วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

คณะทำงาน ครม.น้อยจังหวัดพัทลุง ลงพื้นที่ประชุมสัญจรร่วมกับ ครม.น้อยอำเภอควนขนุนที่โรงเรียนธรรมเถียร ตำบลพนางตุง เพื่อเปิดโอกาสให้พื้นที่ ได้เสนอปัญหาเข้าสู่การพิจารณาแก้ไขในระดับจังหวัด

ที่โรงเรียนธรรมเถียร หมู่ที่ ๑๐ ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน (๒๔ เม.ย.๕๗) นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงเป็นประธานการประชุม ครม.พัทลุงสัญจร ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๗ โดยมี คณะทำงาน ครม.น้อยอำเภอควนขนุนประชุมร่วมด้วย

ทั้งนี้โดยมีการติดตามผลการประชุมครั้งที่ผ่านมาในเรื่องสำคัญ เช่น การพิจารณาแก้ปัญหาโรงงนสกัดน้ำมันปาล์มดิบของสหกรณ์ชาวสวนปาล์มจังหวัดพัทลุง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ตำบลพนางตุง ซึ่งมีปัญหาเรื่องของการขออนุญาตตั้งโรงงาน และ การเบิกจ่ายงวดงานการก่อสร้างซึ่งมีปัญหายืดเยื้อมานาน ขณะนี้สามารถดำเนินการแก้ปัญหาได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะทำให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาราคาผลผลิตปาล์มตกต่ำได้ในอนาคต อีกเรื่องหนึ่งที่มีการติดตามในวาระการประชุมวันนี้คือ การเตรียมการรับสานการภัยแล้ง ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและโครงการชลประทานจังหวัดเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบเรื่องดังกล่าวว่า โดยพบว่าในขณะนี้พื้นที่จังหวัดพัทลุงยังไม่ประสบปัญหาภัยแล้งแต่อย่างใด เนื่องจากช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาได้มีฝนตกลงมาหลายพื้นที่ ส่วนปริมาณน้ำท่าในอ่างเก็บน้ำสำคัญ ๓ แห่งคืออ่างเก็บน้ำป่าพะยอม มีปริมาณน้ำ ๕๘ % ของความจุ อ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง มีปริมารน้ำ ๗๒ % และอ่างเก็บน้ำคลองป่าบอนมีปริมาณน้ำ ๖๔ % หากไม่มีปัญหาเกิดฝนทิ้งช่วงระยายาว ก็สามารถที่จะเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น ส่วนการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งระยายาว

นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงสั่งสำนักงานปกครองจังหวัดซึ่งเป็นคณะทำงานฝ่ายเลขา จัดตั้งทีมแก้ปัญหาเรื่องนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ เพราะปัญหาเรื่องน้ำถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้วิถีชีวิตของประชาชนบางพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เช่น ที่ตำบลแหลมตะโหนด อำเภอป่าพะยอม พบว่าขณะนี้เกิดปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ คือมีน้ำท่วมในหน้าฝน และขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง ทำให้เกษตรกรทำนาไม่ได้ ต้องเปลี่ยนอาชีพจากการทำนามาเป็นทำสวนยางพาราและ ปลูกปาล์มน้ำมันมากขึ้น ซึ่งสุ่มเสียงจะสูญเสียพื้นที่ทำนาในอนาคต เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงยังได้ให้นโยบายการดำเนินการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ๓ ประเด็น คือการรักษาป่า การบริหารจัดการน้ำ และการรักษาแหล่งปลูกข้าว ให้เป็นภาระหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่จะต้องช่วยกันหาวิธีอนุรักษ์และฟื้นฟูให้ประสบผลสำเร็จ เพราะในอนาคตหากขาดแคลน ๓ อย่างนี้จะทำให้สังคมเข้าสู่ภาวะวิกฤติได้

นอกจากนี้ยังมีวาระการพิจารณา มีประเด็นน่าสนใจ ซึ่งผู้อำนวยการทางหลวงชนบทได้เสนอที่ประชุมคือการก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองด้านทิศเหนือของตัวเมืองพัทลุง เพื่อรองรับปัญหาการจราจรและการขยายตัวของเมืองในอนาคต ซึ่งในที่ประชุมได้รับในหลักการ แต่ขอให้ทางสำนักงานทางหลวงชนบทกลับไปทำรายละเอียดเพิ่มเติม โดยให้ระบุผลได้ผลเสียและความคิดเห็นของประชาชนเข้ามาประกอบและให้น้ำเสนอเข้าพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป ส่วนทาง ครม.น้อยอำเภอควนขนุน ได้เสนอเรื่องเพื่อพิจารณาเข้าทีประชุมทั้ง หมด ๓๐ เรื่อง โดยทั้ง ๓๐ เรื่องเป็นการเสนอของบประมาณการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ตำบลต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น การปรับปรุงถนนที่ชำรุด การจัดสร้างระบบน้ำประปา การขยายเขตไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมได้รับไว้เป็นหลักการเพื่อมอบหมายให้ส่วนราชการต่าง ๆ ที่รับผิดชอบโดยตรงไปจัดลำดับความสำคัญ และเสนอขอตั้งงบประมาณไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้องต่อไป


สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพัทลุง

นายกเหล่ากาชาดออกเยี่ยมและมอบเงินสงเคราะห์แก่ผู้ป่วยยากไร้ที่โรงพยาบาลพัทลุง ในโอกาสครับรอบ ๑๒๑ ปี วันสถาปนากาชาดไทย

