ศพส.จ.นครศรีธรรมราช มอบเกียรติบัตรให้ผู้ปฏิบัติงานดีเด่นด้านการปราบปรามยาเสพติด พร้อมตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหายาเสพติดชุมชนรอบมหาวิทยาลัยราชภัฏ
วันนี้ (25 ก.พ.57) ที่ห้องประชุมศรีปราชญ์ ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช ว่าที่ ร.ต.ฐิตวัฒน เชาวลิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือ ศพส.จ.นครศรีธรรมราช โดยมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอ ตำรวจ ทหาร และผู้แทน ป.ป.ส.ภาค 8 เข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดจังหวัดนครศรีธรรมราช ปี 2557 รวมทั้งรับทราบสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยประธานที่ประชุมได้มอบเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติแก่ผู้ปฏิบัติงานดีเด่นด้านการปราบปรามยาเสพติดในรอบเดือนที่ผ่านมา จำนวน 3 ชุดปฏิบัติการ คือ ตำรวจสถานีตำรวจทางหลวง 4 กองกำกับการ 7 กองบังคับการตำรวจทางหลวง(ส.ทล.4 กก.7 บก.ทล) จับกุมผู้ต้องหาได้ 2 คน พร้อมยาบ้า 96,000 เม็ด /ตำรวจจากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 42 (กก.ตชด.42) จับกุมผู้ต้องหา จำนวน 1 รายพร้อมกัญชาแห้งอัดแท่ง 3 กิโลกรัม และเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจศรีวิชัย(ฉก.ศรีวิชัย) จับกุมผู้ต้องหา 2 ราย พร้อมยาบ้ารวม 2,711 เม็ด
รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า จากการประชุมคณะทำงานเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดระดับพื้นที่ หรือโต๊ะข่าว ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2557 พบว่า การลำเลียงยาเสพติดมายังจังหวัดนครศรีธรรมราช ยังไม่พบรายใหญ่ การจับกุมเครือข่ายนักค้ายาเสพติดรายสำคัญยังไม่มี พฤติการณ์ผู้เสพติดยาเสพติดจากเดิมที่มีการเสพไอซ์ ได้หันกลับมาเสพยาบ้าอีก เนื่องจากผู้เสพระบุว่ามีรสที่ดีกว่า และวิธีการไม่ยุ่งยาก ส่วนการจับกุมคดียาเสพติดของจังหวัดนครศรีธรรมราชในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมาเฉลี่ยเดือนละ 1,050-1,060 คดี /เดือน สำหรับสถานการณ์ด้านการบำบัดรักษาห้วง 1 ตุลาคม 2556 – 14 กุมภาพันธ์ 2557 ทุกระบบทุกอำเภอ รวม 1,116 ราย แยกเป็นผู้เสพ 444 ราย ผู้ติด 672 ราย ส่วนงบประมาณโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน ปี 2557 มาจากงบพัฒนาจังหวัด 7,690,200 บาท รวม 65 โครงการ งบ ป.ป.ส. จำนวน 5,317,500 บาท รวม 91 โครงการ นอกจากนี้ยังมีงบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อนำมาจัดทำโครงการบำบัด ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด คิดเป็นรายหัว ๆ ละ 3,500 บาท และอบรมอาชีพผู้ที่ผ่านการบำบัดรายละ 2,500 บาท ดังนั้นจึงขอให้ทุกอำเภอและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้รับอนุมัติงบประมาณให้รีบดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ อย่าชะล่าใจเพราะเหลือเวลาในการทำงานอีกเพียง 6 เดือนจาก 7 เดือนก็จะสิ้นปีงบประมาณแล้ว
รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวด้วยว่า สำหรับบริเวณรอบมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ที่พบการระบาดของยาเสพติด เช่น น้ำต้มพืชกระท่อม ยาบ้า เป็นต้น ให้ไปตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 คณะโดยบูรณาการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น