วันพุธที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

จ.ตรัง แถลงข่าว “เตรียมความพร้อมเกษตรไทย เริ่มต้นใหม่ฤดูกาลผลิตของจังหวัดตรัง” ด้านการผลิตข้าวของจังหวัดตรัง

ที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตรัง (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) นายบุญเลี้ยง ข่ายม่าน เกษตรจังหวัดตรัง นางจิราพรรณ ชัชวาลชัยพรรณ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินตรัง นายประเสริฐ วงศ์นราทิพย์ นายช่างชลประทานอาวุโส โครงการชลประทานตรัง และนายสน ฉิมพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุง ร่วมแถลงข่าว "เตรียมความพร้อมเกษตรไทย เริ่มต้นใหม่ฤดูกาลผลิตของจังหวัดตรัง” ด้านการผลิตข้าวของจังหวัดตรัง พื้นที่การทำนาปลูกข้าวของจังหวัดตรัง ปี 2556/57 มีพื้นที่ปลูก 13,882 ไร่ พื้นที่การปลูกข้าวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับ พื้นที่ปลูกปี 2555/56 ซึ่งมีพื้นที่ปลูก 13,190 ไร่ และมีพื้นที่ปลูกเพียงครึ่งหนึ่งของพื้นที่เหมาะสมในการปลูกข้าว (26,200 ไร่) การปลูกข้าวของเกษตรกรในจังหวัดตรัง เป็นการปลูกเพื่อเก็บผลผลิตไว้บริโภคในครัวเรือน ปลูกข้าวได้เพียงปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากพึ่งพาธรรมชาติ คือ น้ำฝนเป็นหลัก การเริ่มต้นการทำนาจึงขึ้นอยู่กับว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอเวลาไหน ถ้าสภาวะฝนตกตามปกติและมีปริมาณน้ำเพียงพอเกษตรกรจะเริ่มทำนาในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม และเก็บเกี่ยวระหว่างปลายเดือนมกราคม-ต้นเดือนกุมภาพันธ์

สำหรับพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรนิยมใช้ปลูกส่วนใหญ่ เป็นพันธุ์เล็บนกปัตตานี ซึ่งการปลูกการปฏิบัติดูแลรักษา และรสชาติการบริโภคเป็นที่พอใจ ตรงตามความต้องการของเกษตรกรพันธุ์ข้าวอื่น ๆ ที่ใช้ปลูก มีบ้างเป็นพันธุ์พื้นเมือง เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ปลูกส่วนใหญ่เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง เกษตรกรจะเก็บเมล็ดพันธุ์จากแปลงปลูกแบ่งส่วนหนึ่งไว้เป็นเมล็ดพันธุ์เกษตรกรบางรายจะเก็บเกี่ยวข้าวในส่วนที่จะเก็บไว้ทำเมล็ดพันธุ์ด้วยแกระ แล้วนำไปแขวนไว้ในที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ส่วนความต้องการบริโภคข้าวจังหวัดตรัง จังหวัดตรังมีประชากรกว่า 630,000 คน ปรากฏว่าผลผลิตข้าวที่ผลิตได้มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการบริโภค เมื่อคำนวณจากความต้องการในการบริโภคและผลผลิตแล้วจังหวัดตรัง ผลิตข้าวได้ไม่ถึง 10% ความต้องการข้าวสาร 490,49 ตัน ผลิตได้ 3,249 ตัน ทั้งนี้ได้มีแนวทางพัฒนาส่งเสริมให้เกษตรกรทำนาและเพิ่มผลผลิตข้าวโดยการจัดการเรื่ององค์ความรู้ด้านการผลิตข้าวแก่เกษตรกรให้สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวต่อไร่ให้สูงขึ้น ตามศักยภาพของพันธุ์ข้าว และส่งเสริมให้เกษตรกรมีการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ตามหลักวิชาการมีการปฏิบัติเพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม และส่งเสริมสนับสนุนให้ท้องถิ่นที่มีพื้นที่การทำนาและเกษตรกรมีความต้องการประกอบอาชีพการทำนามีบทบาท ในการส่งเสริมช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มดังกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น