ที่โรงพยาบาลพัทลุงเมื่อวันที่ ๒๙ เม.ย.๕๗ นางสุวิมล ศรีหะไตร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพัทลุง มอบเงินและสิ่งของช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้จำนวน ๒๕ คน ๆ ๒,๐๐๐ บาทรวม ๕๐,๐๐๐ บาท โดยแยกเป็นเงินสด คนละ ๑,๕๐๐ บาท และเครื่องอุปโภคบริโภคมูลค่ารายละ ๕๐๐ บาท พร้อมเยี่ยมอาการและให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยขอให้หายจากอาการป่วยโดยเร็ว

ซึ่งการมอบเงินและสิ่งของช่วยเหลือผู้ป่วยครั้งนี้ จัดขึ้นในโอกาสครบ ๑๒๑ ปีของการสถาปนาสภากาชาดไทย ตรงกับวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๗ โดยทางโรงพยาบาลพัทลุงได้ทำการตรวจสอบผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลพัทลุงซึ่งมีฐานะยากจน จำนวน ๒๐ คน เพื่อรับความช่วยเหลือจากเหล่ากาชาดดังกล่าว นางสุวิมล ศรีหะไตร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า สภากาชาดไทยและเหล่ากาชาดจังหวัด เป็นองค์กรสาธารณะกุศล ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๓๖ ตรงกับ ร.ศ. ๑๑๒ เดิมเรียก "สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม" ริเริ่มก่อตั้งโดยท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์ ซึ่งมีสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงเป็นสภานายิกาพระองค์แรก ทั้งนี้โดยมีต้นเหตุมาจากกรณีพิพาทระหว่าง ประเทศสยาม กับ ประเทศฝรั่งเศส เรื่องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ซึ่งส่งผลให้ทหารบาดเจ็บล้มตายมาก แต่ไม่มีองค์การกุศลหลักที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือพยาบาลและบรรเทาทุกข์ ดังนั้น ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์ จึงได้ชักชวนสตรีอาสาสมัครขึ้น และได้กราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตั้ง "สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม" ขึ้น และเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสว่า เป็นความคิดอันดีตามแบบอย่างประเทศที่เจริญแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง "สภาอุณาโลมแดง" ขึ้น เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ซึ่งถือเป็น "วันสถาปนาสภากาชาดไทย" นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงเป็น"สภาชนนี" สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ทรงเป็น"สภานายิกา" และท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์ เป็นเลขานุการิณีสภาอุณาโลมแดง

ปัจจุบันสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นสภานายิกา ของสภากาชาดไทย มีกิจกรรมสำคัญหลายอย่างในด้านการสาธารณกุศล เช่น การให้การช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ประสบภัย ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสต่าง ๆ ในสังคม ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง คนพิการ เด็กด้อยโอกาส ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ไฟไหม้ ผู้ป่วยโรคเอดส์ เป็นต้น



สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพัทลุง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชินีนาถและพระบรมวงศานุวงศ์ พระราชทานพวงมาลาหลวงวางหน้าหีบศพนักวิชาการสาธารณสุข ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อวันที่ ๒ พ.ค.๕๗ นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานเชิญพวงมาลาหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพวงมาลาพระราชทานของ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร และ บรมวงศานุวงศ์รวม ๑๒ พวง ซึ่งทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้วางหน้าหีบศพ น.ส.จริยา พรหมนวล นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอศรีสาคร ซึ่งเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา

ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เปิดโรงเรียนชาวนาในพื้นที่อำเภอกงหรา เพื่อสืบทอดทายาทอาชีพทำนาแก่อนุชนรักษาความมั่นคงทางอาหารแก่ชาวพัทลุง

นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานเปิดโรงเรียนชาวนา ตามโครงการสร้างทายาทสืบทอดอาชีพเกษตรกรรมด้านทำนา ซึ่งจัดขึ้นที่บ้านนายก้อหลัด บุญมี บ้านเลขที่ ๒๑๘ หมู่ที่ ๑ ตำบลชะรัด อำเภอกรงหรา จังหวัดพัทลุง โดยจังหวัดพัทลุงร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สภาเกษตรกรจังหวัดพัทลุง ธกส.จังหวัดพัทลุง สำนักงานเกษตรจังหวัด ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง เป็นต้น

ทั้งนี้เพื่อปลูกฝังให้เยาวชน เห็นความสำคัญของอาชีพการทำนา อาชีพที่ผลิตอาหารเลี้ยงชีวิตผู้คนมาอย่างยาวนาน และสนองตอบต่อวาระเมืองลุงพอเพียง เฉลิมพระเกียรติในหลวง เพื่ออนาคตลูกหลานคนเมืองลง ที่มุ่งหวังให้จังหวัดพัทลุงเป็นจังหวัดแห่งความสงบสันติและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สมคิด สงเนียม ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า จังหวัดพัทลุงถือเป็นจังหวัดอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของภาคใต้ มีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย พันธุ์ข้าวสำคัญที่ได้รับความนิยมของผู้บริโภค เช่น ข้าวพันธุ์สังหยด ข้าวเล็บนก ข้าวเฉี้ยง เป็นต้น และขณะนี้ทางศูนย์วิจัยข้าวจังหวัดพัทลุงได้พัฒนาข้าวพันธุ์ กข ๕๕ ขึ้นมาอีกหนึ่งพันธุ์ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีผลผลิตสูง และเหมาะสมกับการปลูกในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งในอดีตจังหวัดพัทลุงมีพื้นที่ปลูกข้าวราว ๖๐๐,๐๐๐ ไร่ ปัจจุบันลดเหลือประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ ไร่ ส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนพื้นที่ไปเป็นสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน ปล่อยเป็นพื้นที่รกร้าง และ ถูกพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย และมีแนวโน้มจะลดพื้นที่ทำนาลงอีก เพราะเยาวชนรุ่นหลังไม่สนใจที่จะประกอบอาชีพการทำนา เนื่องจากเป็นอาชีพที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจน้อย

