วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ผู้ตรวจราชการคมนาคม ลงพื้นที่ภูเก็ตติดตามการก่อสร้างสนามบินนานาชาติภูเก็ต พร้อมเร่งแก้ปัญหาการจราจรทางบก ทางน้ำ รองรับการท่องเที่ยวและ AEC

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 18 ก.พ. 57 ที่ห้องประชุมท่าอากาศยานภูเก็ต นายสมชาย จันทร์รอด หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมติดตามงานหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยมีนายวิชัย คำคง ผู้อำนวยการเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 นายภูริพัฒน์ ธีระ กุลพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคภูเก็ต นายสมัคร เลือดวงหัด ผู้อำนวยการแขวงการทางภูเก็ต นาวาอากาศเอกกันต์พัฒน์ มังคละศิริ รองผู้อำนวยการการท่าอากาศยานภูเก็ต พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายสมชาย กล่าวว่า เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตมีศักยภาพที่พร้อมในด้านการท่องเที่ยวสอดคล้องกับการจะเข้าสู่ AEC ในปี 58 คิดว่าโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวจะต้องได้รับการพัฒนา กระทรวงคมนาคมจึงมีการเร่งรัด และติดตาม ในส่วนของการคมนาคมทางบก เนื่องการมีการก่อสร้างถนนเป็นระยะเวลานานเลยมาติดตามเร่งรัดว่าเราควรที่จะมีแผนแม่บท รวบรวมโครงการก่อสร้างทางถนนทั้งหมดให้บูรณาการร่วมกัน เพื่อเป้าหมายสำคัญเนื่องจากขณะนี้เมื่อมีการสร้างทางแต่ละครั้งจะเกิดจุดตัดขึ้น ทำให้ปัญหาการจราจรทางถนน ในจังหวัดภูเก็ตติดขัดมาก ซึ่งจากเดิมคนที่เดินทางจากในเมืองมาสนามบินภูเก็ตใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมง แต่ปัจจุบันใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง คิดว่าแผนแม่บทนี้เมื่อทำสำเร็จตามโครงการซึ่งมีแผนระยะสั้น 3 ปี และจะจบที่แผน 10 ปี จะทำให้การจราจรในจังหวัดภูเก็ตคล่องตัวขึ้น โดยให้ฝ่ายว่าจ้างโครงการประเมิน เพื่อเป็นตัวชี้วัดอีกทางหนึ่ง ส่วนคมนาคมทางน้ำ ได้พัฒนาบูรณาการท่าเรือต่างๆในทะเลอันดามัน โดยเฉพาะหลายจังหวัดในโซนที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงานได้กลับมาใช้ประโยชน์ มีเรือท่องเที่ยว มีเรือสำราญมากมาย แต่สิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือการให้บริการ ซึ่งจะต้องมีมาตรฐาน ความปลอดภัย รวมทั้งเราสามารถควบคุมการเข้าเมืองของชาวต่างชาติได้เพราะฉะนั้นทางเจ้าท่ามีการรายงานว่าจะมีโครงการที่จะพัฒนาท่าเรือต่างๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ เรียกว่าเป็นการท่องเที่ยวในทะเลอันดามันรอบหลายๆจังหวัด

