วันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2557

จังหวัดสงขลาจัดประชุมเชิงปฎิบัติการรอบที่ 1 โครงการศึกษาแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

วันนี้ (24 เม.ย.57) เวลา 13.00 น. ที่ ศาลากลางจังหวัดสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการรอบที่ 1 โครงการศึกษาแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยระบุถึงรูปแบบและขั้นตอนในการพัฒนาพื้นที่ พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการพิจารณาพื้นที่ที่จะพัฒนา และเพื่อจัดทำแผนฯในระดับพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง       โดยมี นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมดังกล่าว และมีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมจำนวนกว่า 80 คน

การประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นสืบเนื่องมาจากรัฐบาลมีนโยบายในการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษขึ้น เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนของประเทศโดยใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียนตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีภายใต้กรอบอาเซียนและข้อตกลงภายใต้กรอบเศรษฐกิจอื่นและจากการค้าบริเวณพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับมีนโยบายสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส สามารถให้บริการสาธารณะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน และหลักการมีส่วนร่วม จึงได้จัดทำโครงการศึกษาแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น เพื่อรองรับโอกาส เตรียมความพร้อม และสร้างภูมิคุ้มกันในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 เพื่อเตรียมพื้นที่ กิจกรรม กฎระเบียบ พร้อมด้วยโครงสร้างพื้นฐานรองรับการขยายตัวด้านการค้า การลงทุนในระยะต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นที่ยอมรับของประชาชน สามารถดึงดูดการลงทุนสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

โดยมีการคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในทุกด้านเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 12 พื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ พื้นที่ชายแดน อ.สะเดา จ.สงขลา เนื่องจากมีพื้นที่ติดกับประเทศมาเลเซีย และมีจุดแข็งหลายด้าน อาทิ เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยางพารา และผลิตภัณฑ์อาหารทะเล อิเลคทรอนิกส์ และมีเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย สามารถส่งสินค้าผ่านท่าเรือปีนัง ท่าเรือกลางในมาเลเซียออกไปยังตลาดโลกได้ ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ได้มาตรฐาน มีสิ่งอำนวยความสะดวก และสินค้าที่รองรับธุรกรรมการค้าและการท่องเที่ยวอย่างเพียงพอ นอกจากนี้จังหวัดสงขลายังมีกรอบการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ IMT-GT ระหว่างไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่สามารถใช้เป็นเวทีในการเจรจาความร่วมมือระหว่างประเทศต่อไป


สุธิดา พฤกษ์อุดม / ข่าว
จิรพัฒน์ วงศ์กระจ่าง/ภาพ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น