ด้านนายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงกล่าวว่า การเปิดโรงเรียนชาวนา เป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยให้ชาวนา ได้เห็นความสำคัญของอาชีพของตัวเอง เพราะอาชีพชาวนาเป็นอาชีพการผลิตอาหารซึ่งจำเป็นต่อการเลี้ยงชีวิต หากชาวนาทิ้งอาชีพการทำนา อนาคตจะทำให้จังหวัดพัทลุงสูญเสียพื้นที่ที่จะผลิตอาหารและต้องซื้อข้าวจากภายนอกซึ่งจะส่งผลให้มีค่าครองชีพสูง และอาจสูญเสียที่ทำกินได้ อย่างไรก็ตามการรักษาพื้นที่ทำนาให้คงอยู่อย่างถาวร ชาวนาต้องมีความภาคภูมิใจและมีศักดิ์ศรีในอาชีพของตัวเอง มีการพัฒนาต่อยอดให้นาเป็นมากกว่าการปลูกข้าวอย่างเดียว แต่มีองค์ประกอบหรือนวัตกรรมที่เกื้อกูลต่อการมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการพัฒนาผลผลิตและรักษาคุณภาพของข้าว หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีเพื่อความปลอดภัยและความเชื่อมันของผู้บริโภค ที่สำคัญคือการมีทายาดสืบทอด ไม่ปล่อยให้ลูกหลานขายพื้นที่นาของตัวเอง ซึ่งภายหลังมีพิธีเปิดแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ได้ร่วมปลูกข้าวกับเยาวชนและชาวบ้านที่มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วย ซึ่งการปลูกข้าววันนี้เป็นการปลูกข้าวแบบนาโยน ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของการทำนาที่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่าการทำนาแบบอื่น ๆ ด้วย



สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพัทลุง

ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง คุยกับประชาชนทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดพัทลุง ส่งเสริมให้เกษตรกรนำน้ำหมักชีวภาพมาใช้ในการเกษตร

นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง คุยกับประชาชนทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดพัทลุงคลื่นความถี่ ๙๘ เมกะเฮิร์ต ในเช้าวันเสาร์เวลา ๐๖.๐๐ – ๐๗.๐๐ น.

โดยในวันเสาร์ที่ผ่านมาได้นำผู้ร่วมรายการ ประกอบด้วยนายไพโรจน์ อินทรศรี ปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง นายสมชาติ นาควิโรจน์เกษตรอำเภอบางแก้ว นายสมศักดิ์ ทองใส ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑๕ ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมืองพัทลุง และนายสมนึก ทองใส เกษตรกรตำบลควนมะพร้าว

ทั้งนี้โดยพูดคุยกันในเรื่องของการทำเกษตรแบบชีววิถี ลดต้นทุนการผลิตและลดใช้เคมีในภาคเกษตร โดยหันมาใช้น้ำหมักชีวภาพ ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่มีคุณประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน เช่น ใช้เป็นปุ๋ยในการปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้พืชเจริญเติบโตดี ใช้ผสมในน้ำให้สัตว์กินแก้ปัญหากลิ่นเหม็นในมูลสัตว์ และทำให้สัตว์เลี้ยงสุขภาพแข็งแรง ใช้ผสมน้ำราดมูลสัตว์ทำลายการแพร่พันธุ์ของแมลงวัน และกำจัดกลิ่นรบกวน ซึ่งนายสมนึก ทองใส ผู้นำน้ำหมักมาใช้อย่างจริงจังกล่าวว่า ตนเองเลี้ยงสัตว์หลายชนิด ทั้งวัว หมู ไก่เนื้อ และไก่ไข่ โดยก่อนหน้านี้มีปัญหามากจากแมลงวันและกลิ่นรบกวนจากมูลหมูมูลไก่ สร้างความรำคาญแก่เพื่อบ้าน แต่ภายหลังได้นำน้ำหมักชีวภาพหรือ อีเอ็ม มาใช้ พบว่ากลิ่นของมูลไก่หายไป และไม่มีแมลงวันมารบกวนอีกเลย นอกจากนี้ยังทำให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย โดยเฉพาะเมื่อนำไปผสมน้ำให้ไก่กิน พบว่าไก่ออกไข่ดกขึ้นและมีระยะเวลาการให้ไข่ยาวนานขึ้น

ด้านนายสมศักดิ์ ทองใส ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑๕ ตำบลควนมะพร้าว ซึ่งได้เปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงให้ประชาชนได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตรกล่าวว่า ตนได้นำน้ำหมักชีวภาพมาใช้ในแปลงเกษตรนานแล้วและทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี เพราะน้ำหมักอีเอ็มทำให้ดินร่วนซุย พืชสามารถดูซึมสารอาหารได้ดีขึ้น และทำให้มีสิ่งมีชีวิตในดินเพิ่มมากขึ้น ส่วนปศุสัตว์จังหวัดพัทลุงกล่าวว่า ทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด พร้อมให้การสนับสนุนด้านความรู้แก่เกษตรกรที่จะนำไปผลิตน้ำมักชีวภาพด้วยตัวเอง โดยเฉพาะการนำมาใช้ในภาคการผลิตด้านปศุสัตว์ ซึ่งที่ผ่านมักประสบปัญหากลิ่นรบกวนและน้ำเสีย น้ำหมักชีวภาพหรือ อีเอ็ม สามารแก้ปัญหาเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี แต่เกษตรกรยังให้ความสนใจนำไปใช้น้อย ซึ่งหากส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตใช้ด้วยตัวเอง จะส่งผลดีต่อการผลิตด้านปศุสัตว์ และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก



สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพัทลุง

พัทลุง เปิดตัวข้าวพันธุ์ใหม่ กข ๕๕ หลังพัฒนาพันธุ์มากว่า ๑๐ ปี เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรชาวนา

ที่ห้องประชุมสำนักงานเกษตรและสหกรณ์วันนี้ (๖ พ.ค.๕๗) นายวิชิต พันธุรัตน์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดพัทลุง พร้อมด้วยนายเลิศเกียรติ ชูศิริ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง นายสมควร สุวรรณรัตน์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง และนายสุจิน กรุณกิจ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพัทลุง ได้ร่วมกันแถลงข่าวประชาสัมพันธ์ข้าวพันธุ์ใหม่ พันธุ์ กข๕๕ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรชาวนาได้นำไปปลูกในแปลงนาของตัวเอง เนื่องจากเป็นข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง มีความทนทานต่อโรค สามารถปลูกได้ทั้งนาปรังและนาปี

ทั้งนี้ข้าวพันธุ์ กข ๕๕ เป็นพันธุ์ข้าวที่ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงได้ทำการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ โดยการผสมสายพันธุ์ระหว่างข้าวพันธุ์ กข๒๓ ข้าวเล็บนกปัตตานี และข้าวพันธุ์ชัยนาท ๑ และได้รับการรับรองจากกรมการข้าวเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๖ ให้ชื่อว่า กข ๕๕ โดยมีลักษณะเด่นของข้าวพันธุ์นี้คือ ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย ๗๑๒ กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่พันธุ์ชัยนาท ๑ ให้ผลผลิตเฉลี่ยที่ ๖๓๑ กิโลกรัมต่อไร่ อายุการเก็บเกี่ยวเพียง ๑๑๗ วัน สามารถปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง มีความต้านทานต่อโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง และโรคใบจุดสีน้ำตาล เหมาะสมแก่ในการปลูกในพื้นที่จังหวัดพัทลุง บริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และ ลุ่มน้ำปากพนังจังหวัดนครศรีธรรมราช คุณภาพข้าวสุกมีลักษณะค่อนข้างนุ่ม ไม่เหนียว และไม่ร่วน แต่ไม่มีกลิ่นหอมคล้ายคลึงกับข้าวพันธุ์เล็บนกซึ่งเป็นข้าวที่เป็นที่นิยมบริโภคของชาวจังหวัดพัทลุง

ส่วนการส่งเสริมการปลูก ขณะนี้ทางศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงได้ทำการกระจายเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรอำเภอควนขนุน อำเภอปากพะยูน และอำเภอป่าพะยอมนำไปทำการปลูกแล้วบางส่วน โดยนำไปปลูกเป็นข้านาปรับสลับกับข้าวสังหยดซึ่งเป็นข้าวนาปีที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วประเทศในขณะนี้ ซึ่งพบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งเกษตรกรรายใดสนใจนำข้าว กข ๕๕ ไปปลูก สามารถซื้อเมล็ดพันธุ์ได้ที่ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง หรือติดต่อได้ที่หมายเลข ๐๗๔ – ๘๔๐-๑๑๑ ในวันและเวลาราชการ

ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง นำข้าราชการทุกหมู่เหล่าร่วมประกอบพิธีถวายราชสักการะ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันฉัตรมงคล

ที่ศูนย์ประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ ๕ พ.ค.๕๗ นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วยนายสุรินทร์ เพชรสังข์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ได้นำหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน กลุ่มพลังมวลชน และ พ่อค้าประชาชนชาวจังหวัดพัทลุง ร่วมกันประกอบพิธีถวายสักการะ และแสดงความจงรักภักดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวันฉัตรมงคล ประจำปี ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นวันที่ระลึกในการครบรอบปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับพระบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยโดยสมบูรณ์ ในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ โดยครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการแก่ปวงชนชาวไทยว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ในการนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงได้เป็นประธานในการกล่าวคำถวายราชสดุดี และถวายสัตย์ปฏิญาณ ในการปฏิบัติหน้าที่เป็นข้าราชการที่ดี เพื่อความผาสุกของพี่น้องประชาชน และการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และปกป้องการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงได้นำผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ร่วมกันเสวนา สืบสานปฐมบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” โดยเน้นการนำพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส และโครงการต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในการดำเนินชีวิต พัฒนาครอบครัว พัฒนาชุมชน และประเทศชาติ เพื่อสนองพระราชปณิธาน พระปฐมบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันฉัตรมงคลเมื่อ ๖๔ ปีที่แล้ว

การแข่งขันวิ่ง "ป่าบอนมินิ-ฮาล์ฟมาราธอนและฟันรัน" ครั้งที่ ๗ ประจำปี ๒๕๕๗ ที่จังหวัดพัทลุงยังคงได้รับความนิยมจากบรรดานักวิ่งเป็นอย่างมากโดยมีผู้สมัครร่วมแข่งขันจำนวนมาก

เวลา ๐๖.๐๐ น. ของวันที่ ๔ พ.ค.๕๗ นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานเปิดและปล่อยตัวการแข่งขันวิ่ง "ป่าบอนมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน” ซึ่งจัดขึ้น ณ บริเวณอ่างเก็บน้ำคลองป่าบอน ตำบลทุ่งนารี อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง

โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๗ แล้ว และยังคงได้รับความสนใจจากนักวิ่ง ทั้งในจังหวัดพัทลุงและจังหวัดใกล้เคียงร่วมแข่งขันจำนวนมาก ทั้งนี้เนื่องจากเส้นทางการแข่งขัน ซึ่งมีจุดสตาร์ท บนสันเขื่อนของอย่างเก็บน้ำคลองป่าบอน แวดล้อมด้วยทัศนียภาพที่สวยงามของทิวเขาและป่าไม้ ทำให้สนามการแข่งขันป่าบอนมินิ – ฮาลฟ์มาราธอนเป็นเส้นทางการแข่งขันที่มีความสวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง

