วันอังคารที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการทำงานเตรียมความพร้อมเกษตรกรไทย เริ่มต้นใหม่ฤดูกาลผลิต

หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการทำงานเตรียมความพร้อมเกษตรกรไทย เริ่มต้นใหม่ฤดูกาลผลิต โดยเฉพาะข้าว หันมาส่งเสริมการปลูกพันธุ์พื้นเมือง เน้นข้าวพันธุ์ไข่มดริ้น

วันนี้ (6 พ.ค.57) ที่ห้องประชุมศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช นายศุภชัย สงประสพ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยนายสมนึก เหมมณี เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช นายสุรจิตร ฤทธิภักดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช นางบุญเรือน ทองจำรัส ผู้แทนศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านยางยวน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครศรีธรรมราช ร่วมกันแถลงข่าวการเตรียมความพร้อมเกษตรกรไทย เริ่มต้นใหม่ฤดูกาลผลิต ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัดนครศรีธรรมราชทุกหน่วยร่วมให้ข้อมูลด้วย

นายศุภชัย สงประสพ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ถือฤกษ์วันพืชมงคล เป็นวันเตรียมความพร้อมของเกษตรกรไทย เริ่มต้นใหม่ฤดูกาลผลิต โดยในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราชจะเน้นเรื่องข้าว เป็นลำดับแรก เพราะการทำนาถือเป็นอาชีพเกษตรกรรมเก่าแก่ที่สุดอาชีพหนึ่ง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งอดีตมีความอุดมสมบูรณ์ จนได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าว อู่น้ำของภาคใต้ สามารถผลิตข้าวทั้งเพื่อการบริโภคภายในจังหวัด ส่งออกจำหน่ายในจังหวัดใกล้เคียงและประเทศเพื่อนบ้านด้วย เดิมพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังมีพื้นที่นาประมาณ 5 แสนไร่ แต่ปัจจุบันเหลือพื้นที่นาประมาณ 331,000 ไร่เศษ ปีเพาะปลูก 2555/2556 ให้ผลผลิต 149,242 ตัน สำหรับพันธุ์ข้าวที่นิยมปลูกคือ พันธุ์ชัยนาท ปทุมธานี พิษณุโลก เป็นต้น ปลูกเพื่อจำหน่ายตามนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล แต่เกษตรกรกลับซื้อข้าวสารจากนอกพื้นที่มาบริโภค ด้านบริโภคภายในจังหวัด คำนวณจากความต้องการบริโภคข้าวอยู่ที่ประมาณ 104 กิโลกรัมต่อคนต่อปี จังหวัดนครศรีธรรมราชมีประชากรประมาณ 1.5 ล้านคน มีความต้องการบริโภคข้าวปีละประมาณ 160,000 ตัน ผลิตได้เพียง 149,242 ตัน ถือว่าผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในจังหวัด ยังขาดอีกจำนวน 10,770 ตัน

ดังนั้นจังหวัดนครศรีธรรมราชจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การผลิตข้าว โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เพื่อนำไปสู่การวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยแบ่งการบริหารจัดการสินค้าข้าว เป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มตลาดข้าวเพื่อการค้า เช่น ข้าวหอมปทุม ข้าวหอมชัยนาท และพิษณุโลก 2. กลุ่มตลาดข้าวเพื่อบริโภคในท้องถิ่น เช่น ข้าวเล็บนกปัตตานี ไข่มดริ้น และสังข์หยด เป็นต้น และ 3. กลุ่มตลาดข้าวเพื่อสุขภาพ (ข้าวซ้อมมือและข้าวกล้อง)เช่น ข้าวเล็กนกปัตตานี สังข์หยด หอมนิล เป็นต้น เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในจังหวัด โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ในการผลิตข้าวแบบครบวงจร เป็นเงิน 22 ล้านบาท และจากการประกาศเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว หรือ โซนนิ่ง(Zoning)ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราชมีพื้นที่เหมาะสม สำหรับปลูกข้าว จำนวน 22 อำเภอ จาก 23 อำเภอ (ยกเว้น อ.ช้างกลาง) มีพื้นที่รวม 425,084 ไร่

นายสมนึก เหมมณี เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ในส่วนของสถานการณ์ผลิตข้าวนาปรัง ปี 2557 ของจังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ ร่วมกับหน่วยงานสังกัดกรมชลประทาน วางแผนปลูกข้าวนาปรัง ตามแผนส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้งของจังหวัด ดังนี้ พื้นที่เป้าหมายการปลูกข้าวนาปรังช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน จำนวน 214,800 ไร่ ในพื้นที่ 9 อำเภอ ปลูกในเขตชลประทาน 211,900 ไร่ แหล่งน้ำอื่น ๆ 2,900 ไร่ แต่ขณะนี้เกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งมีการปลูกข้าวแล้วเพียง 8,752 ไร่ แต่คาดว่าเกษตรกรจะเริ่มปลูกข้าวมากขึ้นในช่วงเดือน พฤษภาคม – มิถุนายน และอาจะเลยไปถึงเดือนกรกฎาคม 2557 คาดว่าจะให้ผลผลิตประมาณ 119,500 ตัน

เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวด้วยว่า สิ่งหนึ่งที่จะช่วยเกษตรกรในการผลิตข้าวคือการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ในการลดต้นทุนการผลิตข้าวตามหลัก 3 ต้องทำ 3 ต้องลด ดังนี้ ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ต้องปลูกข้าวปีละไม่เกิน 2 ครั้ง ต้องทำบัญชีฟาร์ม ลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ ลดอัตราการใช้ปุ๋ยเคมี และลดการใช้สารเคมี

นายสุรจิตร ฤทธิภักดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช กำลังพัฒนาและส่งเสริมข้าวไข่มดริ้น ให้เกษตรกรปลูก เนื่องจากเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดนครศรีธรรมราช และเป็นข้าวที่นิยมบริโภคของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ขายได้ราคาดี มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับข้าวพันธุ์สังข์หยดของจังหวัดพัทลุง ต่างกันเฉพาะที่สีของเมล็ดข้าว คือพันธุ์ไข่มดริ้นมีสีขาว ส่วนพันธุ์สังข์หยดมีสีน้ำตาล

นางบุญเรือน ทองจำรัส ผู้แทนศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านยางยวน กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้ฯได้ให้ความรู้แก่เกษตรกรกลุ่มทำนาตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์มากที่สุด หลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี แต่ใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำชีวภาพ เลี้ยงเป็ดเพื่อกำจัดหอยเชอรี่ มีการบริหารจัดการน้ำในนาเพื่อควบคุมวัชพืช แบ่งพื้นที่นาเป็น 2 ส่วนคือ ปลูกเพื่อกินเอง และปลูกเพื่อขาย ผลผลติที่ได้นำมาเป็นเมล็ดพันธุ์และแปรรูป เป็นข้าวกล้องเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค มีการส่งเสริมให้ชาวนาเป็นชาวนาตัวจริง ตัวเป็น ๆ เป็นชาวนารุ่นใหม่ ที่ลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่ต้องการให้เป็นแบบธุรกิจชาวนาที่จ้างทุกอย่าง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น