วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ม.เกษตรศาสตร์ นำเครื่องโอโซนใช้ทดสอบแก้ปัญหาน้ำเสีย ซ.พะเนียง ต.รัษฎา

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 12 พฤษภาคม 2557 ที่ บ่อบำบัดน้ำเสีย ซ.พะเนียง ต.รัษฎา ดร.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ชมการสาธิตโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำบริเวณคลองรัษฎาโดยเทคโนโลยีโอโซนและสนามแม่เหล็ก โดยมี นายเกษม สุขวารี ทรัพยาการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต นายกนก นาแก้ว  บุคลากรจากศูนย์ปฏิบัติการวิศวกรรมการพลังงานและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วม

นายกนก กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ร่วมกันพัฒนาเครื่องปรับสภาพน้ำเสีย ซึ่งหลักการทำงานจะมี 3 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1. การสร้างอุโมงค์สนามแม่เหล็ก  หลักการคือในโลกนี้มีสสารโมเลกุลแม้แต่โปรตีน คาร์โบไฮเรตก็จะมีโมเลกุล ถ้าเอาโมเลกุลน้ำเสียผ่านเข้าไปในอุโมงค์สนามแม่เหล็ก ก็จะทำการเรียงโมเลกุลของตะกอนในสารแขวงลอย เมื่อตะกอนในสารแขวงลอย เรียงโมเลกุลก็จะเกิดอำนาจในสนามแม่เหล็ก แล้วตะกอนก็จะเกาะตัวกันเร็วขึ้น ขั้นที่ 2. การแยกโมเลกุลของน้ำ ซึ่งประกอบด้วยไฮโดรเจนกับออกซิเจน เมื่อแยกโมเลกุลเราจะได้ออกซิเจนที่บริสุทธิ์แทนที่การเอาอากาศใส่ในน้ำ เพราะฉะนั้นการเติมออกซิเจนลงในน้ำเป็นการเพิ่มดีโอ ซึ่งเป็นหลักการของสิ่งแวดล้อม และขั้นที่ 3. การนำอากาศที่เราหายใจโดยทั่ว ๆไปมาผลิตเป็นโอโซนเพื่อฆ่าเชื้อโรค ปกติบ่อบำบัดน้ำเสียที่มีอยู่ในประเทศไทยจะไม่มีการฆ่าเชื้อโรค ดังนั้นจังหวัดภูเก็ตได้เริ่มนำโอโซนเข้ามาใช้ในการบำบัดน้ำเสียเพียงอย่างเดียวจาก 1 ใน 3 ของทั้งหมดที่ใช้ ทั้งนี้เชื้อโรคที่ฆ่าได้ก็คือ โคลีฟอม เป็นสารที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย เมื่อฆ่าเชื้อโรคแล้วสีน้ำก็จะใสขึ้น ทั้งสามขั้นตอนนี้ตรงตามมาตรฐานของสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ ปริมาณน้ำทั้งหมด ซึ่งปริมาณน้ำที่ใช้ในบำบัดทั้งหมด ขึ้นอยู่กับคาบิสซีดีของเครื่อง เนื่องจากเครื่องได้ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในการทดลอง ถ้าหากมีการเพิ่มจำนวนน้ำมากขึ้น ก็ต้องมีการเพิ่มกำลังเครื่องมือในการผลิตขึ้นด้วย โดยผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งทางจังหวัดต้องการใช้ติดตั้งจริง โดยจะมีการพูดคุยเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้งหนึ่ง

ด้าน ดร. สมหมาย กล่าวว่า ปัญหาน้ำเสียในบริเวณ ซ.พะเนียง ต.รัษฎา ขณะนี้ทางจังหวัดได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปแก้ไขโดยเฉพาะเจ้าของพื้นที่ เทศบาลตำบลรัษฎา และเทศบาลนครภูเก็ต ร่วมกันตั้งงบประมานเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อย่างไรก็ตามการนำเครื่องโอโซนในการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นการทดลองรูปแบบหนึ่งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เป็นการใช้สนามแม่เหล็กขึ้นมาเป็นเครื่องมือใหม่ และยังเป็นการทอลองอยู่ในขณะนี้  ถือเป็นอีกแนวทางที่น่าจะไปปรับใช้ในการบำบัดน้ำเสียได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น