เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 19 มิ.ย.57 ที่โรงแรมภูเก็ตการ์เด้นท์ ถ.บางกอก ต.ตลาดเหนือ อ.เมือง
จ.ภูเก็ต นายสงกรานต์ ภักดีคง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานเปิดการสัมมนาและเจรจาเชื่อมโยงธุรกิจโครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพพืชเศรษฐกิจสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สับปะรดภูเก็ต โดยมี นายสนิท พลปัถพี เกษตรจังหวัดภูเก็ต เกษตรกรในจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
นายสนิท กล่าวว่า สับปะรดภูเก็ต เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ตมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวที่แตกต่างจากสับปะรดในแหล่งอื่น คือ รสหวาน กรอบ กลิ่นหอม เนื้อสีเหลืองตลอดทั้งผล เนื้อใยน้อย แกนผลกรอบรับประทานได้ จากคุณลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งเป็นผลผลิต ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ทำให้ได้รับการคุ้มครองและเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการสับปะรดภูเก็ต แต่จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อกำหนดของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
ในปีงบประมาณ พ.ศ.2557 สำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต ได้รับงบประมาณตามแผนพัฒนาจังหวัด ดำเนินงานโครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพพืชเศรษฐกิจสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สับปะรดภูเก็ต เพื่อพัฒนาและสร่งความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตสับปะรดภูเก็ต พัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดสับปะรดภูเก็ต ให้เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดในระบบการควบคุมคุณภาพและข้อตกลงของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สับปะรดภูเก็ต ตาม พรบ. คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546 และเพื่อประชาสัมพันธ์พืชเศรษฐกิจประจำถิ่น รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตที่มีคุณภาพ การพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตสับปะรดภูเก็ต และการสัมมนาพัฒนาศักยภาพพืชเศรษฐกิจสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สับปะรดภูเก็ต
นายสนิท กล่าวต่ออีกว่า สำหรับสับปะรดภูเก็ตเป็นตัวสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างมาก และเป็นสิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดภูเก็ตอีกด้วย
ด้าน นายสงกรานต์ กล่าวว่า สับปะรดภูเก็ตเป็นพืชของดีเมืองภูเก็ต ที่ควบคู่กับการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ถือได้ว่าเป็นมรดกทางธรรมชาติและผสมผสานภูมิปัญญาที่สืบทอดมานาน และเป็นที่น่ายินดีที่สับปะรดภูเก็ตได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ทำให้ได้รับการคุ้มครองทางทรัพย์สินและภูมิปัญญาของเกษตรกร ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ.2558 จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มตัว ทำให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดภูเก็ต และผู้ประกอบการสับปะรดภูเก็ตอย่างมาก
สำหรับการพัฒนาสับปะรดภูเก็ต จะต้องมียุทธศาสตร์ในหลาย ๆ ด้าน โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน กระบวนการผลิต จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของ พรบ.คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ต้องผ่านมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัย และรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของสับปะรดภูเก็ต ความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรเป็นสิ่งสำคัญ เกษตรกรจะต้องรวมกลุ่มวางแผนการผลิตและการตลาดร่วมกัน มีข้อกำหนดและเงื่อนไขของกลุ่มเป็นแนวทางปฏิบัติ ในเรื่องการตลาด ปัจจุบันยังไม่มีแหล่งหรือจุดจำหน่ายสับปะรดภูเก็ตที่ปลูกในจังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะเลยแยกแยะไม่ได้ว่าผลผลิตใดเป็นสับปะรดภูเก็ต ผลผลิตใดเป็นสับปะรดจากแหล่งอื่น ดังนั้นควรจะจัดตั้งจุดจำหน่ายสับปะรดภูเก็ตเฉพาะ ในการวางแผนการตลาด ต้องมองถึงรูปแบบการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิต รูปแบบการจำหน่าย รวมทั้งการส่งออกต่างประเทศด้วย การประชาสัมพันธ์ เป็นช่องทางหนึ่งที่จะส่งเสริมให้สับปะรดภูเก็ตมีชื่อเสียงมากยิ่งขึ้น การพัฒนาสับปะรดภูเก็ต ในเชิงบูรณาการทุกหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะเป็นแนวทางที่สำคัญที่จะผลักดันให้สับปะรดภูเก็ตก้าวหน้ายิ่งขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น