วันนี้ (28 ก.ค.2557) ที่ห้องประชุมสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ปรึกษาและคณะทำงานฝายมีชีวิตลุ่มน้ำคลองท่าดี นำโดยนายสวัสดิ์ กฤตรัชตนันต์
นายสวัสดิ์ สมัครพงศ์ ,ดร.ดำรง โยธารักษ์ และนายสมเดช คงเกื้อ ร่วมแถลงข่าวถึงการดำเนินงานโครงการสร้างฝายมีชีวิต ซึ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่คณะทำงานฝายมีชีวิตลุ่มน้ำคลองท่าดีได้จัดทำขึ้นเพื่อให้มีน้ำไว้เพื่อการอุปโภค-บริโภคอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี
โดย ดร.ดำรง โยธารักษ์ กล่าวว่าขั้นตอนสำคัญของฝายมีชีวิตคือ กระบวนการสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ด้วยการใช้วัสดุจากธรรมชาติที่มีในท้องถิ่น อาทิ ไม้ไผ่ ไม้สะตอเบา ไม้สน ไม้หมาก กระสอบ ทราย มูลวัว ขุยมะพร้าว และต้นไม้ที่รากยึดตลิ่ง มาทำเป็นฝายกั้นน้ำ ซึ่งฝายมีชีวิตนี้จะเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำหลาก และการเพิ่มน้ำใต้ดิน โดยในช่วงน้ำหลาก ฝายมีชีวิตจะช่วยชะลอ กักเก็บน้ำ ไม่ให้น้ำไปท่วมในพื้นที่เกษตรและชุมชนเมือง ส่วนในหน้าแล้งจะทำหน้าที่ช่วยระบายน้ำออกมาใช้ตลอดช่วงหน้าแล้ง
ดร.ดำรง โยธารักษ์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ฝายมีชีวิตไชยมนตรี 1 ตัว สามารถเก็บกักน้ำใรคลองที่สามารถเห็นได้ 60,000 ลูกบาศก์เมตร รวมทั้งจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำซึมไปอยู่ในดินทั้งสองฝั่งคลองข้างละประมาณ 2 กิโลเมตร พร้อมทั้งได้นำข้อมูลผลการวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. ในหัวข้อ “วิจัยวางแผนและการจัดการทรัพยากรน้ำจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยการมีส่วนร่วม” ของ ดร.ปกรณ์ ดิษฐ์กิจและคณะ มายืนยันว่า ลุ่มน้ำคลองท่าดีมีปริมาณน้ำที่ธรรมชาติให้มาปีละประมาณ 700 ล้านคิว และจากการสำรวจปริมาณการใช้น้ำทุกประเภท พบว่าจะมีความต้องการใช้น้ำปริมาณ 115 ล้านคิว หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของปริมาณน้ำที่ธรรมชาติให้มาทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ดร.ดำรงฯ ระบุว่าปริมาณน้ำที่เหลือเพียงพอต่อความต้องการใช้ของประชาชนในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชตลอดทั้งปี หากทางเทศบาลนครมีพื้นที่ในการกักเก็บน้ำ
อุไรวรรณ/ข่าว/ภาพ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น