วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ป.ป.ช.ปลุกพลังมวลชนต้านทุจริต 4 ภาค ระดมความคิดเห็นตามโครงการ คนไทยไม่เอา คนโกงสร้างมาตรการลงโทษทางสังคม มุ่งสร้างการป้องกันปราบปรามการทุจริตให้มีประสิทธิภาพ เห็นผลเป็นรูปธรรม

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 19 ก.พ.57  ที่ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต นายชัยรัตน์ ขนิษฐบุตร  ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นประธานเปิดกิจกรรม โครงการคนไทย ไม่เอา คนโกง ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. จัดขึ้น เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างมาตรการลงโทษทางสังคม  หวังปลุกกระแสตื่นตัว จากทุกภาคส่วนที่ร่วมต่อต้านการคอร์รัปชั่นด้วยพลังมวลชนโดยมี นายมนต์  วสุวัต  ผู้อำนวยการสำนักป้องกันการทุจริตภาคประชาสังคม พร้อมด้วย ผู้แทนเครือข่าย ป.ป.ช. ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน แกนนำนิสิตนักศึกษา ผู้นำชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้แทนจาก   ภูเก็ต พังงา กระบี่  สุราษฎร์ธานี ระนอง และชุมพร  จำนวน 120 คน  ร่วมกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว  เป็นการต่อยอดการประชุม เชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางสังคมเมื่อปี 2553  ซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 19-20 ก.พ. 57

นายชัยรัตน์  ขนิษฐบุตร  กล่าวว่า    กิจกรรมสร้างมาตรการลงโทษทางสังคม เป็นกิจกรรมในโครงการ “คนไทย ไม่เอา คนโกง” ซึ่งเป็นงานภารกิจด้านป้องกันการทุจรติของสำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการเพื่อสร้างรูปแบบแนวทางและขบวนการขับเคลื่อนมาตรการลงโทษทางสังคมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีพฤติกรรมทุจริตโดยให้ภาคประชาชนได้ร่วมกันกำหนดกระบวนการสร้างมาตรการลงโทษทางสังคมที่เป็นรูปธรรมและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ  เพื่อให้ผู้ที่กระทำการทุจริตไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่สามารถดำรงตนอยู่ในสังคม  นอกจากนี้  เพื่อเป็นมาตรการเสริมมาตรการทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น  อีกด้วย

สำหรับกิจกรรมดังกล่าว กำหนดจัดขึ้น 4 ครั้งใน 4 ภูมิภาค ทั่วประเทศ คือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดมหาสารคามโดยรูปแบบกิจกรรมเป็นการจัดสัมมนาเพื่อศึกษากระบวนการสร้างมาตรการลงโทษทางสังคมที่เหมาะสมกับ บริบทของสังคมไทยด้วยการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างรูปแบบ แนวทางและกลไกมาตรการลงโทษทางสังคมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีพฤติกรรมทุจริตระดับชาติและท้องถิ่น โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมจากทุกภูมิภาคในการสร้างมาตรการลงโทษทางสังคมที่เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่น

สำหรับกิจกรรมประกอบด้วย การปาฐกถา  เรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการป้องกันการทุจริต /การเสวนา เรื่อง การสร้างมาตรการลงโทษทางสังคม /การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด และการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนด  กระบวนการดำเนินการลงโทษทางสังคมให้เป็นรูปธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น