วันศุกร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2557

ศาลแรงงานภาค 8 สัมมนาผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานทั่วประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพการพิจารณาพิพากษาคดีแรงงานให้ไปในทิศทางเดียวกัน

วันที่ 21 มี.ค. 57 ที่โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ จ. ภูเก็ต นายจรัญ  เนาวพนานนท์  อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 8 เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานทั่วประเทศ  โดยมี นายนิคม  โอวาส ประธานผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานภาค 8  ดร.สมหมาย  ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานทั่วประเทศ เข้าร่วม

นายนิคม  กล่าวว่า ตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ได้กำหนดให้การพิจารณาพิพากษาคดีในศาลแรงงานต้องมีองค์คณะผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี ประกอบด้วย ผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างและกำหนดให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงานเป็นไปโดยประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม ดังนั้น ผู้พิพากษาสมทบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการอำนวยความยุติธรรม สมควรต้องมีการพัฒนาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ในการทำงาน การจัดประชุมสัมมนาผู้พิพากษาสมทบทั่วประเทศที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เป็นการเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงการรับฟังปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาและป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นได้ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้การพิจารณาพิพากษาคดีแรงงานให้เป็นไปในรูปแบบและทิศทางเดียวกัน และผู้เข้าร่วมประชุมสามารถนำความรู้และทักษะต่าง ๆ ที่ได้รับ ไปปรับใช้ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อไป

ศาลแรงงานเป็นศาลชำนาญพิเศษ แตกต่างจากคดีแพ่งและคดีอาญาทั่วไป มีวัตถุประสงค์ให้การดำเนินคดีเป็นไปโดยสะดวก ประหยัด รวดเร็ว เสมอภาคและเป็นธรรม การอำนวยความเป็นธรรมทางด้านแรงงานจะต้องคำนึงถึงสภาพการทำงาน ภาวะค่าครองชีพในปัจจุบัน ความเดือดร้อนของคู่ความทั้งนายจ้างและลูกจ้าง สิทธิประโยชน์ ตลอดจนสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมโดยทั่วไป ประกอบการพิจารณาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่าย ซึ่งในการดำเนินการพิจารณาคดีในศาลแรงงานจะต้องมีผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละเท่า ๆ กัน เป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดี ดังนั้น ผู้พิพากษาสมทบทุกท่าน ถือเป็นส่วนหนึ่งในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่มีข้อพิพาทด้านแรงงาน  สำหรับศาลแรงงานแต่เดิมมีเพียงศาลแรงงานกลางพิจารณาคดีแรงงานทั่วราชอาณาจักร ต่อมาได้มีพระราชกฤษฏีกา กำหนดจำนวนที่ตั้ง เขตศาล และวันเปิดทำการศาลแรงงานภาค พ.ศ. 2546 เปิดทำการศาลแรงงานภาค 2 ภาค 8 และภาค 9 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2546 ในปี 2547 เปิดศาลแรงงานภาค 4 ภาค 5 และภาค 6 และในปี 2548 เปิดศาลแรงงานภาค 1 ภาค 3 และภาค 7 จนครบทุกภาค  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น