สำหรับการแข่งขันพัทลุง แบ่งเป็นประเภท มินิมาราธอน ระยะทาง ๑๐.๕ กิโลเมตร และ ฟันรัน ๔ กิโลเมตร การแข่งขันวิ่งป่าบอนมินา-ฮาล์ฟมาราธอน เป็นการแข่งขันที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการออกกำลังกายและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของจังหวัดพัทลุง โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอป่าบอน ซึ่งมีจุดขายสำคัญคือการท่องเที่ยวเดินป่าศึกษาธรรมชาติ และชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่ามันนิ หรือ เงาะป่าซาไกซึ่งอาศัยอยู่ในป่าเทือกเขาบรรทัด เขตรอยต่อระหว่างจังหวัดตรัง พัทลุง ไปถึงจังหวัดสตูล ซึ่งยังคงใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมคือการล่าสัตว์ และกินหัวเผือกหัวมัน ผลไม้ป่าที่หาได้ในเทือกเขาบรรทัด มีการย้ายที่อยู่ไปเรื่อย ๆ ตามความสมบูรณ์ของอาหารที่มี

นอกจากนี้อำเภอป่าบอนยังมีสินค้า OTOP ที่มีชื่อเสียง คือ สัปปะรด, สละ, พืชเศรษฐกิจสินค้าตัวใหม่ของจังหวัดพัทลุงเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น



สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพัทลุง

งานสืบสานศิลป์ถิ่นโนรา หรืองานโนราโรงครูท่าแค ประจำปี ๒๕๕๗ ของจังหวัดพัทลุงเริ่มแล้วพบว่ามีผู้สนใจร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ที่วัดท่าแค ตำบลท่าแค อำเภอเมืองจังหวัดพัทลุง ค่ำวันที่ (๗ พ.ค.๕๗) นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานเปิดงานสืบสาน

ที่วัดท่าแค ตำบลท่าแค อำเภอเมืองจังหวัดพัทลุง ค่ำวันที่ (๗ พ.ค.๕๗) นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานเปิดงานสืบสานศิลป์ถิ่นโนรา หรืองาน โนราโรงครู ท่าแค ประจำปี ๒๕๕๗ซึ่งกำหนดจัดให้มีขึ้น ณ วัดท่าแค ตำบลท่าแค อำเภอเมืองพัทลุง ระหว่างวันที่ ๗ –๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เพื่ออนุรักษ์และสืบสานพิธีกรรมไหว้ครูโนรา พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวพัทลุง โดยเฉพาะผู้มีเชื้อสายศิลปินมโนรา ศิลปะการแสดงท้องถิ่นภาคใต้ซึ่งเชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดที่จังหวัดพัทลุง

พร้อมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดพัทลุงเชื่องโยงสูอาเซียน ซึ่งการจัดงานโนราโรงครูปีนี้ มีกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นเพื่อการต่อยอดให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของ มโนรา คือการจัดเสวนาทางวิชาการ ในหัวข้อ "สืบทอดสิ่งที่ดีงามโนราท่าแค เพื่ออนาคตลูกหลานคนเมืองลุง” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรม เช่น ดร สืบพงษ์ ธรรมชาติ จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อาจารย์จิต แก้วทิพย์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง หนังณรงค์ ตะลุงบัณฑิต เป็นต้น สำหรับกิจกรรมในพิธีเปิดงานซึ่งมีขึ้นในช่วง ๑๙.๐๐ น.วานนี้ มีการแสดงแสงสีเสียงเรื่อง "ตามรอยโนรา” ซึ่งทำให้ได้ทราบว่าโนรามีถิ่นกำเนิดที่จังหวัดพัทลุง และมีความเกี่ยวข้องระหว่างลัทธิความเชื่อท้องถิ่น กับพระพุทธศาสนา และ ศาสนาพราหมณ์ ที่กล่อมเกลาวัฒนธรรมทางสังคมให้ชาวพัทลุงยึดมั่นอยู่ในความดี ความกตัญญู และความกล้าหารมาอย่างต่อเรื่อง

นอกจากนี้พิธีเปิดยังมีการแสดงการแสดงรำมโนราห์ พิธีเชิญครูโนรา โดยมโนราสมพงษ์น้อยดาวรุ่ง หรือ นายสมพงษ์ ชนะบาล เป็นโนราใหญ่เจ้าพิธี ซึ่งในการนี้นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงได้เข้ารับการครอบเทริดเสริมมงคลในพิธีครั้งนี้ด้วย สำหรับกิจกรรมอื่น ๆ ในงานระหว่างวันที่ ๘ – ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗ จะเป็นพิธีรำแก้บน สะเดาะเคราะห์ เสริมดวงชะตา รักษาโรค เหยียบเสน เป็นต้น ซึ่งบุคคลทั่วไป หากต้องการครอบเทริด เพื่อเสริมดวงชะตา ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน ส่วนพี่น้องประชาชน ที่จะไปแก้บน หรือต้องการไปเหยียบเสน ขอให้ไปร่วมพิธีในวันที่ ๘ พฤษภาคม ได้ตลอดทั้งวัน แต่หากไม่สามารถไปร่วมในวันดังกล่าวได้ ขอให้ไปร่วมพิธีในช่วงเช้าของวันที่ ๙ พฤษภาคม ได้

