วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2557

ผู้ว่านครฯห่วงวิกฤติภัยแล้ง เร่งระดมสรรพกำลังซ่อม สร้างฝายชะลอน้ำ พร้อมเฝ้าระวังไฟป่าพรุควนเคร็ง

วันนี้ (20 มี.ค.57)  ที่ห้องประชุมสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานการประชุมคณะทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และไฟป่าจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อรับทราบสถานการณ์ รวมทั้งติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และไฟป่าจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า สิ่งที่ตนกังวลมากที่สุดในขณะนี้คือเรื่องภัยแล้ง เนื่องจากหลายพื้นที่เริ่มประสบปัญหาแล้ว จึงจำเป็นต้องหามาตรการในการป้องกันเพื่อรักษาระดับน้ำต้นทุนในแหล่งธรรมชาติต่าง ๆ โดยได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด จำนวน 5 คน ประกอบด้วย ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธาน ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัด ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เป็นกรรมการ และ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีหน้าที่ในการประเมินสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อนำงบประมาณตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ที่ใช้สำหรับการป้องกันมาใช้ในการซ่อม สร้างฝาย หรือทำนบเพื่อชะลอการไหลของน้ำในพื้นที่ต้นน้ำ รวมทั้งการป้องกันการรุกล้ำของน้ำทะเลเข้าไปในพื้นที่น้ำจืดในพื้นที่ชายฝั่งทะเล โดยให้ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัด ไปศึกษาและกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมในการก่อสร้างฝาย ทำนบกั้นน้ำ อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้สร้างฝายชะลอน้ำแล้วในหลายพื้นที่ และต้องขอขอบคุณสำนักงาน กปร. ที่ได้สนับสนุนงบประมาณในการป้องกันไฟป่าในเขตป่าพรุควนเคร็งด้วย

นายเจษฎา วัฒนานุรักษ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ล่าสุดจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ภัยแล้งแล้ว 5 อำเภอ คือ ปากพนัง เมือง สิชล เชียรใหญ่ และบางขัน มีพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน 32 ตำบล 337 หมู่บ้าน นอกจากนี้ได้เกิดอัคคีภัยขึ้นในพื้นที่อำเภอทุ่งใหญ่ ฉวาง ทุ่งสง ช้างกลาง และหัวไทร มีสวนยางเสียหาย 226 ไร่ สวนผลไม้ 4 ไร่ บ้านเรือน 2 หลัง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปช่วยเหลือแล้ว

นายยรรยง โกศลกาญจน์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำที่กักเก็บในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางของจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 3 อ่าง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส อ.ชะอวด มีปริมาณน้ำเหลือ 59 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 74 ของความจุ อ่างเก็บน้ำคลองกะทูน ปริมาณน้ำเหลือ 42.2 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 60 และอ่างเก็บน้ำคลองดินแดง อ.พิปูน ปริมาณน้ำ 33.8 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 56 ซึ่งยังสามารถช่วยเหลือเกษตรกรหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรได้อีกประมาณ 2 เดือน ส่วนระดับน้ำในคลองต่าง ๆ ระดับน้ำล้นสันฝายประมาณ 2-10 เซนติเมตร บางแห่งต่ำกว่าสันฝาย และมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ส่วนระดับน้ำที่เหนือประตูรายน้ำน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ อ.ปากพนัง ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง -1.02 เมตร หากต่ำกว่า -1.50 เมตร ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ จะไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้ เนื่องจากจะทำให้ตลิ่ง และถนนพัง ส่วนที่คลองชะอวด-แพรกเมือง ระดับน้ำต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง -1.08 เมตร ถ้าระดับต่ำถึง -1.20 เมตร อยู่ในขั้นวิกฤติ จะไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้เนื่องจากจะมีปัญหาเรื่องน้ำเปรี้ยวไหลลงไปในคลอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพืช ส่วนระดับน้ำในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็งอยู่เหนือระดับผิวดิน 6 เซนติเมตร อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้มีการเตรียมเครื่องสูบน้ำไว้พร้อมแล้ว

ทางด้านผู้แทนกองทัพภาคที่ 4 ระบุว่า ทางกองทัพได้จัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพภาคที่ 4 ขึ้น โดยให้หน่วยงานในสังกัดและกำลังพลพร้อมเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง และอัคคีภัย โดยวางแนวทางไว้ 2 แนวทาง คือ หน่วยเข้าไปดำเนินการเองร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร และ ตามที่ส่วนราชการร้องของ ส่วนองค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้จัดเตรียมรถบรรทุกน้ำ 10 คัน รถแบ็คโฮ 6 คัน รถเจาะบ่อบาดาล 1 คัน ขณะที่ที่ทำการปกครองจังหวัดและท้องถิ่นจังหวัด ประสานไปยังนายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ในการสำรวจซ่อมแซม สร้างฝายชะลอน้ำ ส่วนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้บูรณาการกับหน่วยงานในสังกัดทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าพรุควนเคร็ง ที่บริเวณศาลหลวงต้นไทร ต.การะเกด อ.เชียรใหญ่ นอกจากนี้ได้มีการอบรมอาสาสมัครดับไฟป่า รวมทั้งจัดชุดเฝ้าระวัง ชุดลาดตระเวนในพื้นที่เสี่ยงไฟป่าด้วยแล้ว สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงนั้น ทางกรมการฝนหลวงได้ขึ้นบินปฏิบัติการแล้ว 5 เที่ยว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากความชื้นในอากาศยังไม่เพียงพอต่อการก่อตัวของเมฆฝน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น