วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เปิดโรงเรียนชาวนาในพื้นที่อำเภอกงหรา เพื่อสืบทอดทายาทอาชีพทำนาแก่อนุชนรักษาความมั่นคงทางอาหารแก่ชาวพัทลุง

นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานเปิดโรงเรียนชาวนา ตามโครงการสร้างทายาทสืบทอดอาชีพเกษตรกรรมด้านทำนา ซึ่งจัดขึ้นที่บ้านนายก้อหลัด บุญมี บ้านเลขที่ ๒๑๘ หมู่ที่ ๑ ตำบลชะรัด อำเภอกรงหรา จังหวัดพัทลุง โดยจังหวัดพัทลุงร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สภาเกษตรกรจังหวัดพัทลุง ธกส.จังหวัดพัทลุง สำนักงานเกษตรจังหวัด ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง เป็นต้น

ทั้งนี้เพื่อปลูกฝังให้เยาวชน เห็นความสำคัญของอาชีพการทำนา อาชีพที่ผลิตอาหารเลี้ยงชีวิตผู้คนมาอย่างยาวนาน และสนองตอบต่อวาระเมืองลุงพอเพียง เฉลิมพระเกียรติในหลวง เพื่ออนาคตลูกหลานคนเมืองลง ที่มุ่งหวังให้จังหวัดพัทลุงเป็นจังหวัดแห่งความสงบสันติและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สมคิด สงเนียม ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า จังหวัดพัทลุงถือเป็นจังหวัดอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของภาคใต้ มีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย พันธุ์ข้าวสำคัญที่ได้รับความนิยมของผู้บริโภค เช่น ข้าวพันธุ์สังหยด ข้าวเล็บนก ข้าวเฉี้ยง เป็นต้น และขณะนี้ทางศูนย์วิจัยข้าวจังหวัดพัทลุงได้พัฒนาข้าวพันธุ์ กข ๕๕ ขึ้นมาอีกหนึ่งพันธุ์ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีผลผลิตสูง และเหมาะสมกับการปลูกในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งในอดีตจังหวัดพัทลุงมีพื้นที่ปลูกข้าวราว ๖๐๐,๐๐๐ ไร่ ปัจจุบันลดเหลือประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ ไร่ ส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนพื้นที่ไปเป็นสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน ปล่อยเป็นพื้นที่รกร้าง และ ถูกพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย และมีแนวโน้มจะลดพื้นที่ทำนาลงอีก เพราะเยาวชนรุ่นหลังไม่สนใจที่จะประกอบอาชีพการทำนา เนื่องจากเป็นอาชีพที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจน้อย

ด้านนายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงกล่าวว่า การเปิดโรงเรียนชาวนา เป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยให้ชาวนา ได้เห็นความสำคัญของอาชีพของตัวเอง เพราะอาชีพชาวนาเป็นอาชีพการผลิตอาหารซึ่งจำเป็นต่อการเลี้ยงชีวิต หากชาวนาทิ้งอาชีพการทำนา อนาคตจะทำให้จังหวัดพัทลุงสูญเสียพื้นที่ที่จะผลิตอาหารและต้องซื้อข้าวจากภายนอกซึ่งจะส่งผลให้มีค่าครองชีพสูง และอาจสูญเสียที่ทำกินได้ อย่างไรก็ตามการรักษาพื้นที่ทำนาให้คงอยู่อย่างถาวร ชาวนาต้องมีความภาคภูมิใจและมีศักดิ์ศรีในอาชีพของตัวเอง มีการพัฒนาต่อยอดให้นาเป็นมากกว่าการปลูกข้าวอย่างเดียว แต่มีองค์ประกอบหรือนวัตกรรมที่เกื้อกูลต่อการมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการพัฒนาผลผลิตและรักษาคุณภาพของข้าว หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีเพื่อความปลอดภัยและความเชื่อมันของผู้บริโภค ที่สำคัญคือการมีทายาดสืบทอด ไม่ปล่อยให้ลูกหลานขายพื้นที่นาของตัวเอง ซึ่งภายหลังมีพิธีเปิดแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ได้ร่วมปลูกข้าวกับเยาวชนและชาวบ้านที่มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วย ซึ่งการปลูกข้าววันนี้เป็นการปลูกข้าวแบบนาโยน ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของการทำนาที่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่าการทำนาแบบอื่น ๆ ด้วย



สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพัทลุง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น