วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ธ.ก.ส.ตรัง ร่วมประชุมโครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบปี 2557 ระดับจังหวัด พร้อมแนะให้เกษตรกรชาวสวนยางปรับวิถีชีวิตในการประกอบอาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ที่ห้องประชุมชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดตรัง นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ปี2557 ระดับจังหวัด โดยมี นายภาณุมาศ ตั้นซู่ ผู้อำนวยการ สำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดตรัง พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าร่วมประชุม โดยขณะนี้มีเกษตรกรชาวสวนยางมาลงทะเบียนไว้ทั้งหมด 58,000 ราย และได้โอนให้ ธ.ก.ส. เพื่อจ่ายเงิน 12,630 ราย ซึ่งจังหวัดตรังถือเป็นอันดับที่ 2 ในภาคใต้ รองจากจังหวัดนครศรีธรรมราช และขณะนี้มีเกษตรกรชาวสวยยางที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วมีปัญหา จำนวน 4,000 ราย ซึ่งส่วนมากจะมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด โดยทางจังหวัดได้เน้นย้ำให้ผู้รับผิดชอบทำหนังสือติดต่อประสานไปยังเกษตรกรดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อติดตามผลการดำเนินงานความคืบหน้าตามลำดับ สำหรับในส่วนของปัญหาและอุปสรรคนั้นพบว่า เอกสารและหลักฐานของเกษตรกรส่วนใหญ่มีความซ้ำซ้อน ไม่ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ และเกษตรกรบางรายที่ขึ้นทะเบียนมีเอกสารสิทธิ์ที่ดินหลายแปลง รวมทั้งข้อมูลไม่เรียบร้อย จนทำให้เกิดการล่าช้าเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ทางด้าน นายภาณุมาศ ตั้นซู่ ผู้อำนวยการ สำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดตรัง กล่าวว่า ขณะนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายให้ข้าราชการทำงานรับใช้ประชาชน โดยปลอดการเมือง เพื่อสร้างความสุขให้คนทั้งประเทศ ในส่วนของยางพารา พบว่า การแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น โดยรัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้อนุมัติค่าปัจจัยการผลิต ไร่ละ 2,520 บาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง และขณะนี้ทาง ธ.ก.ส.จังหวัดตรัง ก็ได้จ่ายเงินให้เกษตรกรตามรายที่ถือครอง ซึ่งมียอดเงินที่ได้โอนเข้าบัญชีของเกษตรกร จำนวน 70,389 แปลง ยอดเงินสะสม 1,267,379,190 บาท ซึ่งเกษตรกรสามารถเบิกได้ 2 ช่องทาง คือ เบิกผ่านตู้ ATM ทุกธนาคาร หรือจะเบิก ณ เคาน์เตอร์บริการของ ธ.ก.ส. ได้ทุกสาขา เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรชาวสวนยาง

นอกจากนี้ทางด้าน ผู้อำนวยการ สำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดตรัง ยังแนะนำฝากข้อคิดให้ชาวสวนยางตระหนักถึงการหารายได้ให้พอเพียงกับรายจ่าย มีเงินคงเหลือเพียงพอกับการครองชีพ อย่ายึดอาชีพเดียว เนื่องจากปัจจุบันชาวสวนยางไทยเป็นชาวสวนยางรายย่อย ซึ่งจะมีเนื้อที่สวนยางเฉลี่ยประมาณ 10 ไร่เศษ/ครัวเรือน ผลผลิตเฉลี่ย 264 กก./ไร่/ปี คำนวณเป็นเงินรายได้มากกว่าหนึ่งแสนบาทต่อปี ดังนั้นจึงจำเป็นที่เกษตรกรต้องทำงานหนักและหารายได้เพิ่ม และควรที่จะนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป
   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น