นายสมชาย กล่าวต่อถึงความคืบหน้าการขยายการก่อสร้างสนามบินนานาชาติภูเก็ตว่า เนื่องจากท่าอากาศยานภูเก็ตมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจำนวนมากเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยปีที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น กว่า 5 ล้านคน แต่โครงการที่ที่มีการขยาย สามารถรองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวได้ต่อปีถึง 12.5 ล้านกว่าคน โดยโครงการจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 58 และยังมีอีกหลายโครงการที่ยังชะลอตัวอยู่ เนื่องจากพื้นที่มีการที่จะต้องส่งมอบล้าช้า ไม่เป็นไปตามแผน อย่างไรก็ตาม คิดว่าจะแล้วเสร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีข้อติดขัดในเรื่องของระบบบริการที่เกี่ยวเนื่องเช่น ระบบน้ำมัน เมื่อเครื่องบินที่มีมากขึ้น ระบบการเติมน้ำมันก็ต้องรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ระบบบริการผู้โดยสารโดยเฉพาะบริการที่เกี่ยวเนื่องรถโดยสารต่างๆให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น เลยให้ทางขนส่งทางบกเข้ามาร่วมแก้ไข สำหรับปริมาณจราจรมีความความถี่ในบางช่วง และเพื่อเป็นประโยชน์สูงสุดจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไข โดยพิจารณา จัดตารางเที่ยวบินให้เหมาสม และเป็นประโยชน์ ก็จะทำให้เราสามารถรองรับเที่ยวบิน ให้คุ้มค่ากับการลงทุน และพัฒนาไป

ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม กล่าวในตอนท้ายของการแก้ปัญหาจราจรทางบก โดยเฉพาะทางขึ้นลงเขาป่าตอง ซึ่งเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยเฉพาะรถขนาดใหญ่ และรถบัสนักท่องเที่ยว เนื่องจากทางลาดชันด้านจราจรติดขัดมาก และเมื่อรถติดขัดแล้ว อุปกรณ์เบรก โดยเฉพาะหม้อลม จะมีปัญหาขึ้นมาก็จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ทั้งนี้แนวทางการแก้ไข ระยะแรก กรมทางหลวงจะขยายเส้นทาง แล้วจะประสานกับผู้ควบคุมจราจรทำให้เส้นทางเคลื่อนตัวได้เร็วขึ้น ไม่ให้รถจอดรอนานเมื่อรถติด จะทำให้มีปัญหาในระบบเบรก ส่วนระยะที่สอง คือการก่อสร้างอุโมงค์ ซึ่งในขณะนี้ต่างประเทศมีเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะไม่ทำให้ธรรมชาติเสียหาย โดยจะมีการเจาะภูเขาเข้าไปเลย จะไม่ทำให้ภูเขามีความเสียหายมาก โดยจะมีการศึกษาและวางแผนแล้วเสร็จในช่วงเดือนพฤษภาคม 57 แต่สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดในตอนนี้คือเรื่องที่ดิน ต้องมีการซื้อ และเวรคืนและผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนที่อยู่บริเวณทางก่อสร้าง แต่อย่างไรก็ดีหากมีการก่อสร้างก็สามารถแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยเมื่อเกิดภัยพิบัติหรืออุทกภัย รวมทั้งเป็นช่องทางที่ทำให้ประชาชนสามารถอพยพบออกจากพื้นที่อันตรายได้เร็วขึ้น ทั้งนี้จากการทำประชาพิจารณ์ ชาวบ้านก็ให้การตอบรับที่ดี จึงได้พยายามย้ำว่าให้ทำความเข้าใจให้เป็นลำดับ สำหรับในส่วนของงบประมาณการณ์เบื้องต้นในการขุดเจาะอุโมงค์ วงเงินประมาณ 9 พันกว่าล้าน แต่ขณะนี้ปัญหาไม่ใช่เป็นเรื่องของงบประมาณ แต่ปัญหาที่สำคัญคือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประชาชน และภาพรวมของภาพลักษณ์ของจังหวัดภูเก็ตเสียไป โดยทางฝ่ายแผนงานได้รับไปดำเนินการต่อ ส่วนที่ย้ำที่สุดคือบริการที่เป็นปัจจัยทั่วไปของภูเก็ต ตอนนี้ได้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ว่ามีข้อคิดเห็น ทำอย่างไรให้เกิดการแลกเปลี่ยนไทยไปประเทศเพื่อนบ้าน โดยทางเราก็ควรจะมีบริการที่ย้อนกลับเพื่อให้เกิดการทัดเทียม ทั้งการขนส่งทางบก การขนส่งทางอากาศ เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนการขนส่งระหว่างประเทศ จนเกิดดุลยภาพมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น