พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า มีรุ่นน้องท่านหนึ่งได้ถูกจับไปอยู่เรือนจำและตอนนี้รุ่นน้องท่านนี้ ได้รับการประกันตัว และได้เสียชีวิต ซึ่งก็อาจจะมีสถานะเหมือนหลายท่านที่นั่งอยู่ในที่แห่งนี้ และก่อนที่ท่านจะถูกควบคุมตัว ท่านได้เขียนจดหมายฝากมาให้เป็นลายมือ เขียนสะท้อนมาออกมา จึงนำบางช่วงบางตอนมาอ่านให้ฟัง ซึ่งน่าจะสะท้อนความรู้สึกแต่ละครอบครัวได้ มีข้อความว่า “เพราะผมเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน จึงรู้ว่าความยากลำบากเป็นเช่นไร เพราะผมเคยอด จึงรู้ว่าความหิวโหยเป็นเช่นไร และรู้คุณค่าของอาหาร น้ำทุกหยด ข้าวทุกเม็ด เพราะผมเคยป่วย จึงรู้ว่าความเจ็บป่วยคืออะไร และรู้คุณค่าของสุขภาพที่ดี เพราะผมติดคุก จึงรู้ว่าชีวิตคืออะไร และรู้คุณค่าของเสรีภาพ” ซึ่งต่อมาในปี 2550 ท่านได้เสียชีวิต ในรอบสามปีที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนได้มีความเข้าใจในวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของพื้นที่ ทุกภาคส่วนได้ให้การเคารพในความแตกต่างทางวัฒนธรรม และคิดว่าการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างเป็นสิ่งที่สวยงาม และเป็นสิ่งที่มั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราได้ให้การส่งเสริม สนับสนุนทางด้านอัตลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นภาษามลายูหรือกิจกรรมที่เป็นวิถีชีวิตของพี่น้องในพื้นที่
ทางด้านพลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล แห่งสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การเยียวยาเป็นส่วนหนึ่งของจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะการจัดการปัญหาต้องเริ่มด้วยการค้นหาความจริงว่าใครโดนเรื่องอะไร และดำเนินคดีไปตามกฎหมาย การเยียวยาในพื้นที่ภาคใต้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะการเยียวยาในปัจจุบันที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จัดขึ้น เป็นสิ่งที่ดีมากสิ่งหนึ่งที่ได้เห็น คือการได้นำเอาคนที่สูญเสียไม่ว่าจะเป็น คนที่สูญเสียสามี สูญเสียลูก ที่ได้ฟื้นกลับมาเข้มแข็งอักครั้ง แล้วนำคนเหล่านี้มาดูแลเยียวยาผู้ที่สูญเสียด้วยกัน ทำให้ทราบถึงสถาพจิตใจ ความต้องการ การเยียวยาจิตใจไม่ใช่แต่เพียงจะให้เงิน การให้เงินเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เพราะการเยียวยาจิตใจที่มันร้าวลึกนั้นต้องใช้เวลา การที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้จัดกิจกรรมแบบนี้ขึ้นมาถือเป็นสิ่งที่ดีและจะต้องจัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้คนที่สูญเสียได้มีโอกาสฟื้นกลับคืนมาเป็นคนที่ดีของสังคม จากคนที่เคยได้รับการเยียวยาก็สามารถพลิกฟื้นกลับมาเป็นคนที่ให้การเยียวยาคนอื่น ๆ เป็นการต่อยอดความคิด ความรู้ในเรื่องของการเยียวยาที่ดี การเยียวยาลักษณะแบบนี้ที่ผ่านมาไม่เคยเกิดขึ้น เราเพิ่งจะมีโอกาสได้เห็นเมื่อปีสองปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่เป็นกังวลในขณะนี้ คือกระบวนเหล่านี้ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ต้องส่งต่อองค์ความรู้และมีการสานต่อ หากหยุดไปจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เยียวยาได้ เช่นเดียวกับยุทธศาสตร์ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่องการเยียวยาต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือคณะผู้บริหารของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยากจะให้คงยุทธศาสตร์นี้เอาไว้ เพราะเป็นการเข้าถึงประสิทธิภาพของการเยียวยาอย่างแท้จริง
สำนักสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ ศอ.บต. ข่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น