โนรา หรือ มโนราห์ เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ มี ๒ ลักษณะ คือ มโนราที่มีการแสดงเพื่อความบันเทิงทั่วไป กับอีกลักษณะคือมโนราโรงครู เป็นการแสดงเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์ที่เรียกว่าครูหมอโนรา ซึ่งเป็นบรรพบุรุษผู้สืบสายเลือดการแสดงที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งมีความเกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับวัฒนธรรมของชาวภาคใต้ คือการยึดมั่นในความดีและความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ โดยความเชื่อว่าลูกหลานมโนราที่มีการบูชาครูอย่างถูกต้อง จะทำให้ชีวิตมีความรุ่งเรือง แต่หากทำผิดหรือไม่บูชาครู จะทำให้ชีวิตอับจน มีความเจ็บป่วยเป็นต้น ดังนั้นเมื่อขึ้นเดือน ๖ ในช่วงเดือน พฤษภาคม - สิงหาคม ของทุกปี คณะมโนราและลูกหลานเชื้อสายมโนรา จะจัดกิจกรรม " โนราโรงครู ”ขึ้นเพื่อแสดงถึงความกตัญญูต่อครูหมอโนรา และบรรพบุรุษ ซึ่งในจังหวัดพัทลุง มีมโนราที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมอยู่จำนวนมากหลายคณะ ที่มีช่อเสียงชั้นบรมครู เช่น มโนราพุ่มเทวา หรือ ขุนอุปถัมภ์นรากร มโนรายก ชูบัว ศิลปินแห่งชาติสาขาการแสดงมโนรา เป็นต้น



สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพัทลุง

จ.ตรัง เตรียมจัดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ (29 เมษายน)

ที่ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง นายบุญเลี้ยง ข่ายม่าน เกษตรจังหวัดตรัง เป็นประธานในการประชุมเตรียมจัดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ (29 เมษายน) โดยกำหนดจัดงานในวันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม 2557 ณ บริเวณที่ว่าการอำเภอสิเกา หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมเตรียมการ สำหรับโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ นอกจากจะจัดขึ้นเพื่อให้บริการแก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปในการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรแล้ว ยังเสริมสร้างความรู้ทางการเกษตร เพื่อพัฒนาและฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถทำการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยในงานจัดให้มีกิจกรรมบริการเกษตรกรในรูปแบบคลินิกเกษตร เช่น คลินิกดิน คลินิกปศุสัตว์ คลินิกประมง คลินิกพืช คลินิกชลประทาน คลินิกสหกรณ์ คลินิกบัญชี คลินิกกฎหมาย คลินิกยางพารา โครงการสายใยรักแห่งความครอบครัว คลินิกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

จ.ตรัง จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 3 ร่วม 3 สร้าง ของกลุ่มผู้นำและเยาวชน ตามโครงการปลูกฝังสำนึกรักสามัคคีและเสริมสร้างความปรองดอง

ที่ห้องประชุมกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดตรังที่ 1 นายนิพันธ์ ศิริธร ปลัดจังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีเปิดการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 3 ร่วม 3 สร้าง ของกลุ่มผู้นำและเยาวชน ตามโครงการปลูกฝังสำนึกรักสามัคคีและเสริมสร้างความปรองดอง ประจำปี 2557 โดยมี นายมานะ เทือกสุบรรณ ป้องกันจังหวัดตรัง กล่าวรายงาน ปัจจุบันปัญหาความแตกแยกในสังคมไทย นับวันจะทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างขึ้นทุกขณะ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และอาจมีผลต่อความเชื่อมั่นของต่างประเทศที่มีต่อประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนชาวไทยทุกภาคส่วน จะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาและปรับเปลี่ยนวิกฤตการณ์ครั้งยิ่งใหญ่นี้ ด้วยการร่วมกันสร้างสรรค์สังคมไทย ให้เป็นสังคมแห่งความสมานฉันท์ ด้วยการเสริมสร้างแนวความคิดในการเคารพซึ่งความแตกต่างทางความคิด ความแตกต่างทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนาร่วมกันฟื้นฟูกระบวนการหล่อหลอมคุณธรรม จริยธรรม การเสียสละ เพื่อส่วนรวม และสร้างจิตสำนึกสาธารณะ ประกอบกับการเสริมสร้างวัฒนธรรมแห่งสันติวิธีที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักคุณธรรมร่วมกันสร้างชุมชนเข้มแข็งที่มีความพร้อม และมีศักยภาพในการจัดการกับปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนเองได้ ก่อนที่จะลุกลามใหญ่โตกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งรุนแรงของจังหวัดและประเทศชาติ

ทั้งนี้โครงการปลูกฝังสำนึกรักสามัคคีและเสริมสร้างความปรองดอง นี้เป็นโครงการขับเคลื่อนแผนงานส่งเสริมการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการธำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติในระดับพื้นที่ โดยการปลูกฝังและเสริมสร้างแนวคิดของเยาวชนและผู้นำกลุ่มต่าง ๆ ได้เรียนรู้หลักการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แล้วนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่พื้นที่ของตนเอง อันจะเป็นการปลูกสร้างจิตสำนึกจงรักภักดีให้ยั่งยืนอยู่ในจิตใจควบคู่ไปกับการตระหนักถึงประโยชน์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนำไปสู่ความรักสามัคคีปรองดองของคนในพื้นที่ ซึ่งในการจัดทำกิจกรรมนี้ได้มีผู้นำกลุ่มต่าง ๆ จากอำเภอ ๆ ละ 5 คน จำนวน 50 คน และกลุ่มเยาวชนจากสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดตรัง จำนวน 50 คน รวม 100 คนเข้าร่วมจัดทำกิจกรรม รวมระยะเวลา 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 8-13 พฤษภาคม 2557 นอกจากนี้ยังได้นำผู้เข้าร่วมกิจกรรมไปศึกษาดูงาน ณ โครงการพระราชดำริ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมู่ที่ 5 ต.หูล่อง อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรม เพื่อศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลักการพัฒนาตามแนวทางพระราชดำริ และแนวทางพระราชดำริ พร้อมทั้งศึกษาเรียนรู้การดำเนินชีวิตของปราชญ์ชาวบ้านอีกด้วย

