วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557

รองผู้ว่าฯสงขลา มอบนโยบายแนวทางการปฏิบัติการจัดระเบียบสังคมและบทบาทหน้าที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานยาเสพติด ตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของจังหวัดสงขลา

วันนี้ (4 มี.ค.57) ที่ห้องประชุม CEO ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายดลเดช พัฒนรัฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมเชิงปฎิบัติการการจัดระเบียบสังคมสถานประกอบการปลอดยาเสพติดจังหวัดสงขลา ประจำปี 2557 เพื่อมอบนโยบายแนวทางการปฏิบัติการจัดระเบียบสังคม และบทบาทหน้าที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานยาเสพติด ตามแผนปฎิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด แก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบใน 16 อำเภอ ๆ ละ 3 คน ของจังหวัดสงขลา

นายดลเดช พัฒนรัฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลา โดย กลุ่มงานความมั่นคง ที่ทำการปกครองจังหวัดจังหวัดสงขลา ได้จัดประชุมชี้แจงและมอบนโยบาย ตามที่รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์พังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด เป็นยุทธศาสตร์หลักในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามกลยุทธ์ 7 แผน 4 ปรับ 3 หลัก 6 เร่ง เพื่อเป็นยุทธวิธีให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ทั่วประเทศ มาตั้งแต่ ปี 2555 และให้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวต่อเนื่องในปี 2557 โดยมอบหมายภารกิจให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลัก ในแผนงานที่ 1 การสร้างพลังสังคมและพลังชุมชนเอาชนะยาเสพติด ที่กำหนดเป้าหมายระดับความรุนแรงของปัญหายาเสพติดในพื้นที่หมู่บ้าน ชุมชนและมีแผนปฏิบัติการ มาตรการดำเนินงานในพื้นที่อย่างชัดเจนเน้นดำเนินการในพื้นที่เฝ้าระวังมากกว่า ตลอดจนแต่งตั้งและมอบหมายผู้ประสานงานชุมชน โดยให้อำเภอกำหนดแผนบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของอำเภอ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557

รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของจังหวัดสงขลาได้ดำเนินการตามนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาในการปราบปราม 3 เถื่อน คือ คนเถื่อน ไม้เถื่อน ของเถื่อน ซึ่งวันนี้จะได้ร่วมกำหนดทิศทางการทำงานไปทางเดียวกัน และนอกจากนี้สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ยังมีสถานการณ์ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และปัญหายาเสพติด ที่เรายังต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา และเร่งรัดเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดในหมู่บ้าน ชุมชน โดยการบริหารจัดการแบบบูรณาการและแผนพิเศษ เพื่อให้คนในหมู่บ้าน ชุมชนได้มีการรวมพลังจัดการกับปัญหายาเสพติดในพื้นที่อย่างเป็นระบบ โดยการมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ ร่วมรับผิดชอบ สอดส่องเฝ้าระวังและควบคุมปัญหายาเสพติดให้ลดลงได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น