วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ทีมผู้เชี่ยวชาญจาก US – CDC พอใจผลการทำงานแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของจังหวัดนครศรีธรรมราช

วันนี้ (13 ก.พ.57) ที่ห้องประชุมกรุงชิง โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ว่าที่ ร.ต.ฐิตวัฒน เชาวลิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจากการจราจรทางบกจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีคณะกรรมการและคณะทำงานจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายเข้าร่วมประชุม รวมทั้งคณะติดตามสนับสนุนงานพัฒนาระบบเฝ้าระวังอุบัติเหตุทางถนนภายใต้โครงการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน(สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค) และ ทีมผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ควบคุมโรค ของสหรัฐอเมริกา หรือ US – CDC (Centers for Disease Control)ที่ติดตามความก้าวหน้างานพัฒนาระบบเฝ้าระวังอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัดเข้าร่วมประชุมด้วย

รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกยกระดับการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยทางถนน เป้นวาระที่สำคัญของทุกประเทศในโลก และให้ดำเนินงานตามกรอบปฏิญญามอสโก โดยมีเป้าหมายให้สามารถลดอัตราการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางถนนของทั้งโลก ร้อยละ 50 ภายใน 10 ปี หรือภายในปี พ.ศ. 2563 โดยคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 กำหนดให้ปี พ.ศ. 2554 – 2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนและกำหนดให้ความปลอดภัยทางถนนเป้นวาระแห่งชาติ ในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช ถือเป็นนโยบายสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจากการจราจรทางบกด้วย จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจากการจราจรทางบกจังหวัดนครศรีธรรมราช

ผู้แทนของโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ปัจจุบันในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาระบบเฝ้าระวังอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัดมีอยู่ 6 ฐานข้อมูล คือ ระบบ IS ของสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ระบบ 19 สาเหตุของกระทรวงสาธารณสุข ระบบ ITEMS ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ระบบทะเบียนมรณะบัตรของกรมการปกครอง ระบบ E- Claim ของบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด และระบบ POLIS ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่การเชื่อมโยงฐานข้อมูลดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ จึงต้องมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ วางแผน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาต่อไป โดยมีการเปรียบเทียบการทำงานระหว่างจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดอุดรธานี

ทางด้านทีมผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ควบคุมโรค ของสหรัฐอเมริกา หรือ US – CDC (Centers for Disease Control) ที่ติดตามความก้าวหน้างานพัฒนาระบบเฝ้าระวังอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด ซึ่งเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ได้ชื่นชมที่จังหวัดนครศรีธรรมราชมีภาคีเครือข่ายมาจากทุกภาคส่วนในการทำงานร่วมกัน พร้อมทั้งได้เสนอแนะให้นำข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้มาจัดลำดับความสำคัญของปัญหา เพื่อนำไปสู่การแก้ไข เพราะอุบัติเหตุสามารถป้องกันได้ พร้อมทั้งได้ชื่นชมที่จังหวัดนครศรีธรรมราชมีโครงการนำร่องในการรณรงค์การสวมหมวกนิรภัยทั้งในหมู่บ้าน /ชุมชน สถานศึกษา และสถานประกอบการ โดยให้นำความสำเร็จจากจุดเล็ก ๆ ดังกล่าว ไปขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป แต่ทั้งนี้ เมื่อได้ลงทุนลงแรงไปแล้วขอให้มีการติดตามประเมินผลด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น