย นำโดย ดร.โรแลนด์ ซิลวา( DR.Roland Sylva) อดีตประธานกรรมการอีโคมอสสากล ขององค์การยูเนสโก และคณะ กำหนดเดินทางไปยังจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อตรวจติดตามการจัดเอกสารและการเตรียมความพร้อมของด้านต่าง ๆ ในการนำเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร(พระบรมธาตุเจดีย์) เป็นมรดกโลก
ผศ.ฉัตรชัย กล่าวว่า วันที่ 24 มิถุนายน 2557 ดร.โรแลนด์ และคณะ จะเดินทางไปยังวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เพื่อตรวจสภาพพื้นที่โดยรอบ ณ องค์พระบรมธาตุเจดีย์ หรือพื้นที่แกนกลาง หรือ Core Zone และเวลา 10.00 น.ประชุมรับฟังบรรยายสรุป ณ ห้องประชุมพุทธสมาคมจังหวัดนครศรีธรรมราช จากนั้น วันที่ 25 มิถุนายน 2557 เวลา 09.00 น.มีการประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะในการจัดทำเอกสารเพื่อให้มีความสมบูรณ์ก่อนแปลเป็นภาษาอังกฤษ และการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ โรงแรมทวินโลตัสนครศรีธรรมราช

“การเดินทางลงพื้นที่ของอดีตประธานกรรมการอีโคมอสสากลและคณะในครั้ง ถือเป็นการมาให้คำปรึกษา คำแนะนำ ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการจัดทำเอกสารฉบับสมบูรณ์ ตามหัวข้อที่กำหนด เช่นคำประกาศที่มีความโดดเด่นเป็นสากล ของพระบรมธาตุเจดีย์ ความเป็นขนานแท้และดั้งเดิม การบริหารจัดการในเขตแกนกลาง ( Core Zone) เขตกันชน(Buffer Zone) และสิ่งที่สร้างขึ้นมาใหม่ว่าจะบริหารจัดการอย่างไร เพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขเอกสารให้มีความสมบูรณ์ที่สุด ก่อนจะแปลเป็นฉบับภาษาอังกฤษต่อไปเพื่อให้ทันเวลาตามที่กำหนด” ผศ.ฉัตรชัย กล่าว

เกษตรกรในพื้นที่ตำบลควนพัง อำเภอร่อนพิบูลย์ ปลูกมันเทศ ในพื้นที่ 25 ไร่ มีรายได้สูงถึง 1 ล้านบาท ต่อ 1 ฤดูกาลผลิตในระยะเวลา 3 เดือน

วันนี้ (10 มิถุนายน 2557) นายสมนึก เหมณี เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วย นายเจือ สิริพร เกษตรอำเภอ นักวิชาการการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูงานส่งเสริมการเกษตรที่ประสบผลสำเร็จ ตามโครงการส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้ง อาทิ ฟักทอง มันเทศ และถั่วลิสง ในพื้นที่ตำบลควนพัง อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโครงการที่สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับเกษตรอำเภอร่อนพิบูลย์ จัดโครงการส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้งนำร่องในพื้นที่ตำบลควนพัง ปี 2557 เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี โดยเฉพาะในพื้นที่หมู่ที่ 2, 5 และ 8 ของตำบลควนพัง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม เกษตรกรมีการยกร่องปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่ หลังจากปี 2554 เป็นต้นมาเกิดอุทกภัย ทำให้ต้นปาล์มน้ำมันเสียหายและตายเป็นจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรมีภาระหนี้สินและไม่มีกำลังทรัพย์ในการดำเนินการปลูกปาล์มน้ำมันต่อไปได้ ทางเกษตรอำเภอร่อนพิบูลย์ได้สำรวจพื้นที่พบว่า ในพื้นที่ดังกล่าวดินมีความอุดมสมบูรณ์ดี มีการทับถมของอินทรียวัตถุมากมาย และมีน้ำขังเพียงพอในพื้นที่ร่องสวนปาล์มน้ำมัน น่าจะมีความเหมาะสมในการส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้งบางชนิด ที่สามารถสร้างรายได้ทดแทนปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตต่ำ เนื่องจากประสบปัญหาอุทกภัย ดังนั้นจึงได้มีการแนะนำส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้งขึ้น ในระยะเวลาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – ตุลาคม

เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า พื้นที่ตำบลควนพัง อำเภอร่อนพิบูลย์ เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกพืชฤดูแล้ง โดยเฉพาะมันเทศ ฟักทอง แตงโมง ถั่วลิสง และพืชชนิดอื่น ๆ ซึ่งผลดีของดินในพื้นที่ คือ หลังจากน้ำท่วมจะทำให้ดินมีสภาพดี และจะตัดวงจรศัตรูพืชที่อยู่ในดิน การปลูกพืชจึงไม่มีปัญหาเรื่องโรคและแมลง ทำให้สามารถผลิตพืชที่มีความปลอดภัยจากสารพิษ จึงทำให้ต้นทุนการปลูกพืชน้อยลง และจากสภาพดินจะทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ในขณะเดียวกันพืชที่ปลูกเป็นพืชที่มีอายุสั้นสามารถเก็บเกี่ยวได้เร็ว ทำให้เกษตรกรมีรายได้เร็วขึ้น โดยเกษตรกรผู้ปลูกพืชฤดูแล้งในพื้นที่ตำบลควนพัง มีจำนวน 262 ราย ปลูกแตงโมง 1,200 ไร่ ปลูกฟังทอง 250 ไร่ พริกขึ้หนูขาว 300 ไร่ มันเทศ 500 ไร่ถั่วฝักยาว 150 ไร่ ถั่วลิสง 200 ไร่ จากการผันวิกฤติให้เป็นโอกาสบนพื้นที่ 20,000 ไร่ คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี

นายเอกลักษณ์ สุขลี่ เกษตรกรผู้ปลูกมันเทศ อยู่บ้านเลขที่ 178/2 หมู่ 8 ตำบลควนพัง เล่าให้ฟังว่า ตนและครอบครัว เดิมปลูกปาล์มน้ำมัน แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว เป็นที่ลุ่มเมื่อเกิดอุทกภัย ทำให้น้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานานทำให้ต้นปาล์มน้ำมันเสียหายและตาย จึงหันมาปลูกมันเทศพันธุ์แครอท และพันโกปี้บ้าน แทนประมาณ 10 ปี บนพื้นที่ 25 ไร่ โดยจะเริ่มดำเนินการปลูกหลังจากน้ำลดประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ต้นทุนการผลิตต่ำเนื่องจากดินได้ปุ๋ยการการทับถมจากน้ำท่วม และตัดวงจรศัตรูพืชที่อยู่ในดินไป ไม่ต้องใช้สารเคมี และปุ๋ย จึงทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ โดยราคามันเทศขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 5 บาท บางฤดูการผลิตจะมีราคาสูงถึง 10 กว่าบาท ทำให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว 1 ฤดูกาลผลิต (ระยะเวลา 3 เดือน) บนเนื้อที่ 25 ไร้ จะมีรายได้ 1 ล้านบาท

ด้าน นายบุญโชค ศรีสุรางค์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ตำบลควนพัง อยากให้ภาคส่วนราชการเข้าไปดูแลในเรื่องของระบบน้ำ เนื่องจากขณะนี้หากเกิดภาวะฝนทิ้งแล้งติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะทำให้น้ำในร่องน้ำเป็นน้ำเปรี้ยว หากมีการบริหารจัดการน้ำเชื่อว่าจะทำให้ผลผลิตสูงขึ้น



พรรณี กลสามัญ /ข่าว
ชชาดล เจริญพงษ์ / ภาพ

พังงาประชุมคณะกรรมการศูนย์ประสานการกระจายผลผลิตด้านการเกษตรสู่ผู้บริโภค ๗๔,๙๖๓ หมู่บ้านเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาผลผลิตสินค้าเกษตร

นายไชยวัฒน์ เทพี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ประชุมคณะกรรมการศูนย์ประสานการกระจายผลผลิตด้านการเกษตรสู่ผู้บริโภค ๗๔,๙๖๓ หมู่บ้าน ผ่านทางระบบ Conference กระทรวงมหาดไทย โดยมีนายประภาส บุญยินดี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานที่ประชุม

ที่ประชุมเน้น การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์ผลผลิตสินค้าเกษตร การจัดตั้งศูนย์ประสานการกระจายผลผลิตด้านการเกษตรสู่ผู้บริโภค ๗๔,๙๖๓ หมู่บ้าน การแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หาแนวทางการแก้ไขปัญหาผลผลิตสินค้าเกษตร เช่น การพยากรณ์สถานการณ์ผลผลิตสินค้าเกษตร จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แนวทางสนับสนุนและการชดเชยค่าขนส่ง จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แนวทางการแก้ไขปัญหาผลผลิตสินค้าเกษตรและสถานการณ์ราคา เป็นต้น

สำหรับจังหวัดพังงา มีพื้นที่ปลูกผลไม้ จำนวน ๒๙,๔๒๘ ไร่ มีไม้ผลที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่มังคุด จำนวน ๑๒,๙๑๘ ไร่ ผลผลิตโดยประมาณ ๑๐,๒๗๐ ตัน เงาะ จำนวน ๕,๖๑๘ ไร่ ผลผลิตโดยประมาณ ๒,๘๕๕ ตัน ลองกอง ๘,๑๔๓ ไร่ ผลผลิตโดยประมาณ ๓,๘๔๙ ตัน ทุเรียน จำนวน ๗,๓๖๗ ไร่ ผลผลิตโดยประมาณ ๓,๔๗๕ ตัน ลักษณะการปลูกมีการปลูกแบบสวนผสมผสานและปลูกแบบสวนเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ ผลผลิตออกมากช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. ผลผลิตสวนใหญ่ปลอดภัยจากสารพิษ เนื่องจากใช้เทคโนโลยีการผลิตน้อย ทำให้ผลผลิตยังขาดคุณภาพไม่ตอบสนองราคากับตลาดส่งออก ผลผลิตขึ้นอยู่กับสภาพธรรมชาติ แต่ละปี มีการรวมกลุ่มเพื่อจำหน่ายและการบริหารจัดการสวนยังมีน้อย ยังไม่มีการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มและการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า