แกนนำกลุ่มกองทัพประชาชนคนรักพระราชาแถลงการณ์แนวทางการปฏิบัติงาน

ที่เวทีกลางกลุ่มกองทัพประชาชนคนรักพระราชา นำโดย นายปรีดิ์ปราโมทย์ เลิศวรภัทร แกนนำกลุ่มกองทัพประชาชนคนรักพระราชา ได้อ่านคำแถลงการณ์ดังนี้ กลุ่มกองทัพประชาชนคนรักพระราชาแนวร่วม กปปส.ส่วนกลาง ได้เล็งเห็นถึงแนวทางการปฏิบัติงานของ กปปส.ส่วนกลาง ว่า มีการควบคุมการทำงานของภาครัฐ โดยการไปชุมนุมยังทำเนียบรัฐบาล และมีการไปทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนด้วยการไปร่วมชุมนุม ณ สถานีโทรทัศน์ฟรีทวี ทุกช่อง ซึ่งทางกลุ่มกองทัพประชาชนคนรักพระราชาก็ได้ยึดแนวทางการปฏิบัติงานของ กปปส.ส่วนกลาง โดยตลอดมาจึงขอแถลงการณ์การดำเนินงาน 4 ข้อ ดังต่อไปนี้ 1.ทางกลุ่มจะปฏิบัติการให้สอดคล้องกับส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นการดูแลการบริหารงานของส่วนราชการให้เป็นไปในแนวทางของการปฏิรูปประเทศไทยทุกองค์กรในจังหวัดตรัง ส่วนวิธีปฏิบัติจะเป็นอย่างไรจะพิจารณาตามสถานการณ์ เหตุการณ์และหน่วยงานเป็นกรณี ๆ ไป 2.ทางกลุ่มจะปฏิบัติการทำความเข้าใจกับสื่อมวลชน ถึงแนวคิด แนวทางนโยบายและวิธีปฏิบัติเพื่อความเข้าใจที่ถ่องแท้ของสื่อมวลชนทุกคน จะได้นำไปเผยแพร่ข่าวสารได้ถูกต้อง อยู่ในจรรยาบรรณของสื่อมวลชน ไม่นำเอาผลงานที่ทางกลุ่มได้ปฏิบัติไปแต่งเติม เปลี่ยนแปลงว่าเป็นผลงานของกลุ่มอื่นอีกต่อไป เพราะกลุ่มกองทัพประชาชนคนรักพระราชา เป็นกลุ่มภาคประชาชน ที่มีความเป็นอิสระไม่มีใครมาสั่งการ แต่ทางกลุ่มได้ยึดแนวทางของ กปปส.ส่วนกลางมาโดยตลอด 3.กลุ่มกองทัพประชาชนคนรักพระราชา ยังมีนโยบายที่เป็นมิตรกับข้าราชการทุกคน ทุกองค์กร เว้นแต่ข้าราชการผู้นั้นเป็นขี้ข้าระบอบทักษิณ มาตั้งแต่เริ่มตั้งเวที 31 ตุลาคม 2556 จนถึงปัจจุบันและจะทำอย่างนี้ต่อไปในอนาคต และ 4.กลุ่มกองทัพประชาชนคนรักพระราชา มีนโยบายเป็นมิตรกับสื่อมวลชนทุกคนทุกแขนงและต้องการให้สื่อมวลชนทำข่าวกิจกรรมของทางกลุ่มอย่างต่อเนื่อง พร้อมยินดีรับฟังคำแนะนำและให้ความช่วยเหลือกับสื่อมวลชนทุกคน

ตรัง ระดมความคิดในการเตรียมซ้อมแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากพายุหมุนเขตร้อนระดับกลุ่มจังหวัด

นายสาธร นราวิสุทธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันอิทธิพลของพายุเขตร้อนได้ส่งผลให้เกิดอุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม และน้ำป่าไหลหลากในประเทศไทยและพื้นที่ของภาคใต้ โดยก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก ในส่วนของจังหวัดตรังเคยประสบปัญหาพิบัติภัยจากน้ำป่าไหลหลาก บริเวณน้ำตกสายรุ้ง และน้ำตกไพรสวรรค์ ในเขตพื้นที่ตำบลนาชุมเห็ด และตำบลโพรงจระเข้ อำเภอย่านตาขาว เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2550 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 38 คน และมีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้สภาวะภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไป การเกิดภัยพิบัติสึนามิ และแผ่นดินไหวระดับโลก พื้นที่เสียงภัยบริเวณขอบของแผ่นเปลือกโลกที่ชนกันส่วนใหญ่ สำหรับพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดน้อยบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ทะเลเมอร์ดิเตอร์เรเนียน สำหรับประเทศไทย มีรอยเลื่อนซึ่งมีพลังอยู่จำนวน 14 กลุ่ม ที่อาจก่อให้เกิดแผ่นดินไหวได้ รอยเลื่อนที่สามารถส่งผลกระทบต่อชายฝั่งทะเลของไทย ด้านภาคใต้ฝั่งอันดามัน และครั้งล่าสุด เกิดรอยเลื่อนขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต นับเป็นครั้งแรกของจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน

