วันเสาร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2557

ศาลปกครองจัดเสวนาศาลปกครองของประชาชนให้กับสื่อมวลชนจังหวัดระนอง

ดร.หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด นำคณะผู้บริหารศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครอง นายไชยวัฒน์ ธำรงศรีสุข อธิบดีศาลปกครองนครศรีธรรมราช นายวชิระชอบแต่ง รองโฆษกศาลปกครอง และนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เดินทางมาร่วมพบปะเสวนากับสื่อมวลชนจังหวัดระนอง ในกิจกรรมเสวนา “ศาลปกครองของประชาชนในเวทีสื่อมวลชน” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศาลปกครอง กระบวนการยุติธรรมทางปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครองซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างจากวิธีพิจารณาความแพ่งและอาญาในศาลยุติธรรม ที่โรงแรมทินิดีระนอง

ดร.หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า ศาลปกครองเป็นศาลที่ตั้งใหม่ ประชาชนยังรู้จักศาลปกครองน้อยมาก ทำให้จำเป็นต้องประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่ไปสู่ประชาชน โดยเฉพาะผ่าน"สื่อมวลชน" ช่วยกระจายข่าวให้อย่างเข้าถึง สะดวก รวดเร็ว ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศาลปกครอง กระบวนการยุติธรรมทางปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างจากวิธีพิจารณาความแพ่งและอาญาในศาลยุติธรรมที่คุ้นเคยกันทั่วไป เพื่อให้สื่อมวลชนสามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ทั้ง อำนาจหน้าที่ของศาลปกครองและตระหนักรู้ถึงความสำคัญและความจำเป็นของกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครองของรัฐโดยศาลรวมทั้งการปกป้องสิทธิเสรีภาพมิให้ถูกล่วงละเมิดโดยหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันจะส่งผลให้เกิดบรรทัดฐานและการปฏิบัติราชการทางปกครองที่ดีในสังคมต่อไป

ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้เปิดเผยถึงสถิติปกครองว่า ตั้งแต่เปิดทำการศาลปกครองเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2554 เป็นต้นมา มีปริมาณคดีที่รับเข้าสู่การพิจารณา ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 จำนวน 94,299 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ จำนวน 73,092 คดี คิดเป็นร้อยละ 78 และมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา จำนวน 21,207 คดี คิดเป็นร้อยละประมาณ 22 ของคดีรับเข้าทั้งหมด ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน คดีเกี่ยวกับพัสดุ สัญญาทางปกครอง การลงทุน การเงิน การคลัง และการธนาคาร คดีเกี่ยวกับการควบคุมอาคาร เหตุเดือดร้อนรำคาญ และสิ่งแวดล้อม คดีเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล สวัสดิการและการประกอบอาชีพ คดีเกี่ยวกับทรัพย์สิน คดีเกี่ยวกับกิจการคมนาคม โทรคมนาคม วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ คดีเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และคดีเกี่ยวกับการศึกษาและคดีประเภทอื่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น