วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

พ่อเมืองนครฯ สนับสนุนให้ตั้งกลุ่มเพาะพันธุ์นกกรงหัวจุก

พ่อเมืองนครฯ สนับสนุนให้ตั้งกลุ่มเพาะพันธุ์นกกรงหัวจุก ตั้งเป้าปีแรก 10 ราย ลูกนกที่ได้ส่วนหนึ่งปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ พร้อมจัดแข่งขันชิงแชมป์อาเซียนในปีหน้า

นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า จากการที่ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้เพาะเลี้ยงนกปรอดหัวโขน หรือนกกรงหัวจุกในจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าให้มีการตั้งกลุ่มเพาะพันธุ์นกกรงหัวจุกจังหวัดนครศรีธรรมราช ขึ้น เป็นการรวมตัวกันของผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกจำนวน 10 ราย โดยตนจะสนับสนุนงบประมาณในการสร้างกรงนกสำหรับใช้เพาะพันธุ์ให้รายละ 5 กรง พร้อมสนับสนุนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์นกกรงหัวจุกให้บางส่วน เป็นนกที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องจดทะเบียนขออนุญาตเพาะพันธุ์สัตว์สัตว์ป่าตามระเบียบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และต้องนำลูกนกกรงหัวจุกที่เพาะพันธุ์ได้รายละ 5 ตัวต่อปีมอบให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เพื่อนำไปเลี้ยงให้นกหากินได้ตามธรรมชาติและตรวจโรคก่อนปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติเพื่อเพิ่มจำนวนนก และลูกนกอีกบางส่วนผู้เพาะพันธุ์สามารถนำไปขายให้ผู้เลี้ยงนกทั่วไปได้ เนื่องจากลูกนกที่ฟักออกมาทุกตัวจะมีการแจ้งจดทะเบียนด้วยเช่นกัน ผู้ซื้อไปเลี้ยงไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นนกที่ผิดกฎหมาย

ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า หลายคนตั้งคำถามว่า เมื่อปล่อยไปแล้วก็จะมีคนไปดักจับมาเลี้ยงอีก ซึ่งก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเป็นการสร้างเครือข่ายให้ผู้เลี้ยงนกเข้าสู่ระบบ โดยก่อนลงมือเพาะเลี้ยงจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างผู้เลี้ยงนกด้วยกันก่อน พร้อมทั้งได้ศึกษาดูงานในฟาร์มเพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุกที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ ใน ปี พ.ศ. 2558 ตนจะจัดแข่งขันประชันเสียงนกกรงหัวจุกชิงแชมป์อาเซียนด้วย จัดเหมือนกับการประชันเสียงนกเขาชวาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

นายศุภกิจ มากช่วย เจ้าของศุภกิจ-ทัศวรรณฟาร์ม หรือ STF กล่าวว่า จากประสบการณ์ในการเพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุกมา 3-4 ปี พบว่าพ่อพันธุ์แม่พันธุ์นกกรงหัวจุกแต่ละคู่สามารถผสมพันธุ์และออกไข่ได้ปีละ 7 ครอก ๆ ละ 2-3 ตัว หากผู้ว่าราชการจังหวัดสนับสนุนให้เลี้ยงรายละ 5 คู่ คิดอัตรารอดของลูกนกเฉลี่ยที่ 4 ครอกต่อปีต่อคู่ ผู้เลี้ยงจะได้ลูกนกกรงหัวจุกรายละ 40-60 ตัวต่อปี ถือว่ามีความคุ้มค่าต่อการลงทุน และผู้เลี้ยงยินดีมอบลูกนกรายละ 5 ตัวเพื่อปล่อยนกคืนสู่ป่าตามแนวทางของผู้ว่าฯ

นายทรงชัย ทองบุญยัง ผู้แทนจากส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ใบอนุญาตเพาะพันธุ์สัตว์ป่ามีอายุ 5 ปี เมื่อครบอายุแล้วสามารถต่อใบอนุญาตได้ หลังได้รับใบอนุญาตแล้วผู้เพาะเลี้ยงที่ไม่มีนกต้องหาซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์นกมาให้ได้ภายใน 1 ปี ซึ่งต้องเป็นนกที่มีใบอนุญาตที่ถูกต้องเช่นกัน ส่วนลูกนกที่ได้ก็ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯทราบเช่นกัน เพื่อทำประวัตินก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น