วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธ์สัตว์ยะลา จำหน่ายและส่งมอบแกะสายพันธ์ดีจากต่างประเทศแก่เกษตรกรในพื้นที่ 5 ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งเสริมการเลี้ยงรองรับอุตสาหกรรมฮาลาลในอนาคต

วันที่ 25 ก.พ.57 เวลา 11.30 น. ที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธ์สัตว์ยะลา ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา สพ.ญ.โศภิษฐ์ ธัญลักษณากุล ปศุสัตว์เขต 9 ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดการจำหน่ายแกะพันธ์ดีให้กับเกษตรกรเครือข่ายในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน (OSM) ตามโครงการกระจายพันธ์และปรับปรุงพันธ์แกะรองรับสินค้าฮาลาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายชัชวาล วิริยะสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบำรุงพันธ์สัตว์ยะลา นายธีรวิทย์ เทียมฆโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการผลิตและธุรกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หัวหน้าส่วนราชการ และเกษตรกรในพื้นที่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล เข้าร่วม

สพ.ญ.โศภิษฐ์ ธัญลักษณากุล ปศุสัตว์เขต 9 กล่าวว่า สำนักงานปศุสัตว์เขต 9 ได้รับงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ให้ดำเนินการโครงการกระจายพันธ์และปรับปรุงพันธ์แกะรองรับสินค้าฮาลาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปีงบประมาณ 2555 วงเงิน 39,851,200 ล้านบาท โดยมีการดำเนินการร่วมกับศูนย์วิจัยและบำรุงพันธ์สัตว์ยะลา สถานวิจัยทดสอบพันธ์สัตว์เทพา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการปศุสัตว์เขต 9 และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีการจัดหาแกะพันธุ์ดีจากต่างประเทศ คือ พันธ์ดอร์เปอร์ และพันธุ์ซานต้าอิเนส จำนวน 620 ตัว มาเป็นพ่อแม่พันธ์ และได้ทำการขยายพันธ์เพิ่ม ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้ผลิตพ่อแม่พันธุ์แกะ จำนวน 274 ตัว และลูกแกะ - แกะรุ่น จำนวน 218 ตัว และในวันนี้ได้ทำพิธีมอบพันธ์แกะที่จำหน่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดละ 20 ราย จำนวน 100 ตัว พร้อมทั้งขึ้นทะเบียนเป็นเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงแกะในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

สพ.ญ.โศภิษฐ์ ธัญลักษณากุล ปศุสัตว์เขต 9 ยังได้กล่าวอีกว่า สำหรับการเลี้ยงแกะเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจ เพราะว่าแกะสายพันธุ์นี้ มีความทนทาน และสามารถเจริญเติบโตดีในสภาพอากาศของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ซึ่งอากาศมีความชื้น) เกษตรกรที่เลี้ยงแกะอยู่เดิมในพื้นที่ มีความสนใจที่จะขยายฟาร์ม ขยายปริมาณของแกะ แต่ปัญหาก็คือขาดสายพันธุ์แกะที่ดี ดังนั้นทางสำนักงานปศุสัตว์เขต 9 ก็ได้ดำเนินการในการจัดหาแกะสายพันธุ์ดีจากต่างประเทศ เพื่อให้เกษตรกรได้นำไปเลี้ยงกระจายพันธ์และขยายพันธุ์ต่อไป ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการส่งเสริมการเลี้ยงแกะในพื้นที่ ส่วนการบริโภคในพื้นที่นั้น ค่อนข้างจะสูง เพราะส่วนใหญ่ประชาชนในพื้นที่เป็นพี่น้องชาวไทยมุสลิม ที่นิยมบริโภคทั้งเนื้อวัว เนื้อแพะ เนื้อแกะ และสัตว์ปีก ดังนั้นเมื่อความต้องการบริโภคสูง วัตถุดิบที่จะเป็นส่วนที่เหลือเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ แต่ถ้าในพื้นที่มีการส่งเสริมในเรื่องของการเลี้ยงให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภค ก็คาดว่าสิ่งเหล่านี้ก็จะก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในอนาคตต่อไป


ยุทธนา จันทร์วิมาน ส.ปชส.ยะลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น