ดังนั้น จังหวัดตรังร่วมกับจังหวัดภูเก็ต และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ภูเก็ต ได้เห็นความสำคัญในการที่จะทำให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวเกิดความเชื่อมั่นและมั่นใจในการช่วยเหลือและป้องกันสาธารณภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต จึงได้กำหนดการฝึกซ้อมเป็นเวลา 2 วัน คือวันที่ 20 พ.ค.จะเป็นการฝึกซ้อมภาคทฤษฎีให้ความรู้ ความเข้าใจในการช่วยเหลือทุกฝ่าย และในวันที่ 21 พ.ค.จะเป็นการฝึกซ้อมเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ นายสาธร นราวิสุทธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้กล่าวเน้นย้ำเรื่องของการสื่อสาร และการบัญชาการเป็นหลัก นอกจากนี้ในเรื่องของการออกตรวจราให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวเกี่ยวกับสถานการณ์ซักซ้อม รวมทั้งแจ้งหมายเลขสายด่วนให้กับนักท่องเที่ยวที่ประสบปัญหาหรือแจ้งเหตุได้ที่หมายเลข 1155 หรือ 1669 ซึ่งผลคาดว่าจากการระดมพลังกำลังและการฝึกซ้อมครั้งนี้จะทำให้บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัย มีความรู้ ความเข้าใจ ในการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้ รวมทั้งสามารถเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็วและเป็นระบบ อันจะนำไปสู่ความปลอดภัยและลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์ได้

สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(องค์กรมหาชน)หรือ BEDO ร่วมกับสายการบิน R-Airlines จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัมพันธ์ นำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานโครงการตอบแทนคุณระบบนิเวศน์ตามหลัก PES พื้นที่ตำบลคลองประสงค์ ปล่อยพันธ์ปลา กุ้ง และปู ลงสู่ทะเล และเยี่ยมชมระบบนิเวศน์ ภายในพื้นที่ป่าชายเลน


สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(องค์กรมหาชน)หรือ BEDO ร่วมกับสายการบิน R-Airlines จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัมพันธ์ นำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานโครงการตอบแทนคุณระบบนิเวศน์ตามหลัก PES พื้นที่ตำบลคลองประสงค์ ปล่อยพันธ์ปลา กุ้ง และปู ลงสู่ทะเล และเยี่ยมชมระบบนิเวศน์ ภายในพื้นที่ป่าชายเลน

เวลา 14.00 น.วันที่ 8 พฤษภาคม 2557 สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(องค์กรมหาชน)หรือ BEDO ร่วมกับสายการบิน R-Airlines จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัมพันธ์ นำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานโครงการตอบแทนคุณระบบนิเวศน์ตามหลัก PES พื้นที่ตำบลคลองประสงค์ อำเภอเมือง ตังหวัดกระบี่ โดยนำคณะสื่อมวลชนทำกิจกรรม บริเวณเขาขนาบน้ำโดยการปล่อยพันธ์ปลา กุ้ง และปู ลงสู่ทะเล และเยี่ยมชมระบบนิเวศน์ ภายในพื้นที่ป่าชายเลน โดยมีนายประดิษฐ์ จันทร์ทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองประสงค์ นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ และชาวบ้านตำบลคลองประสงค์ เข้าร่วม

ผศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ กล่าวว่า BEDO ร่วมกับบริษัทสกายวิว แอว์ เวย์ จำกัด สายการบิน R-Airlines และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมและศึกษาดูงานในพื้นที่ตำบลคลองประสงค์ อ.เมือง จ.กระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องโครงการตอบแทนคุณระบบนิเวศ ตามหลัก PES เป็นแนวคิดการส่งเสริมให้ผู้ได้รับประโยชน์จากระบบนิเวศน์ ตอบแทนคุณระบบนิเวศน์ เพื่อช่วยดูแลรักษาและฟื้นฟูให้ระบบนิเวศน์ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน เนื่องจากระบบนิเวศน์ที่สมบูรน์จะสามารถให้บริการระบบนิเวศน์ที่มีคุณภาพเอื้อประโยชน์ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ธุรกิจโรงแรม และการท่องเที่ยว ธุรกิจแปรรูปอาหารและอื่นๆ BEDO และจังหวัดกระบี่จะยกระดับการดำเนินโครงการ PES นี้ด้วยการขยายพื้นที่การดำเนินโครงการให้ครอบคลุมในหลายพื้นที่ของจังหวัดกระบี่ ทั้งการดำเนินโครงการในพื้นที่ตำบลคลองประสงค์ ที่ผ่านมา BEDO ได้จัดให้มีการลงนามข้อตกลงการดำเนินงานตอบแทนคุณระบบนิเวศน์ตามหลัก PES เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2555 จัดตั้งเป็นกลุ่มผู้ตอบแทนคุณระบบนิเวศน์ และตั้งกองทุนตอบแทนคุณฯสำเหร็จเป็นแห่งแรกของประเทศไทย

ร้อยเอก ดร.รชฏ พิสิษบรรณกร ประธานกรรมการบริษัทสกายวิว แอว์ เวย์ จำกัด กล่าวว่า R-Airlines ร่วมมือ BEDO เพื่อปลุกกระแสนิยมสินค้า จากความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และคงไว้ซึ่งคุณค่าของทรัพยากรชีวภาพของประเทศ โดยในขั้นต้น R-Airlines จะช่วยประชาสัมพันธ์ ด้วยการนำ BEDO Magazine ไปประชาสัมพันธ์ให้กับผู้โดยสาร และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้รับตราสงเสริม Bio-Economy บนเครื่องบิน ของ R-Airlines ในทุกเส้นทางการบิน

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ นายยกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ กล่าวด้วยว่า จังหวัดกระบี่ มีความต้องการที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ชุมชน ในรูปแบบ ของ Krabi Go Green โดยในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม นี้ จะมีการผนึกกำลังกับ BEDO และทุกภาส่วนในจังหวัดกระบี่ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ ให้เป็นไปตามรูปแบบ ของ Krabi Go Green โดยใช้กลไกของตราส่งเสริมผลิตภัณฑ์ Bio-Economy และหลักการของ PES เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการ




หน่วยงานที่แจ้งประชาสัมพันธ์
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกระบี่